บาลีวันละคำ

พระบัณฑูรสุรสิงหนาท (บาลีวันละคำ 3,323)

พระบัณฑูรสุรสิงหนาท

ควรจะหมายถึงอะไรหรือหมายถึงใคร

อ่านว่า พฺระ-บัน-ทูน-สุ-ระ-สิง-หะ-นาด

ประกอบด้วย พระ + บัณฑูร + สุร + สิงห + นาท

(๑) “พระ” 

มีผู้ให้ความเห็นว่าน่าจะมาจาก “วร” (วะ-ระ) ในบาลีสันสกฤต แปลว่า “ผู้ประเสริฐ” แปลง เป็น ออกเสียงว่า พะ-ระ แล้วกลายเสียงเป็น พฺระ (ร กล้ำ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พระ” ไว้ 13 อย่าง ในที่นี้คำว่า “พระ” เป็นคำใช้ประกอบหน้าคําอื่นแสดงความยกย่องพระเจ้าแผ่นดินหรือของที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์

(๒) “บัณฑูร” 

อ่านว่า บัน-ทูน เป็นคำไทย (“เป็นคำไทย” ในที่นี้ หมายถึงไม่ใช่คำบาลี แต่คำไทยจะเอามาจากภาษาอะไรก็ว่ากันไปอีกทีหนึ่ง) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า – 

บัณฑูร : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) คําสั่ง, คําสั่งกรมพระราชวังบวร.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

บัณฑูร : (คำราชาศัพท์) (คำนาม) คำสั่ง, คำสั่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล. (คำโบราณ) (คำนาม) พระมหาอุปราช, คำสั่งพระมหาอุปราช.”

(๓) “สุร” 

สุร” ในความหมายนี้ บาลีเป็น “สูร” (สู-ระ สู- สระ อู) รากศัพท์มาจาก สุรฺ (ธาตุ = กล้าหาญ) + (อะ) ปัจจัย, ทีฆะ อุ ที่ สุ-(รฺ) เป็น อู (สุรฺ > สูร)

: สุรฺ + = สุร > สูร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล้าหาญ

สูร” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) วีรบุรุษ, คนกล้า (a hero, a valiant man)

(2) กล้าหาญ, แกล้วกล้า (valiant, courageous)

(3) ความกล้าหาญ (valour)

บาลี “สูร” ภาษาไทยใช้เป็น “สุร” (สุ- สระ อุ) ก็มี คงเป็น “สูร” ก็มี ในที่นี้ใช้เป็น “สุร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สุร” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) สุร– ๑ : (คำนาม) ผู้กล้าหาญ, นักรบ; พระอาทิตย์. (คำวิเศษณ์) กล้าหาญ, เข้มแข็ง. (ป. สูร; ส. ศูร).

(2) สุร– ๒ : (คำนาม) เทวดา. (คำวิเศษณ์) ทิพย์. (ป., ส.).

(๔) “สิงห” 

บาลีเป็น “สีห” อ่านว่า สี-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีหฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + (อะ) ปัจจัย

: สีหฺ + = สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนมฤค

(2) สํ (จาก สํวิชฺชมาน = มีอยู่พร้อม) + อีหา (ความพยายาม) + ณ ปัจจัย, ลบนิคหิต, ลบ และลบสระหน้า คือ อา ที่ (อี)-หา (อีหา > อีห)

: สํ > + อีหา = สีหา > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่มีความพยายามพร้อมที่จะฆ่ามฤค” แปลทับศัพท์ว่า สีหะ, ราชสีห์ ในภาษาไทยใช้อีกคำหนึ่งว่า สิงโต (a lion)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ระบุไว้ว่า often used as an epithet of the Buddha (มักใช้เป็นคำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า) 

สีห” ในภาษาไทย การันต์ที่ เป็น “สีห์” อ่านว่า สี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีห-, สีห์, สีหะ : (คำนาม) ราชสีห์ เช่น ราชสีห์อาจจะตั้งใจหมายความว่า สีหะ ตัวที่เป็นนายฝูง. (สาส์นสมเด็จ). (ดู สิงห-, สิงห์ ๑). (ป.).”

ตามไปดูที่ “สิงห-, สิงห์ ๑” พจนานุกรมฯ บอกไว้ดังนี้ –

สิงห-, สิงห์ ๑ : (คำนาม) สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกําลังมาก, ราชสีห์ ก็เรียก; ชื่อกลุ่มดาวรูปสิงห์ เรียกว่า ราศีสิงห์ เป็นราศีที่ ๔ ในจักรราศี. (ส. สึห; ป. สีห).”

(๕) “นาท

บาลีอ่านว่า นา-ทะ รากศัพท์มาจาก นทฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย, ลบ , “ทีฆะต้นธาตุด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(ทฺ) เป็น อา (นทฺ > นาท)

: นทฺ + = นทณ > นท > นาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การส่งเสียง” หมายถึง เสียงดัง, เสียงร้องคำราม, คำราม (loud sound, roaring, roar)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นาท : (คำนาม) ความบันลือ; เสียงบันลือ, เสียงร้อง. (ป., ส.).”

การประสมคำ :

(๑) พระ + บัณฑูร = พระบัณฑูร (ดูความหมายข้างหน้า)

(๒) สีห + นาท = สีหนาท แปลตามศัพท์ว่า “การส่งเสียงของราชสีห์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สีหนาท” ว่า a lion’s roar, the Buddha’s preaching, a song of ecstasy, a shout of exultation “halleluiah” (การคำรามของราชสีห์, คำสอนของพระพุทธเจ้า, เพลงแสดงความปลื้มปีติ, เสียงตะโกนด้วยความดีใจ)

(๓) สุร + สีหนาท = สุรสีหนาท 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สุรสีหนาท : (คำนาม) พระดํารัสอันเป็นที่น่าเกรงขามของคนทั้งปวงเหมือนเสียงของราชสีห์เป็นที่น่าเกรงขามของสัตว์ทั้งปวง, เสียงตวาดของนักรบเพื่อให้เป็นที่เกรงขามของข้าศึก.”

(๔) พระบัณฑูร + สุรสีหนาท = พระบัณฑูรสุรสีหนาท 

อภิปราย : 

๑ คำว่า “สุรสีหนาท” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นลูกคำที่ออกมาจาก “สุร– ๒” 

สุร– ๒” ถ้าเป็นคำนาม หมายถึงเทวดา ถ้าเป็นคำวิเศษณ์มีความหมายว่า เป็นของทิพย์

แต่เมื่อดูคำนิยามของคำว่า “สุรสีหนาท” ข้อความท่อนท้ายบอกว่า “เสียงตวาดของนักรบเพื่อให้เป็นที่เกรงขามของข้าศึก” คำว่า “นักรบ” เป็นความหมายของ “สุร– ๑” ไม่ใช่ “สุร– ๒” 

ถ้ายึดตามคำนิยาม ก็ควรจะบอกว่า “สุรสีหนาท” เป็นลูกคำของ “สุร– ๑” ไม่ใช่ “สุร– ๒”

(๒) ที่คำว่า “สีหนาท” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

สีหนาท : (คำนาม) สิงหนาท.”

หมายความว่า “สีหนาท” ก็คือ “สิงหนาท” ที่ “สีหนาท” ไม่มีคำนิยามแต่ไปมีที่ “สิงหนาท” นั่นหมายถึง “สิงหนาท” เป็นคำหลัก “สีหนาท” เป็นคำรอง

แต่ครั้นประสมคำกับ สุร– แทนที่จะเป็น “สุรสิงหนาท” อันเป็นคำหลัก กลับเป็น “สุรสีหนาท” อันเป็นคำรอง ทั้งพจนานุกรมฯ ก็ไม่ได้เก็บคำว่า “สุรสิงหนาท” ไว้ด้วย

ข้อเสนอคือ พจนานุกรมฯ ควรเก็บไว้ทั้ง “สุรสีหนาท” และ “สุรสิงหนาท” เหมือนกับที่เก็บไว้ทั้ง “สีหนาท” และ “สิงหนาท

(๓) คำว่า “พระบัณฑูรสุรสีหนาท” ที่ประสมคำไว้ข้างต้น พบว่าเมื่อใช้จริง คำนี้สะกดเป็น “พระบัณฑูรสุรสิงหนาท” (-สิงห– ไม่ใช่ –สีห-)

(๔) เรื่องสำคัญที่ตั้งเป็นปัญหาไว้ข้างต้นว่า “พระบัณฑูรสุรสิงหนาท” ควรจะหมายถึงอะไรหรือหมายถึงใคร ก็เนื่องมาจากในจดหมายเหตุหรือพงศาวดารที่จดตามกันมามีคำอยู่ตอนหนึ่งบอกว่า –

“… จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่…” (ดูภาพประกอบ)

ผู้เขียนบาลีวันละคำสงสัยมานานแล้วว่า “พระบรมราชโองการมานพระบัณฑูร…” แปลว่าอะไร โดยเฉพาะตรงคำว่า “มานพระบัณฑูร” น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าหมายถึงอะไร

จากการพิจารณาใคร่ครวญตามหลักภาษา ผู้เขียนบาลีวันละคำมีข้อสันนิษฐานดังต่อไปนี้ –

(1) คำว่า “-มาน-” บางครั้งก็สะกดเป็น “-มาณ-” การสะกดคำในเอกสารโบราณไม่มีข้อยุติแน่นอน ขอสันนิษฐานว่า คำที่ต้องการจะพูดในที่นี้ก็คือ “มีพระบรมราชโองการมา พระบัณฑูร…”

ขอแทรกตรงนี้นิดหนึ่งว่า “” นั้นมีผู้สันนิษฐานว่าเป็นคำที่อ่านเพี้ยนมาจาก “ใน” คือคนเขียนเขียนว่า “ใน” แต่ตวัดหางสระใอมาติดกับ หนู แบบเขียนหวัด คนอ่านมองเห็นเป็น “” จึงอ่าน “ใน” เป็น “” จนเป็นคำที่ผิดจนถูกไปคำหนึ่ง

“มีพระบรมราชโองการมา ณ พระบัณฑูร…” หมายความว่า “มีพระบรมราชโองการมาในพระบัณฑูร…” หมายถึง “มีพระบรมราชโองการมาถึงพระบัณฑูร…” หรือ “มีพระบรมราชโองการมายังพระบัณฑูร…”

(2) “พระบัณฑูรสุรสิงหนาท” เป็นตำแหน่งข้าราชการผู้ใหญ่ มีหน้าที่อัญเชิญพระบรมราชโองการไปประกาศให้คนทั้งหลายทราบ (ชื่อตำแหน่งเช่นนี้จะมีหรือไม่ ต้องสืบค้นกันต่อไปอีก)

(3) โดยนัยนี้ คำว่า “บัณฑูร” ก็คือ บัง + ทูล

คำว่า “บัง” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

บัง ๒ : (คำกริยา) คำเติมหน้าในภาษาเขมร หมายความว่า ทำให้ เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะ วรรค ก เช่น บังเกิด บังควร บังคม หรือเมื่ออยู่หน้าเศษวรรค เช่น บังวาย บังหวน บังอาจ, เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะวรรค จ หรือ วรรค ด แปลงเป็น บัน เช่น บันจวบ บันโดย, เมื่ออยู่หน้าพยัญชนะวรรค บ แปลงเป็น บำ เช่น บำบัด บำเพ็ญ.”

ทูล ทหาร เป็นพยัญชนะวรรค จึงแปลง “บัง” เป็น “บัน

(4) คำว่า “ทูล” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ทูล : (คำกริยา) บอก, กล่าว, (ใช้แก่เจ้านาย). (ข.).”

ดังนั้น “บันทูล” จึงแปลว่า “ทำให้บอก” ก็คือรับคำสั่งคือพระบรมราชโองการแล้วเอาไปบอกต่อนั่นเอง

(5) “บันทูล” นั่นเอง สะกดกันไปสะกดกันมา กลายเป็น “บัณฑูร” เรื่องนี้ไม่ควรสงสัย เอกสารโบราณเป็นเช่นนี้เอง 

ดูก่อน” คนโบราณสะกดเป็น “ดูกร” คนสมัยใหม่ไม่รู้อักขรวิธีของคนโบราณ พากันอ่านว่า ดู-กะ-ระ เป็นคำที่อ่านผิดจนถูกไปแล้วคำหนึ่ง

ชื่อที่สะกดถูกของข้าราชการตำแหน่งนี้ก็คือ “พระบันทูลสุรสิงหนาท

(6) สรุปว่า –

“… จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่…”

ความที่ประสงค์จะพูดก็คือ –

“… จึงมีพระบรมราชโองการมายังพระบันทูลสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่…”

โปรดทราบว่า ทั้งหมดนี้เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนบาลีวันละคำแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ท่านผู้อ่านท่านผู้อื่นไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หากแต่สามารถเห็นแย้งเห็นต่างได้ทุกข้อทุกประเด็น ขอได้โปรดระดมความคิดเห็นกันเข้ามาเถิด ทั้งนี้เพื่อความจำเริญทางวิชาการด้านภาษาของชาวเรา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำดีๆ ไม่ถึงยี่สิบปีคนก็ลืม

: คนดีๆ อีกกี่พันปีก็ไม่มีใครลืม

#บาลีวันละคำ (3,323)

18-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *