กาลธัมมสากัจฉา (บาลีวันละคำ 3,312)
กาลธัมมสากัจฉา
สนทนาธรรมตามกาล
คำในพระสูตร: กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (กา-เล-นะ ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา)
“กาลธัมมสากัจฉา” อ่านว่า กา-ละ-ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา
“กาลธัมมสากัจฉา” เขียนแบบบาลีเป็น “กาลธมฺมสากจฺฉา” อ่านว่า กา-ละ-ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา
แยกศัพท์เป็น กาล + ธมฺมสากจฺฉา
(๑) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กล > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(ก) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(ข) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาล ๑, กาล– : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).”
(๒) “ธมฺมสากจฺฉา”
อ่านว่า ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา ประกอบด้วยคำว่า ธมฺม + สากจฺฉา
(ก) “ธมฺม” อ่านว่า ทำ-มะ รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)
: ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)
(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)
(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)
(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)
คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้”
“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม
ในที่นี้ “ธมฺม” มีความหมายครอบคลุมถึงความหมายทุกอย่างของคำว่า “ธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมายถึง หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา
(ข) “สากจฺฉา” อ่านว่า สา-กัด-ฉา รากศัพท์มาจาก สห (คำนิบาต = กับ, พร้อมกัน, ด้วยกัน) + กถา (คำพูด, การพูด) + ฉ ปัจจัย, แปลง สห เป็น ส แล้วทีฆะ อะ เป็น อา (สห > ส > สา), แปลง ถ ที่ กถา เป็น จฺ แล้วลบสระหน้า คือ อา ที่ กถา (กถา > กจา > กจฺ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สห + กถา = สหกถา + ฉ = สหกถาฉ > สกถาฉ > สากถาฉ > สากจาฉ > สากจฺฉ + อา = สากจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “การพูดกันด้วยดี” หมายถึง การสนทนา, การพูดคุย, การถกแถลง (conversation, talking over, discussing)
“สากจฺฉา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สากัจฉา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สากัจฉา : (คำนาม) การพูดจา, การปรึกษา. (ป.).”
ธมฺม + สากจฺฉา = ธมฺมสากจฺฉา (ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา) แปลว่า “การสนทนาธรรม” (conversation about the Dhamma)
“ธมฺมสากจฺฉา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธรรมสากัจฉา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ธรรมสากัจฉา : (คำนาม) การสนทนาธรรม. (ป. ธมฺมสากจฺฉา).”
อภิปราย :
คำในพระสูตร: กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (กาเลน คำหนึ่ง ธมฺมสากจฺฉา อีกคำหนึ่ง) ในที่นี้ใช้วิธีสมาสกันเป็นคำเดียว โดยลบวิภัตติบทหน้า คือ “กาเลน” เหลือเป็นศัพท์เดิมคือ “กาล”
ส่วน “ธมฺมสากจฺฉา” ในภาษาไทยใช้เป็น “ธรรมสากัจฉา” ในที่นี้ขอใช้ตามรูปคำบาลีเป็น “ธัมมสากัจฉา” จึงได้รูปศัพท์แบบไทยเป็น “กาลธัมมสากัจฉา” อ่านว่า กา-ละ-ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา (ไม่ใช่ กาน-ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา)
ในที่ทั่วไปเมื่อเอ่ยถึงมงคลข้อนี้เป็นคำศัพท์ ท่านใช้คำว่า “ธรรมสากัจฉา” (ไม่มี “กาล-”) ในที่นี้ขอใช้ให้แปลกออกไปเพื่อยืนยันเจตนารมณ์แห่งพระสูตรที่มีคำว่า “กาเลน” ควบอยู่ด้วย (กาเลน ธมฺมสากจฺฉา) ทั้งเพื่อชวนให้ขบคิดต่อไปว่า คำว่า “กาล (กาเลน) = ตามกาล” หมายความว่าอย่างไร
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 30 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “กาเลน ธมฺมสากจฺฉา” (กา-เล-นะ ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา) แปลว่า “การสนทนาธรรมตามกาล”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
30. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา (สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน เกี่ยวกับหลักความจริงความดีงามและเรื่องที่เป็นประโยชน์ — Dhammasākacchā: religious discussion at due seasons; regular or opportune discussion of Truth)
…………..
ในคัมภีร์ท่านขยายความ “กาลธัมมสากัจฉา = การสนทนาธรรมตามกาล” ไว้ดังนี้ –
…………..
จิตฺตํ ยสฺมึ กาเล ลีนญฺจ ยสฺมึ อุทฺธตญฺจ ยสฺมึ วิจิกิจฺฉาปเรตํ ตาย อุปทฺทูตญฺจ โหติ ตสฺมึ ตสฺมึ กาเลปิ ธมฺมสากจฺฉา กาเลน ธมฺมสากจฺฉา นาม.
จิตย่อมหดหู่ในกาลใด ย่อมฟุ้งซ่านในกาลใด และย่อมถูกวิจิกิจฉาครอบงำ คือถูกวิจิกิจฉาประทุษร้ายแล้วในกาลใด การสนทนาธรรมแม้ในกาลนั้นๆ ชื่อว่าการสนทนาธรรมตามกาล
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 465 หน้า 363
…………..
สา อาคมพฺยตฺติอาทีนํ คุณานํ เหตุโต มงฺคลนฺติ วุจฺจติ.
การสนทนาธรรมตามกาลนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลายมีความฉลาดในอาคมเป็นต้น (คือฉลาดในพระไตรปิฎกรวมไปถึงฉลาดในวิธีปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลเป็นที่สุด)
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 464 หน้า 363
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พูดน้อย แต่ได้ประโยชน์
: ดีกว่าพูดมาก แต่ไร้ประโยชน์
—————–
#บาลีวันละคำ (3,312) (ชุดมงคล 38)
7-7-64