เขมจิต (บาลีวันละคำ 3,320)
เขมจิต
จิตเกษม
คำในพระสูตร: เขมํ (เข-มัง)
“เขมจิต” อ่านว่า เข-มะ-จิด
“เขมจิต” เขียนแบบบาลีเป็น “เขมจิตฺต” อ่านว่า เข-มะ-จิด-ตะ แยกศัพท์เป็น เขม + จิตฺต
(๑) “เขม”
อ่านว่า เข-มะ รากศัพท์มาจาก ขี (ธาตุ = สิ้นไป) + ม ปัจจัย, แผลง อี (ที่ ขี) เป็น เอ
: ขี + ม = ขีม > เขม แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “สภาวะที่ไม่มีภัย” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วก็จะปลอดจากภัยทั้งปวง ไม่ต้องหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อสิ่งใดๆ เพราะภัยไม่มี
(2) “สภาวะเป็นเหตุสิ้นไปแห่งไฟราคะเป็นต้น” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้ว ไฟคือราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นอันว่าสิ้นไป
(3) “เป็นที่สิ้นไปแห่งความไม่งาม” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วจะมีแต่ความดี ความงาม ความถูกต้อง
(4) “สภาวะที่ทำให้ความไม่สบายสิ้นไป” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วจะไม่มีความทุกข์ (นอกจากทุกข์ตามสภาวะ เช่นความหิว ความเจ็บป่วย ความแก่)
(5) “เป็นที่สิ้นไปแห่งอุปัทวะและอุปสรรค” = เมื่อบรรลุถึงสภาวะนั้นแล้วจะมีแต่ความโปร่งโล่ง ปลอดจากข้อขุ่นเคืองขัดข้องด้วยประการทั้งปวง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เขม” เป็นภาษาอังกฤษว่า –
(1) (คำคุณศัพท์) full of peace, safe; tranquil, calm (เกษม, ปลอดภัย, ราบรื่น, สงบ)
(2) (คำนาม) shelter, place of security, tranquillity, home of peace, the Serene (สถานที่พักพิง, สถานที่อันปลอดภัย, ความราบรื่น, ที่สงบ, ที่เยือกเย็น)
บาลี “เขม” สันสกฤตเป็น “เกฺษม”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“เกฺษม : (คำคุณศัพท์) เปนสุข, มีความสุข, สบาย; prosperous, happy, well;- (คำนาม) ความสุข, ความสบาย; นิรันตรสุข; การรักษาไว้; happiness, well-being; eternal happiness; preserving.”
โปรดสังเกต :
(๑) “เกฺษม” ในสํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน กับ “เขม” ในพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ คำแปลภาษาอังกฤษไม่ตรงกันเลยแม้แต่คำเดียว
(๒) ความประพฤติของผู้มีชื่อว่า “เกษม” จึงอาจจะไม่ตรงกับความหมายของคำว่า “เขม – เกษม” เลยแม้แต่อย่างเดียวก็ได้
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) เขม-, เขมา ๑ : (คำนาม) เกษม, ความสบายใจ, ความพ้นภัย. (ป.; ส. เกฺษม).
(2) เกษม : (คำนาม) ความสุขสบาย, ความปลอดภัย, มักใช้เข้าคู่กับคําอื่น เช่น สุขเกษม เกษมศานต์. (โบราณเขียนเป็น กระเษม, เขษม ก็มี). (ส.; ป. เขม).
สรุปความหมายของ “เขม – เกษม” คือ ดี, งาม, เจริญ, ปลอดโปร่ง, สบาย, ปลอดภัย
ในทางธรรม “เขม” ท่านหมายถึงแดนเกษมคือพระนิพพาน
(๒) “จิต”
บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ต ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต)
: จินฺต + ต = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –
The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)
“จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”
เขม + จิตฺต = เขมจิตฺต (เข-มะ-จิด-ตะ) แปลว่า “จิตเกษม” หมายถึง จิตที่ปราศจากกิเลสกลุ้มรุม จึงปลอดโปร่งผ่องใสเบาสบาย เป็นจิตของพระอรหันต์
“เขมจิตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เขมจิต” (เข-มะ-จิด)
ขยายความ :
มงคลข้อที่ 38 ในมงคล 38 ตามนัยแห่งมงคลสูตร คำบาลีในพระสูตรว่า “เขมํ” (เข-มัง) แปลกึ่งทับศัพท์ว่า “จิตเกษม”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [353] มงคล 38 บอกไว้ว่า –
38. เขมํ (จิตเกษม — Khemacitta: to have the mind which is secure)
…………..
ในคัมภีร์ท่านขยายความ “อโสกจิต = จิตไร้เศร้า, วิรัชจิต = จิตปราศจากธุลี และ เขมจิต = จิตเกษม” ไว้ดังนี้ –
…………..
ยทิปิ เหฏฺฐา วุตฺตนเยน อโสกาทิ ติวิธมฺปิ จิตฺตํ มงฺคลํ โหติ อญฺญสฺส ปน จิตฺตํ น สพฺพทา อโสกญฺจ วิรชญฺจ โหติ ขีณาสวสฺเสว โหติ.
จิตทั้ง 3 ชนิดมีจิตไร้เศร้าเป็นต้นย่อมเป็นมงคลโดยนัยที่กล่าวแล้วในหนหลังก็จริง ถึงกระนั้น จิตของบุคคลอื่น (ที่ไม่ใช่พระขีณาสพ) หาเป็นจิตไร้เศร้าและปราศจากธุลีตลอดเวลาไม่ ย่อมเป็นได้แต่จิตของพระขีณาสพเท่านั้น
ตสฺมา อฏฺฐกถาจริเยหิ อโสกํ นาม ขีณาสวสฺเสว จิตฺตํ ยถา จ อโสกํ เอวํ วิรชํ เขมนฺติ เอวมุกฺกฏฺฐวเสน วตฺวา
เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวมุ่งถึงจิตของบุคคลที่บรรลุธรรมชั้นสูงสุดอย่างนี้ว่า “จิตของพระขีณาสพจำพวกเดียวชื่อว่าจิตไร้เศร้า และจิตที่ปราศจากธุลีและจิตเกษมก็เป็นเช่นเดียวกับจิตไร้เศร้า” ดังนี้
ปุน ตสฺส มงฺคลตฺตํ ทสฺเสนฺเตหิ เอวํ เตน เตนากาเรน ตมฺหิ ตมฺหิ ปวตฺติกฺขเณ คเหตฺวา นิทฺทิฏฺฐวเสน ติวิธมฺปิ อปฺปวตฺตกฺขนฺธตาทิโลกุตฺตมภาวาวหนโต อาหุเนยฺยาทิภาวาวหนโต จ มงฺคลนฺติ เวทิตพฺพนฺติ วุตฺตํ.
เมื่อจะแสดงความที่จิตเช่นนั้นเป็นมงคล จึงกล่าวไว้อีกว่า “จิตทั้ง 3 ชนิดที่ดำรงอยู่ดำเนินไปในชีวิตประจำวันดังที่ท่านแถลงไว้นั้น พึงทราบว่าเป็นมงคล เพราะนำมาซึ่งความเป็นผู้สูงสุดในโลก เช่นความไม่มีตัวตนที่จะต้องไปเกิดอีกเป็นต้น และเพราะนำมาซึ่งคุณสมบัติของพระอริยะ เช่นความเป็นอาหุไนยบุคคลเป็นต้น
ที่มา: มังคลัตถทีปนี ภาค 2 ข้อ 601 หน้า 463
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่มีที่ไหนปลอดภัย
: ถ้าหัวใจยังไม่ปลอดจากกิเลส
#บาลีวันละคำ (3,320) (ชุดมงคล 38)
15-7-64