เทียนพรรษา
เทียนพรรษา
————
ตอนนี้ใกล้เข้าพรรษา ตามวัดต่างๆ จัดให้มีกิจกรรมบุญหล่อเทียนพรรษากันทั่วไป
สังเกตดู คำเรียก “เทียนพรรษา” ถูกต้องกันมากขึ้น “เทียน–พรรษา” ตรงกลางมีคำแปลกๆ ค่อยๆ หายไป แต่ก็ยังคงมีอยู่บ้างจากท่านจำพวกที่เรียกตามความเข้าใจเอาเอง ไม่เรียนรู้และไม่รับรู้
ผมเดินออกกำลังเมื่อเช้านี้ (๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔) ผ่านเข้าไปในวัดหนึ่ง ก็ไปเห็นคำที่มาแปลกไปอีกแบบ –
“ขอเชิญ สาธุชน
หล่อเทียน
วันเข้าพรรษา”
เอามาบอกให้รู้ แต่อย่าจำเอาไปใช้นะครับ
บุญหล่อเทียนพรรษาทำอย่างไร?
หลักๆ ก็คือมีเบ้าเทียน ติดเตา ตั้งกระทะ เตรียมเนื้อเทียนไว้ มีคนเฝ้า เอาเนื้อเทียนใส่กระทะ จนเทียนละลายเป็นน้ำ มีกระบวยยาว ใครอยากจะทำบุญหล่อเทียนก็เอาสตางค์ใส่ตู้ เอากระบวยตักน้ำเทียนในกระทะเทลงในเบ้าเทียน เป็นอันเสร็จ นี่คือรูปแบบของบุญหล่อเทียนพรรษา
ขออนุโมทนากับทุกวัด ทุกแห่ง ทุกคนที่มีส่วนร่วมในบุญหล่อเทียนพรรษา
ต่อไปนี้เป็นข้อคิด
เทียนพรรษาที่หล่อแล้วตามที่บรรยายมา เสร็จแล้วไปอยู่ไหน ผมเข้าใจว่าคนสมัยนี้คงไม่ได้สนใจตามไปดู และส่วนมากก็คงจะไม่รู้
…………………….
กิจวัตรอย่างหนึ่งของชาววัดคือพระภิกษุสามเณรที่ทำกันมาจนอยู่ตัวและเป็นที่รู้ทั่วกันก็คือ ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น
คำเรียกบทสวด “ทำวัตรเช้า” “ทำวัตรเย็น” เป็นพยานอยู่
เช้าประมาณแปดโมง เคาะระฆัง
เย็นประมาณห้าโมง เคาะระฆัง
บางวัดอาจจะทำวัตรเย็นตอนทุ่มหนึ่ง เรียกว่าทำวัตรค่ำ
นี่เป็นกิจประจำวัน เป็นวิถีชีวิตของชาววัด ขอได้โปรดช่วยกันรับรู้ไว้ วัดไหน ชาววัดไม่ทำกิจนี้ ชาวบ้านควรมีสิทธิ์สงสัยและทักท้วงได้ว่าทำไมจึงไม่ทำ
ครั้นถึงช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน วัดต่างๆ จะเพิ่มการทำวัตรสวดมนต์พิเศษขึ้นอีกเวลาหนึ่ง ประมาณตีสี่
ช่วงเข้าพรรษา เวลาตีสี่ วัดต่างๆ เคาะระฆัง พระภิกษุสามเณรตื่นขึ้นทำวัตรเป็นเวลาพิเศษเพิ่มขึ้นจากเช้า-เย็น
สมัยก่อนไฟฟ้าไม่มี
ทำวัตรตอนตีสี่นี่เองที่ต้องใช้เทียน
ทำวัตรเช้า สว่างแล้วไม่ต้องใช้แสงไฟ
ทำวัตรเย็น ยังไม่มืด ก็ไม่ต้องใช้แสงไฟ
ทำวัตรตีสี่ ยังไม่สว่าง ยังมืดอยู่ แสงไฟเป็นสิ่งจำเป็น เทียนเป็นสิ่งจำเป็น เทียนพรรษาจึงเกิดขึ้น
เทียนพรรษา จึงคือเทียนที่จุดตอนตีสี่เมื่อพระภิกษุสามเณรตื่นขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์เป็นการพิเศษตลอดช่วงเวลาเข้าพรรษา
ท่านผู้ใดจะเห็นเหตุผลเป็นประการอื่นก็ไม่ว่ากัน แต่เท่าที่ผมศึกษาตรวจสอบพิเคราะห์ดูแล้ว เหตุผลหลักดั้งเดิมของการมีเทียนพรรษาเป็นดังที่ว่ามานี้
สอบถามดูแล้ว ภายในพรรษาวัดต่างๆ ในภาคกลางประพฤติดังที่ว่ามานี้ทั่วกัน วัดในภาคอื่นๆ อาจจะแตกต่างออกไป แต่ก็คงสรุปได้ว่า ช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน ทุกวัดจะมีกิจอย่างใดอย่างหนึ่งพิเศษไปจากช่วงเวลาปกติและเป็นกิจกรรมที่ต้องจุดเทียนเพื่อแสงสว่างพร้อมไปกับเพื่อเป็นพุทธบูชา
เมื่อประมวลภาพออกมาได้ดังนี้ เทียนพรรษาจึงไม่ควรมีความหมายเฉพาะเป็นบุญหล่อเทียนและแห่เทียน แต่ควรจะสนใจตามไปดูจนถึงการใช้เทียนพรรษาไปเพื่อการอันใดด้วย
เช่นตามไปดูว่า เดี๋ยวนี้วัดต่างๆ ยังทำวัตรเช้า-เย็นเป็นกิจวัตรประจำวันกันอยู่หรือเปล่า
เสียงระฆังเช้าแปดโมง ระฆังเย็นห้าโมง ยังดังออกมาจากวัดต่างๆ อยู่หรือเปล่า
ช่วงเวลาเข้าพรรษา ๓ เดือน วัดต่างๆ ยังเคาะระฆังตีสี่ พระภิกษุสามเณรตื่นขึ้นมาทำวัตรสวดมนต์เป็นกรณีพิเศษตลอด ๓ เดือนกันอยู่หรือเปล่า
หรือจะอ้างว่า วัดนี้ไม่มี ไม่เคยมี ตั้งแต่อาตมาบวชมาก็ไม่เคยเห็นที่ไหนทำกัน ไปเอาประเพณีนี้มาจากไหน ไร้สาระจริงๆ
ถ้าเช่นนั้น เทียนพรรษามีไว้ทำไม
เอาไว้จุดไหว้พระสวดมนต์ระหว่างเข้าพรรษา
แล้วเวลาอื่นๆ ที่ไม่ใช่เข้าพรรษาไม่มีทำวัตรสวดมนต์ดอกหรือ ทำเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้นหรือ
หรือว่า-ทำวัตรสวดมนต์ตลอดปีมีที่ไหน ไร้สาระอีก
…………………….
ผมสังเกตเห็นว่า เวลานี้วัฒนธรรมประเพณีวิถีชีวิตของชาววัดที่เคยปฏิบัติกันสืบมาช้านาน บัดนี้ขาดสูญไปเกือบหมดแล้ว
ตีระฆังทำวัตรสวดมนต์เป็นเรื่องหนึ่งที่กำลังขาดสูญ บางพื้นที่ขาดสูญไปแล้วด้วย
จำกันได้ไหม กรณีที่มีการร้องเรียนว่า วัดตีระฆังหนวกหู ชาวบ้านเขาจะหลับจะนอน
ถ้าเด็กไทยได้ยินเสียงระฆังเช้า-เย็น และตีสี่ในพรรษามาตั้งแต่เกิด และรู้มาตั้งแต่จำความได้ว่าเป็นสัญญาณพระเณรทำวัตรสวดมนต์อันเป็นกิจในวิถีชีวิตสงฆ์ ความคิดเรื่องวัดตีระฆังหนวกหูจะมีขึ้นมาได้อย่างไร
หรือถ้าความคิดเช่นนั้นมาจากคนต่างศาสนาต่างวัฒนธรรม ก็ยิ่งน่าสงสัยว่าคนเหล่านั้นมาอยู่ในวัฒนธรรมไทยตั้งแต่เมื่อไรจึงไม่รู้ว่าสัญญาณระฆังในสังคมไทยหมายถึงอะไร
หรือสัญญาณระฆังในสังคมไทยหายไปตั้งแต่เมื่อไรคนเหล่านั้นจึงไม่รู้ และจึงลุกขึ้นมาตะโกนด่าว่าหนวกหู
หรือว่าวัดต่างๆ ไม่ได้รักษาสืบทอดวิถีชีวิตเช่นนี้กันแล้ว จนกระทั่งคนไทยไม่รู้จักวิถีชีวิตสงฆ์กันแล้วหรืออย่างไร
จะเห็นได้ว่า เทียนพรรษามีความหมายมากกว่าได้ทำบุญหล่อเทียนหรือแห่เทียนกันสนุกๆ
แต่สามารถบอกไปได้ไกลถึงความอยู่รอดหรืออยู่ไม่รอดของวิถีชีวิตสงฆ์นั่นเลย
ถ้าไม่รักษาวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ให้ดี
อีกไม่นานปี
อาจไม่มีเทียนพรรษาอยู่ในแผ่นดินไทย
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๖:๓๐