สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ (บาลีวันละคำ 3,322)
สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ
ไม่ใช่แยกเป็น “สิกฺขา” คำหนึ่ง “ปทํ” เป็นอีกคำหนึ่ง
แต่เป็น “สิกฺขาปทํ” คำเดียวกัน
คำสมาทานศีล เช่นเบญจศีลข้อแรก “ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ” (ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทคืองดเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต) มีผู้แสดงความเข้าใจว่า –
“ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขา” เป็นท่อนหนึ่ง
“ปทํ สมาทิยามิ” เป็นอีกท่อนหนึ่ง
คำที่ควรทำความเข้าใจก่อน คือ “สิกฺขาปทํ” หรือ “สิกขาบท” แยกศัพท์เป็น สิกฺขา + ปทํ
(๑) “สิกฺขา”
อ่านว่า สิก-ขา รากศัพท์มาจาก สิกฺขฺ (ธาตุ = ศึกษา, เรียนรู้) + อ (อะ) ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิกฺข + อ = สิกฺข + อา = สิกฺขา แปลตามศัพท์ว่า “ข้อปฏิบัติอันบุคคลพึงศึกษา”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิกฺขา” ไว้ดังนี้ –
(1) study, training, discipline (การศึกษา, การฝึก, สิกขาหรือวินัย)
(2) [as one of the 6 Vedāngas] phonology or phonetics, combd with nirutti [interpretation, etymology] ([เป็นหนึ่ีงในเวทางค์ 6] วิชาว่าด้วยเสียง หรือการอ่านออกเสียงของคำต่าง ๆ, รวมกับ นิรุตฺติ [การแปลความหมาย, นิรุกติ])
ความหมายของ “สิกขา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สิกขา : (คำนาม) ข้อที่จะต้องศึกษา, ข้อที่จะต้องปฏิบัติ ได้แก่ ศีล เรียกว่า ศีลสิกขา สมาธิ เรียกว่า จิตสิกขา และปัญญา เรียกว่า ปัญญาสิกขา รวมเรียกว่า ไตรสิกขา; การศึกษา, การเล่าเรียน, เช่น ปริยัติสิกขา ปฏิบัติสิกขา. (ป.; ส. ศิกฺษา).”
ในภาษาไทย “สิกฺขา” นิยมใช้ตามรูปสันสกฤต คือ “ศิกฺษา” แล้วเสียงกลายเป็น “ศึกษา” และพูดทับศัพท์ว่า “ศึกษา” จนเข้าใจกันทั่วไป
“ศึกษา” ในความเข้าใจทั่วไป มักหมายความเพียงแค่ “เรียนวิชาความรู้”
แต่ “สิกฺขา” ในภาษาบาลีหมายถึง การฝึกฝนปฏิบัติ, การเล่าเรียนให้รู้เข้าใจและฝึกหัดปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติที่เกิดมีขึ้นในตนหรือให้ทำได้ทำเป็น ตลอดจนแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปจนถึงความสมบูรณ์
สำหรับบรรพชิต “สิกฺขา” หมายถึงระบบวิถีชีวิตทั้งชีวิต เช่น คฤหัสถ์บวชเป็นภิกษุ นั่นคือการเข้าสู่ระบบสิกขา คือใช้ชีวิตเยี่ยงบรรพชิตตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
(๒) “ปทํ”
รูปคำเดิมเป็น “ปท” (ปะ-ทะ) รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = บรรลุ, ถึง) + อ (อะ) ปัจจัย
: ปทฺ + อ = ปท แปลตามศัพท์ว่า (1) “สภาวะอันพระอริยะบรรลุ” = นิพพาน (2) “สิ่งเป็นเหตุเป็นไปแห่งผล” = เหตุ, เค้ามูล, ปัจจัย (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเดินไป” = เท้า
“ปท” ในบาลีใช้ในความหมายอะไรบ้าง :
(1) เท้า (foot)
(2) การก้าว, รอยเท้า, ทาง (step, footstep, track)
(3) หนทาง, ช่องทาง (way, path)
(4) ตำแหน่ง, สถานที่ position, place
(5) กรณี, โชคชะตา, หลักการ, ส่วน, องค์ประกอบ, ลักษณะ, ส่วนประกอบ, รายการ, สิ่งของ, มูลฐาน (case, lot, principle, part, constituent, characteristic, ingredient, item, thing, element)
(6) ในบทร้อยกรองหมายถึง คำ, ฉันท์ (หรือหนึ่งในสี่ของฉันท์), โศลก, บท, ประโยค (a word, verse (or a quarter of a verse), stanza, line, sentence)
ในที่นี้ “ปท” ใช้ในความหมายตามข้อ (3)
“ปท” ในภาษาไทยมักใช้ทับศัพท์ว่า “บท”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “บท” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
(1) ข้อความเรื่องหนึ่ง ๆ หรือตอนหนึ่ง ๆ เช่น บทที่ ๑ บทที่ ๒.
(2) กําหนดคําประพันธ์ที่ลงความตอนหนึ่ง ๆ เช่น โคลง ๔ สุภาพ ๔ บาท เป็น ๑ บท
(3) คําที่ตัวละครพูด เช่น บอกบท.
(4) คําประพันธ์ที่เขียนขึ้นสําหรับเล่นละคร มีทั้งบทร้องและบทเจรจา เช่น บอกบท เขียนบท.
(5) คราว, ตอน, ในคําเช่น บทจะทําก็ทํากันใหญ่ บทจะไปก็ไปเฉย ๆ บทจะตายก็ตายง่ายเหลือเกิน.
สิกฺขา + ปท = สิกฺขาปท (สิก-ขา-ปะ-ทะ) แปลว่า “ทางแห่งการศึกษา” หรือ “หัวข้อที่พึงศึกษา”
“สิกฺขาปท” แจกด้วยวิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกพจน์ นปุงสกลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สิกฺขาปทํ” (สิก-ขา-ปะ-ทัง)
“สิกฺขาปท” ในภาษาไทยใช้เป็น “สิกขาบท” (สิก-ขา-บด)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สิกขาบท : (คำนาม) ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติในพระวินัยที่พึงศึกษาปฏิบัติ. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“สิกขาบท : ข้อที่ต้องศึกษา, ข้อศีล, ข้อวินัย, บทบัญญัติข้อหนึ่งๆ ในพระวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ, ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ศีล 311 แต่ละข้อๆ เรียกว่าสิกขาบท เพราะเป็นข้อที่จะต้องศึกษา หรือเป็นบทฝึกฝนอบรมตนของสาธุชน อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุ และภิกษุณี ตามลำดับ.”
ขยายความ :
คำว่า “สิกฺขา” (สิกขา) ก็ดี “ปท” (บท) ก็ดี เมื่ออยู่ตามลำพังแต่ละศัพท์ ย่อมมีความหมายกว้างขวางเท่าที่ศัพท์นั้นจะกินความไปถึงได้ จะอธิบายขยายความให้พิสดารไปอย่างไรก็ได้
แต่เมื่อมารวมกันเป็นศัพท์เดียวกัน เป็น “สิกฺขาปท” ความหมายย่อมจำกัดเฉพาะลงไป จะให้มีความหมายกว้างขวางเท่ากับเมื่อแยกกันอยู่แต่ละศัพท์ย่อมไม่ได้
ซ้ำในที่นี้-คือในคำสมาทานศีล คำว่า “สิกฺขาปท” ยังอยู่รวมกับคำว่า “เวรมณี” (แปลว่า “เจตนางดเว้น) เป็น “เวรมณีสิกฺขาปท” ความหมายก็จำกัดเฉพาะลงไปอีก นั่นคือท่านให้แปลว่า “สิกขาบทคือเจตนางดเว้น” หมายความว่า “สิกฺขาปท” ในที่นี้จะหมายถึงอย่างอื่นไม่ได้ ต้องหมายถึง “เจตนางดเว้นที่จะไม่กระทำเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” เท่านั้น เช่นในศีล 5 ก็คือเจตนางดเว้นที่จะไม่กระทำใน 5 เรื่อง
ขอยกคำอธิบายในอรรถกถามาเสนอไว้ในที่นี้ ทั้งคำบาลีและคำแปล ดังนี้ –
…………..
สิกฺขิตพฺพาติ สิกฺขา.
ชื่อว่าสิกขา เพราะอันบุคคลพึงศึกษา.
ปชฺชเต อเนนาติ ปทํ.
ชื่อว่าบท เพราะเป็นเครื่องมือให้ดำเนินถึง.
สิกฺขาย ปทํ สิกฺขาปทํ สิกฺขาย อธิคมุปาโยติ อตฺโถ.
บทแห่งสิกขา ชื่อว่าสิกขาบท หมายความว่า อุบายเป็นเครื่องบรรลุถึงสิกขา.
อถวา มูลํ นิสฺสโย ปติฏฺฐาติ วุตฺตํ โหติ.
อีกนัยหนึ่ง ท่านอธิบายว่า บทที่เป็นมูล เป็นที่อาศัย เป็นที่ตั้งแห่งสิกขา ชื่อว่าสิกขาบท.
วิรมณี เอว สิกฺขาปทํ วิรมณีสิกฺขาปทํ เวรมณีสิกฺขาปทํ วา ทุติเยน นเยน.
สิกขาบทคือเจตนาเครื่องงดเว้น ชื่อว่าเวรมณีสิกขาบท หรือวิรมณีสิกขาบทตามนัยที่สอง. (คือศัพท์นี้มี 2 นัย นัยแรกเป็น เวรมณีสิกขาบท นัยที่สองเป็น วิรมณีสิกขาบท)
ที่มา: ปรมัตถโชติกา ขุททกปาฐวัณณนา หน้า 22-23
…………..
สรุปว่า “ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขาปทํ สมาทิยามิ” เป็นข้อความท่อนเดียว ไม่ใช่ “ปาณาติปาตา เวรมณีสิกฺขา” เป็นท่อนหนึ่ง “ปทํ สมาทิยามิ” เป็นอีกท่อนหนึ่ง
แถม :
ความแตกต่างระหว่าง “สิกขา” กับ “สิกขาบท” ในภาษาธรรม :
– “สิกขา” คือ ระบบวิถีชีวิตทั้งปวงตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้
– “สิกขาบท” คือ บทบัญญัติ หรือศีลข้อหนึ่งๆ อันเป็นส่วนย่อยในสิกขา
เทียบกับกฎหมาย “สิกขา” คือพระราชบัญญัติทั้งฉบับ “สิกขาบท” คือ “มาตรา” แต่ละมาตราในพระราชบัญญัตินั่นเอง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: รู้ภาษา แค่รู้ว่าคำด่าหรือคำชม
: รู้ประสา ไม่ทำให้เขาด่า แต่ทำให้เขาชม
#บาลีวันละคำ (3,322)
17-7-64