ระบบบำนาญกับการทำประโยชน์ให้เพื่อนร่วมโลก
ระบบบำนาญกับการทำประโยชน์ให้เพื่อนร่วมโลก
————————————-
คนที่ไม่ต้องทำงานก็มีกินมีใช้ เขาควรใช้ชีวิตประจำวันไปเพื่อการอันใด
ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลก?
หรือเสพสุขตามที่ปรารถนา เช่น กิน เที่ยว เล่น?
ตรงนี้แหละ อะไรคือสาระของชีวิต จะเป็นคำตอบ
………………
ระบบบำนาญจะเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที แต่ก็ไปสอดคล้องกับหลัก “ทิศหก” ในส่วนที่ว่าด้วยข้อปฏิบัติระหว่างนายงานกับคนงาน
ถือโอกาสศึกษาหลักธรรมกันเสียเลยนะครับ
ยกมาเฉพาะส่วนที่นายงานพึงปฏิบัติต่อคนงาน มีดังนี้
(- บรรทัดแรกเป็นพระบาลีในพระไตรปิฎก
– บรรทัดสองเป็นคำแปลเป็นไทยจากพระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล
– บรรทัดสามเป็นคำขยายความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
– บรรทัดสี่เป็นคำแปลเป็นอังกฤษจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับเดียวกัน)
…………………………..
(๑) – ยถาพลํ กมฺมนฺตํ สํวิธาเนน
– ด้วยจัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง
– จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ
– by assigning them work according to their strength.
(๒) – ภตฺตเวตฺตนานุปฺปทาเนน
– ด้วยให้อาหารและรางวัล
– ให้ค่าจ้างรางวัลสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
– by giving them due food and wages.
(๓) – คิลานุปฏฺฐาเนน
– ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้
– จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
– by caring for them in sickness.
(๔) – อจฺฉริยานํ รสานํ สํวิภาเคน
– ด้วยแจกของมีรสแปลกประหลาดให้
– ได้ของแปลกๆ พิเศษมา ก็แบ่งปันให้
– sharing with them unusual luxuries.
(๕) – สมเย โวสฺสคฺเคน
– ด้วยปล่อยให้ในสมัย
– ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร
– by giving them holidays and leave at suitable time.
…………………………..
ข้อ (๓) ด้วยรักษาในคราวเจ็บไข้ กับข้อ (๕) ด้วยปล่อยให้ในสมัย ประยุกต์เข้าด้วยกัน ออกมาเป็น-เมื่อเกษียณแล้วก็ดูแลกันต่อไป นั่นก็คือระบบบำนาญ
ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาปรารภ ก็คือผมนึกถึงตัวเอง ทุกวันนี้ผมไม่ต้องทำงานก็มีกินเพราะได้รับพระราชทานบำนาญ
………………
สมัยที่ไปเรียนบาลีที่สำนักวัดสามพระยา กรุงเทพฯ ท่านอาจารย์แย้ม ประพัฒน์ทอง มาสอนพวกเรา ท่านบอกว่าตอนนี้ท่านเกษียณอายุราชการแล้วท่านได้รับพระราชทานบำนาญ (ท่านอาจารย์แย้มเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๓) มีพวกเราบางท่านเกิดสงสัยคำว่า “ได้รับพระราชทานบำนาญ” คือสงสัยว่าในหลวงพระราชทานเงินบำนาญให้ท่านอย่างนั้นหรือ ท่านจึงใช้คำนั้น
ท่านอาจารย์แย้มอธิบายว่า เงินบำนาญที่่ท่านได้รับมาจากไหน?
มาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน
เงินงบประมาณแผ่นดินมีมาได้อย่างไร?
เงินงบประมาณแผ่นดินมีมาได้โดยรัฐบาลเสนอเป็นพระราชบัญญัติ
พระราชบัญญัติจะมีผลใช้บังคับได้พระมหากษัตริย์จะต้องทรงลงพระปรมาภิไธย นั่นคือพระราชทานพระราชบัญญัติลงมา ใช่หรือไม่?
ใช่
และนั่นก็คือพระราชทานเงินบำนาญลงมา ใช่หรือไม่?
ใช่
เพราะฉะนั้น จึงพูดได้ว่า “ได้รับพระราชทานบำนาญ”
พวกเราฟังแล้วก็เข้าใจและยอมรับว่าจริงด้วยเหตุด้วยผล
นักการเมืองที่เข้าไปเป็นรัฐบาลในสมัยหนึ่งเคยมีความคิดที่จะยกเลิกระบบบำนาญ เหตุผลก็คือ ดูตัวเลขจำนวนเงินงบประมาณแผ่นดินที่ต้องจ่ายเป็นเงินบำนาญแล้วมีจำนวนมหาศาลน่าสยดสยองมาก ถ้าเอาเงินจำนวนนั้นไปพัฒนาประเทศก็จะพัฒนาไปได้อย่างมหาศาลเช่นกัน น่าเสียดายที่ต้องเอามาเลี้ยงคนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ทำงานอะไรเลย ได้แต่กินๆ นอนๆ
เพราะฉะนั้น จึงสมควรที่จะยกเลิกระบบบำนาญเพื่อประหยัดงบประมาณ
จะด้วยเหตุผลอะไรก็ไม่ทราบ ความคิดนี้ระงับไป
ภาษาไทยมีสำนวนว่า “ยามดีก็ใช้ ยามไข้ก็รักษา” ซึ่งก็สอดคล้องกับหลักคำสอนเรื่องทิศหก
การที่มีระบบบำนาญจึงเป็นการปฏิบัติตามหลักคำสอนเรื่องทิศหก
ลองคิดดูเถิดว่า เราใช้คนคนหนึ่งทำงาน คนคนนั้นทำงานให้เราจนหมดแรง พอหมดแรงเราก็ทิ้ง ปล่อยให้เขาไปหาเลี้ยงตัวเอาเองตามยถากรรม
เป็นการปฏิบัติที่น่าชื่นชมยินดีแล้วหรือ?
เรื่องระบบบำนาญขอหยุดไว้เพียงเท่านี้
………………
เรื่องที่อยากจะชวนให้คิดก็คือ คนที่ไม่ต้องห่วงเรื่องทำงานหาเลี้ยงชีพ มีอาหารกินทุกมื้อ มีที่อยู่ มีปัจจัยเครื่องดำรงชีพตามสมควรแก่ความจำเป็น เขาควรใช้ชีวิตประจำวันไปเพื่อการอันใด
ทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลก?
หรือเสพสุขตามที่ปรารถนา เช่น กิน เที่ยว เล่น?
ถึงตรงนี้ สิทธิมนุษยชนหรือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลก็คงจะถูกยกขึ้นมาอ้าง
พูดภาษานักเลงปากท่อก็ว่า-กูจะทำอะไรก็เรื่องของกู มันไปหนักหัวมึงด้วยหรือ
ก็บอกแล้วว่า-เป็นการชวนคิด มันก็แค่ชวนคิดเท่านั้น ไม่ใช่บังคับให้ใครทำตาม ไม่ต้องถึงกับทำตาม แค่คิดก็ไม่ได้บังคับให้คิดตามด้วยซ้ำไป
เพราะฉะนั้น เข้าใจเจตนากันนะครับ
ผมคิดตามประสาผมต่อไปว่า นี่ถ้าไม่มีระบบบำนาญ แล้วถ้าผมยังจะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพเป็นประจำต่อไปอีก ไม่ทำงานก็จะไม่มีกินไม่มีใช้ไม่มีอยู่ ผมจะมีเวลาคิดทำอะไรที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมโลกอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้หรือไม่
พอคิดอย่างนี้ก็จะเข้าใจเพื่อนร่วมโลกส่วนใหญ่ได้ชัดเจนขึ้น คือคนส่วนใหญ่มุ่งแต่จะเอาประโยชน์ส่วนตัวก็เพราะเขาจะต้องหาเลี้ยงชีพ การหาเลี้ยงชีพเป็นภาระที่หนักหนาสาหัส เขาจึงต้องเอาประโยชน์ส่วนตัวไว้ก่อน เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ค่อยได้เห็นคนที่ตั้งใจใช้ชีวิตประจำวันไปเพื่อทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลก มีทำบ้างก็เป็นครั้งคราว แล้วก็เป็นส่วนน้อย แต่ส่วนมากมุ่งทำแต่ประโชน์ส่วนตัว
เพราะฉะนั้น เห็นใครไม่เอาประโยชน์ส่วนรวม เอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว หรือพูดกันตรงๆ ว่าเห็นแก่ตัว ก็อย่าเพิ่งโกรธหรือรังเกียจชิงชังทันที
แต่ก็ต้องมีอีกนั่นแหละ คนที่ไม่ต้องทำงานก็ไม่อดตาย แต่ก็ยังตั้งหน้าตั้งตาจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัวอยู่นั่นแหละ หรือไม่ก็เอาแต่เสพสุขส่วนตัว ไม่คิดจะทำประโยชน์ใดๆ ให้แก่เพื่อนร่วมโลก
คนประเภทนี้ก็ยังจะต้องให้อภัยแก่เขาอยู่นั่นเอง-ถ้าเข้าใจธรรมชาติของคนที่ยังมีความโลภครอบงำ และ-ถ้าเข้าใจธรรมชาติของโลกที่ท่านพูดกันมาช้านานว่า คนเขลามีมากคนฉลาดมีน้อย คนดีมีน้อยคนถ่อยมีมาก
เมื่อธรรมชาติของคน+ธรรมชาติของโลกเป็นเช่นนี้ จะต้องไปโกรธเคืองหรือชิงชังกันทำไม เห็นใจเขา แผ่เมตตาไมตรีจิตให้เขา หรือถ้ายังทำแบบนั้นไม่ได้ ก็วางใจเป็นกลางๆ ไม่ชอบไม่ชัง จะไม่ดีกว่าดอกหรือ
………………
ตอนที่ตั้งท่าเขียนเรื่องนี้ ผมตั้งใจจะชวนคิดว่า เราแต่ละคนล้วนมี “ทาง” ของตัวเอง “ทาง” ในที่นี้ผมหมายถึงความถนัด ความสามารถ ความมีใจรักชอบที่จะทำอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง
ขออนุญาตยกตัวอย่างผมเอง ผมพอมีความรู้ทางภาษาบาลีอยู่บ้าง “พอมี” เท่านั้น ไม่ใช่เก่งหรือเชี่ยวชาญ เพราะยังต้องศึกษาอยู่ตลอดเวลา ที่ยังไม่รู้มีมากกว่าที่พอรู้ และผมชอบที่จะศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี
นี่คือ “ทาง” ของผม
เพราะฉะนั้น ใครมีปัญหาเกี่ยวกับภาษาบาลีหรือเกี่ยวกับเรื่องราวเค้าเงื่อนใดๆ ในคัมภีร์พระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา แล้วถามไถ่มาที่ผม นั่นคือ “เข้าทาง” ผมแล้ว
ผมจะมีความสุขมากในการสืบค้นตรวจสอบเพื่อตอบข้อสงสัย-ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องที่ผมเองก็ยังไม่รู้หรือไม่ค่อยรู้สักเท่าไร นั่นเท่ากับช่วยให้ผมได้ศึกษาหาความรู้ไปด้วยพร้อมๆ กัน และผมจะไม่คิดเลยว่าเป็นการเสียเวลา สิ้นเปลืองนั่นนี่โน่น (รวมทั้งสิ้นเปลืองสตังค์ถ้าหากจะพึงต้องใช้ต้องจ่ายไปในการนี้) เพราะนั่นเท่ากับทำไปเพื่อประโยชน์ของผมเองด้วย
นี่แหละครับคือเรื่องที่ผมอยากเชิญชวนญาติมิตรทั้งหลายทั้งปวงประดาที่ไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการทำมาหากินอีกแล้วก็พอมีกินมีใช้ และมี “ทาง” ของตัวเอง ให้ลองพิจารณาหาทางทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลกโดยใช้ “ทาง” ที่แต่ละท่านแต่ละคนมีอยู่นั่นแหละเป็นช่องทางหรือเป็นอุปกรณ์ ทำประโยชน์อะไรก็ได้ แบบไหนก็ได้ ที่ท่านถนัด แล้วท่านจะรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่าไม่เสียทีที่ได้เกิดมา
สำหรับท่านที่ทำอยู่แล้ว ขอคารวะอย่างยิ่งครับ
สำหรับท่านที่มีภาระยังต้องทำมาหากินเลี้ยงตัวอยู่ แต่สามารถใช้ “ทาง” ของตัวเองทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนร่วมโลกได้อย่างสม่ำเสมอ ขอน้อมคารวะอย่างยิ่งมา ณ ที่นี้ครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๖:๕๕