บาลีวันละคำ

วิรัชจิต (บาลีวันละคำ 3,319)

วิรัชจิต

จิตปราศจากธุลี

คำในพระสูตร: วิรชํ (วิ-ระ-ชัง) 

วิรัชจิต” อ่านว่า วิ-รัด-ชะ-จิด

วิรัชจิต” เขียนแบบบาลีเป็น “วิรชจิตฺต” อ่านว่า วิ-ระ-ชะ-จิด-ตะ แยกศัพท์เป็น วิรช + จิตฺต 

(๑) “วิรช

อ่านว่า วิ-ระ-ชะ ประกอบด้วยคำว่า วิ + รช 

(ก) “วิ” ปกติเป็นคำจำพวก “อุปสรรค” นักเรียนบาลีท่องจำว่า “วิ : วิเศษ, แจ้ง, ต่าง

แต่ในที่นี้ท่านว่า “วิ” ตัดมาจากคำเต็มว่า “วิคต” (วิ-คะ-ตะ) แปลว่า ไปที่อื่น, หายไป, สิ้นสุด; สูญหายหรือไปลับ, ขาด, ปราศจาก (gone away, disappeared, ceased; having lost or foregone, deprived of, being without)

(ข) “รช” (ระ-ชะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) รญฺชฺ (ธาตุ = กำหนัด, ย้อม) + (อะ) ปัจจัย, ลบ ญฺ ที่ รญฺชฺ (รญฺชฺ > รช)

: รญฺชฺ + = รญฺช > รช แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เปื้อน” 

(2) รถี (ถนน) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ ถี ที่ (ร)-ถี (รถี > ), ลบ นฺ ที่สุดธาตุ (ชนฺ > ) และลบ กฺวิ 

: รถี + ชนฺ = รถีชนฺ + กฺวิ = รถีชนฺกฺวิ > รชนกฺวิ > รชน > รช แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เกิดบนถนน” 

รช” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์)  ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝุ่น, ของโสโครก; ละอองที่เปื้อน (dust, dirt; staining dust) 

(2) มลทิน, ความสกปรก, ความด่างพร้อย, ความไม่บริสุทธิ์ (stain, dirt, defilement, impurity) 

วิ + รช = วิรช แปลว่า “ปราศจากฝุ่น” หรือ “ปราศจากธุลี” หมายถึง ปลอดจากกิเลส, ปราศจากมลทิน, ปราศจากความผิด (free from defilement or passion, stainless, faultless) 

วิรช” ภาษาไทยใช้เป็น “วิรัช” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิรัช ๑ : (คำวิเศษณ์) ปราศจากธุลี, ไม่มีมลทิน, บริสุทธิ์, สะอาด. (ป., ส.).”

(๒) “จิตฺต” 

อ่านว่า จิด-ตะ รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

วิรช + จิตฺต = วิรชจิตฺต (วิ-ระ-ชะ-จิด-ตะ) แปลว่า “จิตปราศจากธุลี” 

วิรชจิตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิรัชจิต” (วิ-รัด-ชะ-จิด)

ขยายความ :

คำว่า “รช” หรือที่แปลว่า “ธุลี” ในทางธรรมท่านหมายถึงราคะ (หรือโลภะ) โทสะ และโมหะ คือกิเลส 3 กองอันเป็นมูลรากของอกุศลทั้งปวง

วิรช” หรือ “วิรัช” จึงหมายถึง จิตที่ปราศจากกิเลส อย่างไรก็ตาม คำว่า “ปราศจากกิเลส” ก็เป็นคำที่ยังต้องมีคำขยายความถึงรายละเอียดหรือเงื่อนไขประกอบว่า ปราศจากกิเลสในระดับไหนจึงจะเรียกว่า “วิรช” 

ในที่ทั่วไป เมื่อแสดงคุณสมบัติของ “ธรรมจักษุ” ที่แปลว่า “ดวงตาเห็นธรรม” มีคำบาลีว่า “วิรชํ วีตมลํ ธมฺมจกฺขุํ อุทปาทิ” แปลว่า “ธรรมจักษุอันปราศจากธุลีไม่มีมลทินได้เกิดขึ้นแล้ว” 

ผู้ได้ “ดวงตาเห็นธรรม” เช่นนี้จะเห็นประจักษ์ในสัจธรรมต่อไปว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งมวลนั้นย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา” อันเป็นคุณสมบัติของพระโสดาบัน อริยบุคคลชั้นต้นในพระพุทธศาสนา 

วิรช” ในระดับดวงตาเห็นธรรมนี้ปราศจากกิเลสบางอย่าง แต่ยังมีกิเลสบางอย่าง แต่ “วิรช” ในมงคลสูตรหมายถึงผู้บรรลุพระนิพพาน ซึ่งปราศจากกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง

…………..

มงคลข้อที่ 37 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “วิรชํ” (วิ-ระ-ชัง) โดยที่ยังเกี่ยวเนื่องอยู่กับคำว่า “ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺสถูกโลกธรรมกระทบ จิต…” ดังนั้น มงคลข้อนี้จึงแปลว่า “ถูกโลกธรรมกระทบ จิตปราศจากธุลี

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –

37. วิรชํ (จิตปราศจากธุลี — Virajacitta: to have the mind which is undefiled)

…………..

ในพระไตรปิฎกท่านบรรยายลักษณะของจิตที่ปราศจากธุลีไว้ในพระสูตรหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

โย จ โลภํ ปหนฺตฺวาน

โลภเนยฺเย น ลุพฺภติ

โลโภ ปหิยฺยเต ตมฺหา

อุทวินฺทุว โปกฺขรา. 

ก็ผู้ใดกำจัดโลภะได้แล้ว

ไม่โลภในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ

โลภะย่อมเสื่อมสิ้นไปจากผู้นั้น

เหมือนหยาดน้ำตกไปจากใบบัวฉะนั้น

โย จ โทสํ ปหนฺตฺวาน

โทสเนยฺเย น ทุสฺสติ

โทโส ปหิยฺยเต ตมฺหา

ตาลปกฺกํว พนฺธนา. 

อนึ่ง ผู้ใดกำจัดโทสะได้แล้ว

ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ

โทสะย่อมเสื่อมสิ้นไปจากผู้นั้น

เหมือนผลตาลสุกหลุดไปจากขั้วฉะนั้น

โย จ โมหํ ปหนฺตฺวาน

โมหเนยฺเย น มุยฺหติ

โมหํ วิหนฺติ โส สพฺพํ

อาทิจฺโจวุทยนฺตมนฺติ.

อนึ่ง ผู้ใดกำจัดโมหะได้แล้ว

ไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ

ผู้นั้นขจัดโมหะได้ทั้งหมด

เหมือนอาทิตย์อุทัยขจัดมืดให้หมดไปฉะนั้นแล

ที่มา: มลสูตร อิติวุตตกะ ขุทกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 268 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอดของผู้ชนะคือคนที่ยอมรับความพ่ายแพ้

: ยอดของบัณฑิตแท้คือคนที่ยอมรับว่าตัวเองยังโง่อยู่

#บาลีวันละคำ (3,319) (ชุดมงคล 38)

14-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *