บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใครบ้างกินก่อนพระไม่บาป

ใครบ้างกินก่อนพระไม่บาป

—————————-

ชาวบ้านใส่บาตรก็เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ฉันอาหาร มีกำลังศึกษาและปฏิบัติธรรม นี่คือเจตนาดั้งเดิมของการใส่บาตร

อาหารที่ภิกษุไปบิณฑบาตได้มาและยังไม่ได้ฉัน เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า “อนามัฏฐบิณฑบาต” (อะ-นา-มัด-ถะ-บิน-ดะ-บาด) แปลว่า “บิณฑบาตที่ยังมิได้แตะต้อง

อาหารบิณฑบาตที่ยังมิได้แตะต้องนั้น จะหยิบยื่นให้ฆราวาสกินก่อนมิได้ ผิดพระวินัย ถือว่าเป็นการทำศรัทธาไทยให้ตกไป 

“ศรัทธาไทย” คือของที่เขาถวายด้วยศรัทธา

ทำศรัทธาไทยให้ตกไป คือทำของที่เขาถวายด้วยศรัทธาให้เสียหาย คือเสียความตั้งใจที่ถวายเพื่อให้ภิกษุฉัน แต่กลับเอาไปให้ผู้อื่นกินก่อน 

แต่ทั้งนี้ยกเว้นบุคคล ๖ จำพวก ที่มีพุทธานุญาตให้กินอาหารที่ภิกษุไปบิณฑบาตได้มาและยังไม่ได้ฉันก่อนได้ 

บุคคล ๖ จำพวก มีดังนี้ –

(๑) บิดามารดาของของภิกษุรูปนั้น

(๒) คนที่ปฏิบัติดูแลบิดามารดาของภิกษุรูปนั้น (นี่แสดงว่าภิกษุเลี้ยงพ่อแม่ กิจอะไรที่ทำให้พ่อแม่ด้วยตัวเองไม่ได้เพราะผิดวินัย เช่นจับต้องตัวแม่ ก็สามารถมอบหมายให้คนอื่นทำแทนได้ และคนที่ทำแทนนั้นพระวินัยให้สิทธิ์เสมอกับพ่อแม่)

(๓) ไวยาวัจกร คือคนที่พระมอบหมายให้ทำงานบางอย่างแทนพระ หรือผู้ที่อยู่รับใช้ทำกิจของวัด

(๔) คนเตรียมบวชที่มาอยู่ในวัด ซึ่งกำลังฝึกหัดกิริยามารยาทหรือวัตรปฏิบัติต่างๆ เพื่อเตรียมที่จะเป็นพระ ภาษาพระวินัยเรียกว่า “บัณฑุปลาส” ภาษาชาวบ้านไทยเรียกว่า “นาค

(๕) คนร้ายที่บุกเข้ามาในวัด ซึ่งอาจทำอันตรายแก่พระ หรือทำเหตุเสียหายให้แก่วัดได้ เรียกเป็นศัพท์ว่า “ทามริก

(๖) เจ้านายหรือผู้ปกครองบ้านเมืองซึ่งผ่านเข้ามา และเป็นบุคคลที่อาจสนับสนุนหรือทำลายพระศาสนาได้ ในคัมภีร์ใช้คำว่า “อิสรชน” 

บุคคล ๖ จำพวกนี้ ภิกษุเอาอาหารบิณฑบาตที่ตนยังไม่ได้ฉันให้กินก่อนได้ ไม่ผิดวินัย ไม่นับว่าเป็นการทำศรัทธาไทยให้ตกไป

ตัวบทในคัมภีร์ท่านว่าไว้ดังนี้ (อ่านไม่ออกยังไม่ต้องอ่าน อ่านออกแปลไม่ได้ ก็ผ่านไปก่อน ลงไว้ให้ดูเป็นหลักฐาน หลักปฏิบัติต่างๆ นั้น คิดเอาเอง เข้าใจเอาเองไม่ได้ ต้องอาศัยหลัก)

…………………………….

อนามฏฺฐปิณฺฑปาโต  กสฺส  ทาตพฺโพ  กสฺส  น  ทาตพฺโพ  ฯ  มาตาปิตูนํ  ตาว  ทาตพฺโพ  ฯ  สเจ  ปน  กหาปณคฺฆนโก  โหติ  สทฺธาเทยฺยวินิปาตนํ  นตฺถิ  ฯ มาตาปิตุอุปฏฺฐากานํ  เวยฺยาวจฺจกรสฺส  ปณฺฑุปลาสสฺสาติ  เอเตสํปิ  ทาตพฺโพ  ฯ  … อปิจ  อนามฏฺฐปิณฺฑปาโต  นาเมส  สมฺปตฺตสฺส  ทามริกโจรสฺสาปิ  อิสฺสรสฺสาปิ  ทาตพฺโพ  ฯ  กสฺมา  ฯ  เต  หิ  อทียมาเนปิ  น  เทนฺตีติ  อามสิตฺวา  ทียมาเนปิ  อุจฺฉิฏฺฐกํ  เทนฺตีติ  กุชฺฌนฺติ  ฯ  กุทฺธา  ชีวิตา  โวโรเปนฺติ  สาสนสฺสาปิ  อนฺตรายํ  กโรนฺติ  ฯ  

…………………………….

ศึกษาเรื่องนี้ได้จากคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ ตติยปาราชิกวัณณนา ฉบับ BUDSIR VI อ.๑/๕๗๘, ฉบับเรียนพระไตรปิฎก ชุดอรรถกถา หน้า ๖๙๓, ชุดหลักสูตรเปรียญ หน้า ๕๗๘, พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด ๙๑ เล่ม เล่ม ๒ หน้า ๔๓๖

ปักป้ายบอกทางไว้ให้แล้ว ขอแรงเพียงให้มีอุตสาหะบริหารเวลาตามไปศึกษากันสักหน่อยเท่านั้น

มีเรื่องอื่นๆ อีกเป็นอันมากที่น่ารู้ ควรรู้ ต้องรู้ ซึ่งจะรู้ได้ด้วยการศึกษาค้นคว้า

ขอแรงนักเรียนบาลีมีอุตสาหะบริหารเวลาศึกษาค้นคว้ากันสักหน่อย ได้เรื่องที่น่ารู้ ควรรู้ ต้องรู้ อะไรมา ก็เอามาบอก เอามาเผยแพร่ให้คนทั้งหลายได้รู้ด้วย

ชาวบ้านมักอ้างหรือโอดครวญกันว่าไม่มีเวลาศึกษา ไม่รู้บาลีพอที่จะไปค้นคว้าศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองได้ จึงปรากฏว่าเรื่องนี้ก็ไม่รู้ เรื่องนั้นก็ไม่รู้ เรื่องโน้นก็ไม่รู้ 

จึงเกิดเป็นผลคือ ทำผิดๆ เชื่อผิดๆ เลื่อมใสผิดๆ สนับสนุนผิดๆ และแม้แต่คัดค้านผิดๆ 

เรียนบาลีกันแล้ว เรียนให้สอบได้ก็เอาด้วยนะครับ ไม่ใช่ไม่เอา 

แต่ศึกษาค้นคว้าไปให้ถึงพระไตรปิฎกก็ยิ่งต้องเอาด้วย ได้ความรู้อะไรมา ก็เอามาเป็นหลักปฏิบัติสำหรับตนเองก่อน ต่อจากนั้นก็เผยแพร่บอกกล่าวไปยังผู้อื่นต่อไปอีก

พระศาสนาของเราจะดำรงอยู่และดำเนินสืบต่อไปได้ก็ด้วยการช่วยกันทำกิจดังว่ามานี้

ขอกราบอาราธนา ขอเรียนเชิญ ขอเชิญ ขอร้อง กราบขอร้องมาด้วยความเคารพขอรับครับกระผม

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๓:๑๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *