บาลีวันละคำ

สังคม (บาลีวันละคำ 1,690)

สังคม

อ่านว่า สัง-คม

สังคม” บาลีเป็น “สงฺคม” อ่านว่า สัง-คะ-มะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น งฺ (สํ > สงฺ)

: สํ > สงฺ + คมฺ = สงฺคมฺ + = สงฺคม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การไปร่วมกัน

สงฺคม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การพบกัน, การเกี่ยวพันหรือติดต่อกัน, การร่วมสมาคม (meeting, intercourse, association)

(2) การร่วมประเวณี (sexual intercourse)

บาลี “สงฺคม” ในสันสกฤตก็เป็น “สงฺคม

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สงฺคม : (คำนาม) ‘สังคม,’ การประสบ, โยคหรือสมาคม; (คำใช้ในดาราศาสตร์) คฺรหโยค ( = คระหะโยค) หรือนักษัตรโยค; meeting, union; (In astronomy) planetary conjunction, or conjunction of planets.”

บาลี “สงฺคม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สังคม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สังคม, สังคม– : (คำนาม) คนจํานวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบ กฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สําคัญร่วมกัน เช่น สังคมชนบท; วงการหรือสมาคมของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น สังคมชาวบ้าน. (คำวิเศษณ์) ที่เกี่ยวกับการพบปะสังสรรค์หรือชุมนุมชน เช่น วงสังคม งานสังคม. (ป.).”

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล “สังคม” เป็นอังกฤษว่า society; social

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล society เป็นบาลีดังนี้ –

(1) samiti สมิติ (สะ-มิ-ติ) = ที่ชุมนุมชน

(2) parisā ปริสา (ปะ-ริ-สา) = กลุ่มชนที่แบ่งกันเป็นพวกๆ

(3) samāgama สมาคม (สะ-มา-คะ-มะ) = “การมารวมกัน” > สมาคม

และแปล social เป็นบาลีดังนี้ –

(1) samājahita สมาชหิต (สะ-มา-ชะ-หิ-ตะ) = เพื่อนที่มาร่วมชุมนุมกัน

(2) mahājanika มหาชนิก (มะ-หา-ชะ-นิ-กะ) = ของมหาชน, เกี่ยวกับมหาชน, กลุ่มชน

น่าสังเกตว่า พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้แปล society และ social เป็นบาลีว่า “สงฺคม

…………..

อภิปราย:

มีคำกล่าวว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” หมายความว่า มนุษย์มีลักษณะนิสัยที่ชอบการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม เริ่มจากกลุ่มเล็กที่สุดคือสังคมในเคหสถานบ้านเรือน ขยายออกเป็นสังคมต่างๆ อีกมากมาย

การแบ่งกลุ่มสังคมนั่นเอง ในที่สุดกลายเป็นพรรคแบ่งพวก เกื้อกูลกันเฉพาะในหมู่พวกของตน กีดกันจนถึงขั้นทำลายหมู่พวกอื่น

จึงชวนให้สงสัยว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หรือเป็นสัตว์ทำลายสังคมกันแน่?

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยู่ในสังคม ต้องร่วมด้วยช่วยกัน

: ถ้าตัวใครตัวมัน ก็ไม่ควรอยู่ในสังคม

19-1-60