บาลีวันละคำ

พรหมจริยะ (บาลีวันละคำ 3,314)

พรหมจริยะ

ประพฤติพรหมจรรย์

คำในพระสูตร: พฺรหฺมจริยญฺจ (พฺรำ-มะ-จะ-ริ-ยัน-จะ) 

พรหมจริยะ” อ่านว่า พฺรำ-มะ-จะ-ริ-ยะ

พรหมจริยะ” เขียนแบบบาลีเป็น “พฺรหฺมจริย” อ่านว่า พฺรำ-มะ-จะ-ริ-ยะ แยกศัพท์เป็น พฺรหฺม + จริย 

(๑) “พฺรหฺม” 

คำว่า “พฺรหฺม” ออกเสียงอย่างไร ?

ลองออกเสียงว่า พะ-ระ-หะ-มะ ช้าๆ แล้วค่อยๆ เร่งให้เร็วขึ้น จะได้เสียงที่ถูกต้องของคำว่า “พฺรหฺม” ในบาลี 

แต่โดยทั่วไป นักเรียนบาลีในเมืองไทยออกเสียงว่า พรม-มะ หรือ พรำ-มะ 

พฺรหฺม” รากศัพท์มาจาก พฺรหฺ (ธาตุ = เจริญ, ประเสริฐ) + (มะ) ปัจจัย 

: พฺรหฺ + = พฺรหฺม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เจริญด้วยคุณ” ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความดีประเสริฐสุด (the supreme good)

(2) คัมภีร์พระเวท, สูตรลึกลับ, คาถา, คำสวดมนต์ (Vedic text, mystic formula, prayer)

(3) เทพผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ ถือกันว่าเป็นผู้สร้างจักรวาล (the god Brahmā chief of the gods, often represented as the creator of the Universe)

(4) เทวดาพวกหนึ่งที่อยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นสูงที่เรียกว่า พรหมโลก (a brahma god, a happy & blameless celestial being, an inhabitant of the higher heavens [brahma-loka])

(5) สิ่งศักดิ์สิทธิ์, คนศักดิ์สิทธิ์ (holy, pious, a holy person)

ในแง่ตัวบุคคล คำว่า “พรหม” หมายถึง –

(1) เทพสูงสุดหรือพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์

(2) เทพในพรหมโลก เป็นผู้ไม่เกี่ยวข้องด้วยกาม มี 2 พวกคือ รูปพรหม มี 16 ชั้น อรูปพรหม มี 4 ชั้น

(3) ผู้ประเสริฐด้วยคุณธรรม 4 ประการ คือ เมตตา (ปรารถนาให้อยู่เป็นปกติสุข) กรุณา (ตั้งใจช่วยเพื่อให้พ้นจากปัญหา) มุทิตา (ยินดีด้วยเมื่อมีสุขสมหวัง) อุเบกขา (วางอารมณ์เป็นกลางเมื่อได้ทำหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว)

(๒) “จริย

อ่านว่า จะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย (บางท่านว่าลง ณฺย ปัจจัย ลบ ลง อิ อาคม ไม่ทีฆะต้นธาตุตามอำนาจของปัจจัยเนื่องด้วย )

(1) : จรฺ + อิย = จริย

(2): จรฺ + อิ = จริ + ณฺย > = จริย 

จริย” (นปุงสกลิงค์, ถ้าเป็น “จริยา” เป็นอิตถีลิงค์) เป็นคำนามแปลว่า “การประพฤติ” เป็นคุณศัพท์แปลว่า “-ที่ควรประพฤติ” หมายถึง ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, การดำเนินชีวิต (conduct, behaviour, state of life)

พฺรหฺม + จริย = พฺรหฺมจริย แปลตามศัพท์ว่า “คำสอนเป็นเหตุให้ประพฤติสิ่งที่ประเสริฐ” หมายถึง การดำเนินชีวิตในทางดี, ความประพฤติอันเหมาะสม, การประพฤติพรหมจรรย์ (a good walk of life, proper conduct, chastity)

พฺรหฺมจริย” ในภาษาไทยนิยมใช้เป็น “พรหมจรรย์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “พรหมจรรย์” ไว้ว่า –

…………..

(๑) พรหมจรรย์ ความหมายตามศัพท์คือ “จริยะอันประเสริฐ”, “การครองชีวิตประเสริฐ

(๒) ตามที่เข้าใจกันทั่วไป หมายถึงความประพฤติเว้นเมถุน หรือการครองชีวิตดังเช่นการบวชที่ละเว้นเมถุน กล่าวคือไม่ร่วมประเวณีเป็นหลักสำคัญ และตั้งหน้าขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์

(๓) พรหมจรรย์ ยังมีความหมายอีกมากหลาย ดังที่อรรถกถาแห่งหนึ่งประมวลไว้ 10 นัย คือหมายถึง (1) ทาน (2) ไวยาวัจจะ (คือการขวนขวายช่วยเหลือรับใช้ทำประโยชน์) (3) เบญจศีล (4) พรหมวิหารสี่ (5) เมถุนวิรัติ (คือการเว้นเมถุน) (6) สทารสันโดษ (คือความพอใจเฉพาะภรรยาหรือคู่ครองของตน) (7) ความเพียร (8 ) การรักษาอุโบสถ (9) อริยมรรค (10) พระศาสนา (อันรวมไตรสิกขาทั้งหมด) 

(๔) “พรหมจรรย์” เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกหลักคำสอนของพระองค์เมื่อทรงเริ่มประกาศพระศาสนา พรหมจรรย์จึงหมายถึงตัวพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั่นเอง

(๕) ในศาสนาพราหมณ์ พรหมจรรย์ หมายถึงการครองชีวิตเว้นเมถุนและประพฤติปฏิบัติตนเคร่งครัดต่างๆ ที่จะควบคุมตนให้มุ่งมั่นในการศึกษาได้เต็มที่ อันหมายถึงการศึกษาพระเวท และหมายถึงช่วงเวลาหรือขั้นตอนของชีวิตที่พึงอุทิศเพื่อการศึกษาอย่างนั้น

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พรหมจรรย์ : (คำนาม) การศึกษาปรมัตถ์, การศึกษาพระเวท; การถือพรตบางอย่าง เช่นเว้นเมถุนเป็นต้น, การบวชซึ่งเว้นเมถุนเป็นต้น. (ส.).”

ขยายความ :

มงคลข้อที่ 32 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “พฺรหฺมจริยญฺจ” (พฺรำ-มะ-จะ-ริ-ยัน-จะ) แปลกึ่งทับศัพท์ว่า “ประพฤติพรหมจรรย์ ประการหนึ่ง” ไขความว่า การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

32. พฺรหฺมจริยญฺจ (ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัติตามควร* — Brahmacariya: a holy life)

* พรหมจรรย์ในที่นี้ มุ่งเอาอัฏฐังคิกมรรคเป็นหลัก แต่จะตีความแคบหมายถึงเมถุนวิรัติก็ได้ ความหมายอย่างหย่อนสำหรับคฤหัสถ์ คือ ถือพรหมจรรย์ในบุคคลที่มิใช่คู่ครอง หรือถือเด็ดขาดในวันอุโบสถ เป็นต้น

…………..

อะไรบ้างเป็น “พรหมจรรย์” ท่านประมงลไว้ 10 อย่าง ดังที่พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ข้างต้น แต่ในคัมภีร์ท่านขยายความเพิ่ม “สมณธรรม” เข้าไปอีกอย่างหนึ่งว่าเป็น “พรหมจรรย์” ด้วย ดังนี้ –

…………..

อิติ  อิมญฺเจว  สามญฺญผลาทิวณฺณนายํ  วุตฺตญฺจ  คเหตฺวา  เอกาทสวิธํ  พฺรหฺมจริยํ  ภวติ. 

เพราะรวมเอาสมณธรรมนี้นี่แลที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ในอรรถกถาสามัญผลสูตรเป็นต้น (เป็นพรหมจรรย์ด้วยอีกอย่างหนึ่ง) พรหมจรรย์จึงมี 11 อย่าง ด้วยประการฉะนี้.

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 515 หน้า 399

…………..

อิติ  เตปิ  สมณธมฺมพฺรหฺมจริยํ  จริตฺวา  มคฺคผลํ  ปตฺตา.  ตสฺมา  โส  เตสํ  สมณธมฺโม  มงฺคลํ  นาม.

แม้ภิกษุเหล่านั้นก็ประพฤติพรหมจรรย์คือสมณธรรม บรรลุมรรคและผลด้วยประการฉะนี้ เพราะเหตุนั้น สมณธรรมของภิกษุเหล่านั้นจึงชื่อว่าเป็นมงคล.

ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 517 หน้า 403

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เห็นงามก็อยาก-งุ่นง่าน

: เห็นไม่งามก็ยี้-หงุดหงิด

: ไม่อยากงุ่นง่านหงุดหงิด 

: ต้องฝึกยกจิตอย่าให้ติดงาม-ไม่งาม

#บาลีวันละคำ (3,314) (ชุดมงคล 38)

9-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *