บาลีวันละคำ

คณะปรก (บาลีวันละคำ 2,226)

คณะปรก

อ่านว่า คะ-นะ-ปฺรก

ประกอบด้วยคำว่า คณะ + ปรก

(๑) “คณะ

บาลีเป็น “คณ” (คะ-นะ) รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + ปัจจัย

: คณฺ + = คณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน

คณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่).

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว.

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์.

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ..

ในที่นี้ “คณะ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2)

(๒) “ปรก

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ปรก” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ปรก ๑ : (คำนาม) ซุ้มเล็ก ๆ ที่พระสงฆ์อาศัยในเวลาอยู่ปริวาส. (คำกริยา) ปก, ปิด, คลุม, เช่น พระนาคปรก ผมปรกหน้า.

(2) ปรก ๒ : (คำนาม) เรียกผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสก เช่น ในพิธีพุทธาภิเษก ว่า คณะปรก.

พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ปรก” เป็นภาษาอะไร

คณะ + ปรก = คณะปรก

ตามพจนานุกรมฯ “คณะปรก” แปลว่า “คณะภิกษุผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสก

สันนิษฐาน :

ทำไมจึงเรียก “คณะภิกษุผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสก” ว่า “คณะปรก” ?

๑ อาจเป็นเพราะแต่เดิมนิยมทำที่นั่งของผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสกให้เป็นซุ้มเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่า “ศาลาปรก” (ตามนัยแห่ง “ปรก ๑” ข้างต้น) นั่งซุ้มละรูปเรียงรายกันไปตามจุดที่กำหนด และผู้นั่งภาวนาในพิธีย่อมมีหลายรูป จัดว่าเป็นหมู่ เป็นคณะ จึงเลยเรียกรวมๆ กันว่า “คณะผู้นั่งในศาลาปรก” แล้วตัดลงมาเป็น “คณะปรก

๒ ในภาษาบาลีมีคำว่า “คณปูรก” (คะ-นะ-ปู-ระ-กะ) แปลว่า “ผู้ทำคณะให้เต็ม

คณปูรก” มีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) เมื่อมีการประชุมสมาชิกของกลุ่มเพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่งและได้กำหนดจำนวนอย่างต่ำของสมาชิกผู้เข้าประชุมไว้ เมื่อมีสมาชิกเข้าประชุมครบตามจำนวนที่กำหนดจึงจะถือว่าเป็น “องค์ประชุม” ที่สามารถทำกิจนั้นๆ ได้

จำนวนสมาชิกที่เข้าประชุมดังกล่าวนี้แหละคือ คณปูรก = “ผู้ทำคณะให้เต็ม” หรือผู้ทำให้ครบจำนวน (one who completes the quorum)

(2) หมายถึงผู้ที่อยู่ในสังคมหมู่คณะ แต่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้ คือเกิดมาหรืออยู่มาพอให้เต็มบ้านเต็มเมืองหรือเต็มโลกเท่านั้น คล้ายกับสำนวนที่พูดกันว่าเป็น “ไม้ประดับ” หรือสำนวนพระว่าอยู่วัดเป็น “พระอันดับ” ไม่มีบทบาทหรือมีความหมายอะไร

คำว่า “คณปูรก” นี่เองอาจจะมีการเขียนตกเป็น “คณปรก” อ่านว่า คะ-นะ-ปฺรก แล้วต่อมาก็เลยเขียนเป็น “คณะปรก

ความข้อนี้เป็นสันนิษฐานส่วนตัวของผู้เขียนบาลีวันละคำ

ดูเพิ่มเติม:

คณะ” บาลีวันละคำ (882) 17-10-57

คณปูรกะ” บาลีวันละคำ (888) 23-10-57

อย่างไรก็ตาม แม้พจนานุกรมฯ จะบอกไว้เองที่คำว่า “ปรก ๒” ว่า “เรียกผู้นั่งภาวนาในพิธีปลุกเสก เช่น ในพิธีพุทธาภิเษก ว่า คณะปรก”

แต่คำว่า “คณะปรก” ก็ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ

…………..

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นพจนานุกรมที่หล่นๆ ตกๆ

: คำว่า “คณะปรก” มีพูดกันในภาษาไทย

: แต่ไม่มีพจนานุกรมของรัฐฉบับใดเก็บคำว่า “คณะปรก

ดูก่อนภราดา!

ประเทศไทยเป็นนิติรัฐที่ประหลาด

: พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย

: แต่ไม่มีกฎหมายฉบับใดบัญญัติว่าเป็นศาสนาประจำชาติ

#บาลีวันละคำ (2,226)

17-7-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *