ตบะ ในมงคลสูตร (บาลีวันละคำ 3,313)
ตบะ ในมงคลสูตร
มีความเพียรเผากิเลส
คำในพระสูตร: ตโป จ (ตะ-โป จะ)
“ตบะ” อ่านว่า ตะ-บะ
“ตบะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ตป” อ่านว่า ตะ-ปะ รากศัพท์มาจาก ตปฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ร้อน) + อ (อะ) ปัจจัย
: ตปฺ + อ = ตป แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำให้กายเดือดร้อน” (2) “ธรรมที่เผาบาป” (3) “ธรรมที่ยังกิเลสให้ร้อน” (4) “ข้อปฏิบัติที่ยังตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนในนรก” (ความหมายข้อนี้เป็นทัศนะของพระพุทธศาสนาที่มองการบำเพ็ญตบะแบบผิดๆ ของเจ้าลัทธิต่างๆ)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตป” ว่า –
(1) torment, punishment, penance, esp. religious austerity, self-chastisement, ascetic practice (การทรมาน, การลงโทษ, การทรมานตน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรมานตนทางศาสนา, การลงโทษตัวเอง, การปฏิบัติของนักพรต)
(2) mental devotion, self-control, abstinence, practice of morality (การภาวนาทางใจ, การควบคุมตัวเอง, การละเว้น, การปฏิบัติศีลธรรม)
บาลี “ตป” รูปหนึ่งของสันสกฤตก็เป็น “ตป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ตป : (คำนาม) ‘ตะบะ,’ ฤดูร้อน; ความร้อน; แดด, อาทิตย์; summer, the hot season; heat; the sun.”
แต่สันสกฤตยังมี “ตปสฺ” อีกรูปหนึ่ง
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ตปสฺ : (คำนาม) ‘ตบัส,’ ชื่อเดือนมาฆะ; ฤดูหนาว; ฤดูร้อน; การประติบัทเคร่งครัดตามลัทธิศาสนา; การหัดระงับใจหรือกาย; โลกอันเปนที่อาศรัยของบุณยชนหรือดาบสเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว (โลกที่กล่าวถึงนี้ตั้งอยู่เหนือชนโลก); สทาจาร, สาธุคุณ; ธรรม, กฤตย์; การประติบัทฉะเพาะ, ปรากฤตว่า-น่าที่ (ดุจ-ตบัสของพราหมณ์ ได้แก่ บุณยศึกษาหรือการเล่าเรียนพระเวทที่ศักดิ์สิทธิ์; ตบัสของกษัตริย์ ได้แก่ การคุ้มครองรักษาไพร่ฟ้าประชาชน; ตบัสของไวศย ได้แก่ การทำบุณย์ให้ทานแก่พราหมณ์; ตบัสของศูทร ได้แก่ การรับใช้คนร่วมชาติกัน; ตบัสของฤษิหรือมุนิ ได้แก่ การกินผักและภักษมูลเปนอาหาร); the name of the month Māgha; winter or the cold season; summer or the hot season; religious austerity; the practice of mental or personal self-denial; the world of the saints or devotees, said to be inhabited by them after death (this world is situated above the Janaloka); virtue, moral merit; duty, the special observance of certain things (such as-the tapas of a Brahman is sacred learning; that of a Kshatriya, the protection of subjects; that of a Viśya, alms-giving to Brahmans; that of a Śudra, the service of the same tribe; and that of a Rishi or saint, feeding upon herbs and roots).”
โปรดสังเกตว่า “ตปสฺ” ของสันสกฤตมีความหมายที่ชี้ชัดว่า “ตบัสของกษัตริย์ ได้แก่ การคุ้มครองรักษาไพร่ฟ้าประชาชน (that of a Kshatriya, the protection of subjects).”
“ตป” ในภาษาไทยใช้ว่า “ตบะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตบะ : (คำนาม) พิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว เช่น ฤๅษีบำเพ็ญตบะ; การบำเพ็ญเพื่อให้กิเลสเบาบางหรือการข่มกิเลส, ธรรมข้อที่ ๖ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม). (ป., ส. ตป ว่า ความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส).”
……………
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [326] ขยายความไว้ว่า –
“ตปะ (ความทรงเดช คือ แผดเผากิเลสตัณหา มิให้เข้ามาครอบงำย่ำยีจิต ระงับยับยั้งข่มใจได้ ไม่ยอมให้หลงใหลหมกมุ่นในความสุขสำราญและความปรนเปรอ มีความเป็นอยู่สม่ำเสมอ หรืออย่างสามัญ มุ่งมั่นแต่จะบำเพ็ญเพียร ทำกิจให้บริบูรณ์ — Tapa: austerity; self-control; non-indulgence).”
ขยายความ :
“ตบะ” คืออะไร? ประมวลความตามคัมภีร์ในที่หลายแห่ง ท่านแสดงไว้ว่า –
– การสำรวมอินทรีย์ ชื่อว่าตบะ
– การปฏิบัติธรรมเพื่อเผาผลาญบาป ชื่อว่าตบะ
– ขันติ ก็ชื่อว่าตบะ ดังคำในโอวาทปาติโมกข์ว่า “ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา” (ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง)
– ศีลก็ชื่อว่าตบะ
– การรักษาอุโบส ก็ชื่อว่าตบะ
– ธุดงค์ ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาผลาญความละโมบ
– การเรียนพระพุทธพจน์ ก็ชื่อว่าตบะ
อย่างไรก็ตาม ท่านสรุปไว้ว่า –
…………..
อิธ ปน อินฺทฺริยสํวราทิ. เตนฏฺฐกถายํ ตโป นาม อภิชฺฌาโทมนสฺสาทีนํ ตปนโต อินฺทฺริยสํวโร โกสชฺชสฺส วา ตปนโต วิริยนฺติ วุตฺตํ.
แต่ในมงคลข้อว่า ตโป นี้ กุศลกิจมีการสำรวมอินทรีย์เป็นต้น ชื่อว่าตบะ. ด้วยเหตุนั้น ในอรรถกถาท่านจึงกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์ ชื่อว่าตบะ เพราะเผาผลาญอกุศลเจตสิกธรรมมีอภิชฌาและโทมนัสเป็นต้น อีกนัยหนึ่ง ความเพียรก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาผลาญความเกียจคร้าน
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 472 หน้า 367
…………..
มงคลข้อที่ 31 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “ตโป จ” (ตะ-โป จะ) แปลกึ่งทับศัพท์ว่า “มีตบะ” ไขความว่า มีความเพียรเผากิเลส
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
31. ตโป จ (มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก — Tapa: self-control; simple life)
…………..
ในพระไตรปิฎก มีพุทธพจน์แสดงถึงการบำเพียรอย่างยิ่งยวดที่อาจนับได้ว่าถึงระดับที่เป็น “ตบะ” มีข้อความดังนี้ –
…………..
ตสฺมา ติห ภิกฺขเว เอวํ สิกฺขิตพฺพํ อปฺปฏิวาณี ปทหิสฺสาม กามํ ตโจ นหารุ จ อฏฺฐิ จ อวสิสฺสตุ สรีเร อุปสุสฺสตุ มํสโลหิตํ ยนฺตํ ปุริสตฺถาเมน ปุริสวิริเยน ปุริสปรกฺกเมน ปตฺตพฺพํ น ตํ อปาปุณิตฺวา วิริยสฺส สณฺฐานํ ภวิสฺสตีติ เอวํ หิ โว ภิกฺขเว สิกฺขิตพฺพนฺติ.
เพราะเหตุแล ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้มีความเพียรไม่ถอยกลับ เริ่มตั้งความเพียรด้วยมนสิการว่า เนื้อและเลือดในกายของเราทั้งหมดนั้นจงเหือดแห้งไปเถิด จะเหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักไม่หยุดความเพียร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล.
ที่มา: ขุทกนิกาย ทุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 251
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ทำอะไรเลย ดีกว่าทำทุจริต
: ทำกุศล แม้ผลไม่สัมฤทธิ์ ก็ยังดีกว่าไม่คิดทำอะไรเลย
#บาลีวันละคำ (3,313) (ชุดมงคล 38)
8-7-64