บาลีวันละคำ

โพธิสัตว์ (บาลีวันละคำ 2,463)

โพธิสัตว์

ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัว

อ่านว่า โพ-ทิ-สัด

ประกอบด้วยคำว่า โพธิ + สัตว์

(๑) “โพธิ”

บาลีอ่านว่า โพ-ทิ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + อิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)

: พุธฺ + อิ = พุธิ > โพธิ แปลตามศัพทว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “สิ่งเป็นเหตุรู้” (3) “ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้”

ความหมายของ “โพธิ” ในบาลี –

(1) ความรู้อันยอดเยี่ยม, การตรัสรู้, ความรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงมี (supreme knowledge, enlightenment, the knowledge possessed by a Buddha)

(2) ต้นไม้ตรัสรู้, ต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์, ต้นไม้จำพวกไทร (อสฺสตฺถ, ต้นอสัตถพฤกษ์) ซึ่งพระโคดมพุทธเจ้าบรรลุพระโพธิญาณ (the tree of wisdom, the sacred Bo tree, the fig tree (Assattha, Ficus religiosa) under which Gotama Buddha arrived at perfect knowledge)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

“โพธิ-, โพธิ์ : (คำนาม) ความตรัสรู้; ชื่อต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, บัดนี้หมายถึงต้นไม้จําพวกโพ. (ป., ส.).”

(๒) “สัตว์”

บาลีเป็น “สตฺต” อ่านว่า สัด-ตะ รากศัพท์มาจาก สญฺช (ธาตุ = ติด, ข้อง) + ต ปัจจัย, ลบ ญฺช, ซ้อน ต

: สญฺช > ส + ตฺ + ต = สตฺต แปลตามศัพทว่า (1) “ผู้ติดข้องอยู่ในรูปารมณ์เป็นต้น” (2) “ผู้ยังผู้อื่นให้ติดข้อง” (3) “ผู้ประกอบด้วยคุณลักษณะของผู้ติดข้อง”

ความหมายข้อ (3) หมายถึงว่า แม้ผู้ปราศจากกิเลสไม่ติดข้องอะไรอีกแล้ว ก็ยังเรียกว่า “สตฺต” ตามสำนวนนิยม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สตฺต” ว่า a living being, creature, a sentient & rational being, a person (สัตว์โลก, สัตว์, สิ่งที่มีความรู้สึกและมีเหตุผล, คน)

“สตฺต” สันสกฤตเป็น “สตฺตฺว” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “สัตว” หรือ “สัตว์”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“สัตว-, สัตว์ : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตซึ่งแตกต่างไปจากพรรณไม้ ส่วนมากมีความรู้สึกและเคลื่อนไหวย้ายที่ไปได้เอง, ความหมายที่ใช้กันเป็นสามัญหมายถึง สัตว์ที่ไม่ใช่คน, เดรัจฉาน. (ส. สตฺตฺว; ป. สตฺต).”

โพธิ + สตฺต = โพธิสตฺต > โพธิสัตว์ แปลว่า “ผู้ที่จะได้บรรลุความตรัสรู้”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โพธิสตฺต” “bodhi-being” i. e. a being destined to attain fullest enlightenment or Buddhaship. (“โพธิสัตว์” คือ ผู้มีกำหนดไว้ว่าจะต้องตรัสรู้ หรือถึงซึ่งความเป็นพระพุทธเจ้า)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“โพธิสัตว์ : (คำนาม) ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า. (ส. โพธิสตฺตฺว; ป. โพธิสตฺต).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

“โพธิสัตว์ : ท่านผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งกำลังบำเพ็ญบารมี ๑๐ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา.”

ขยายความ :

ข้อที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “โพธิสัตว์” มีดังนี้ –

๑ “โพธิสัตว์” คือมนุษย์ผู้ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ตั้งใจทำความดีอย่างอื่นๆ เช่นตั้งใจบำเพ็ญประโยชน์ทั่วไปให้เพื่อนร่วมโลก แม้จะบำเพ็ญมากมายเพียงไร ก็ไม่ใช่ “โพธิสัตว์”

๒ การเป็น “โพธิสัตว์” นั้น สำเร็จได้ด้วยการตั้งความปรารถนา และการตั้งความปรารถนานั้นจะสำเร็จได้ผู้ตั้งจะต้องประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติ 8 ประการ ดังนี้ –

(1) ขณะที่ตั้งความปรารถนาต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น (มนุสฺสตฺตํ) เป็นสัตว์เดรัจฉานหรือเป็นเทวดามารพรหมตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ

(2) แม้เป็นมนุษย์ก็ต้องเป็นเพศชายเท่านั้น (ลิงฺคสมฺปตฺติ) เพศหญิงตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ

(3) ต้องสามารถที่จะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้ในชาติที่ตั้งความปรารถนานั่นเอง (เหตุ) คือผู้นั้นจะปฏิบัติจนเป็นพระอรหันต์ไปเลยก็สามารถทำได้ แต่ยังไม่ประสงค์เช่นนั้น ผู้ที่ยังมีกิเลสหนาปัญญาหยาบ ยังไม่ใกล้ต่อการบรรลุมรรคผลใดๆ ก็ตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ

(4) ได้พบพระพุทธเจ้าที่ยังทรงพระชนม์อยู่และได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่าจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ดังปรารถนา (สตฺถารทสฺสนํ) กาลปัจจุบันนี้พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานแล้ว เป็นอันหมดโอกาสที่ใครจะตั้งความปรารถนาได้อีกแล้ว เว้นแต่จะรอไปตั้งความปรารถนากับพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไป

(5) ในขณะที่ตั้งความปรารถนาต้องอยู่ในเพศภิกษุ สามเณร หรือนักบวชที่เป็นสัมมาทิฐิ (ปพฺพชฺชา) คนที่ยังเป็นฆราวาสครองเรือนอยู่ ตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ

(6) สำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญามาแล้ว (คุณสมฺปตฺติ) นี่คือต้องเป็นผู้ปฏิบัติธรรมและได้บรรลุธรรมอย่างต่ำก็ฌานสมาบัติขั้นโลกิยะ ผู้ไม่เคยปฏิบัติ หรือเคยปฏิบัติแต่ยังไม่ได้บรรลุอะไรเลย ตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ

(7) ต้องประกอบกุศลกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถึงขั้นสละชีวิต (อธิกาโร) คือต้องเป็นผู้บำเพ็ญคุณความดีกรณียกิจอย่างยิ่งยวดถึงขนาดยอมตายเพื่อให้งานสำเร็จ คนกลัวตาย กลัวลำบาก ไม่กล้าเสียสละ ตั้งความปรารถนาไม่สำเร็จ

(😎 ปรารถนาพุทธภูมิ คือตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะเป็นพระพุทธเจ้า (ฉนฺทตา) คือตัดสินใจแล้วไม่ถอยกลับ ไม่คืนคำ ไม่ลังเล และไม่มีวันเปลี่ยนใจอย่างเด็ดขาด

ถ้าทำได้ครบทั้ง 8 ข้อ ผู้นั้นก็จะมีสถานะเป็น “โพธิสัตว์” มีอันที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน มีคำเรียกเฉพาะลงไปว่า “นิยตโพธิสัตว์” คือเป็นพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง

ถ้าขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง แม้ตั้งใจจะเป็น “โพธิสัตว์” สักเพียงไร ความเป็น “โพธิสัตว์” ก็ไม่สำเร็จ นอกจากเรียกตัวเองหรือเรียกกันไปเองว่าท่านผู้นั้นผู้โน้นเป็น “โพธิสัตว์” แต่จริงๆ แล้วหาใช่ไม่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระโพธิสัตว์ บริหารตนเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง

: แต่นักการเมือง บริหารบ้านเมืองเพื่อประโยชน์ของตน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *