สนามหลวง (บาลีวันละคำ 614)
สนามหลวง
บาลีว่าอย่างไร
คำว่า “สนามหลวง” ตามความหมายเดิม ถอดความจากคำบาลีว่า “ราชงฺคณ” (รา-ชัง-คะ-นะ)
ประกอบด้วย ราช + องฺคณ
“ราช” (บาลีอ่านว่า รา-ชะ) แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า “เป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน” ตรงกับคำไทยสั้นๆ ว่า “หลวง” นั่นเอง
“องฺคณ” (อัง-คะ-นะ) มีความหมาย 2 อย่าง คือ –
(1) แปลตามศัพท์ว่า “ที่ไปแห่งผู้คน” หมายถึง สนาม, เนิน, ลาน, ที่ว่าง (an open space, a clearing)
(2) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุให้ถึงความเลวทราม” หมายถึง กิเลส, มลทิน, รอยตกกระ, จุดด่างพร้อย (stain, soil, impurity, fleck, blemish) ความหมายนี้ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านแปลกันว่า “กิเลสเพียงดังเนิน” (เอาความหมายแรกมาเป็นฐานความคิด)
ในที่นี้ “องฺคณ” ใช้ในความหมายตามข้อแรก คือ สนาม, เนิน, ลาน
ราช + องฺคณ = ราชงฺคณ แปลตามศัพท์ว่า “สนามของพระราชา” ก็คือ “สนามหลวง” หรือพระลานหลวง ฝรั่งแปลศัพท์นี้ว่า the empty space before the king’s palace, the royal square
ทำไมจึงต้องมี “ราชงฺคณ – สนามหลวง”
“ราชงฺคณ” มีใช้ดกดื่นในคัมภีร์ เป็นสถานที่ที่อยู่ด้านหน้าของพระราชวัง และต้องมีคู่กับพระราชวัง ด้วยเหตุผลดังนี้ –
(1) เป็นที่แสดงกิจกรรมของทางราชการที่ต้องการให้ราษฎรมาร่วมรับรู้ เช่นชุมนุมกองทหารก่อนที่จะยกออกจากเมือง รวมทั้งเป็นที่จัดงานตามเทศกาลต่างๆ
(2) เมื่อมีกรณีที่ทางราชการต้องการฟังความเห็นจากราษฎร ก็จะใช้เป็นที่ประชุมกันเพื่อแสดงความคิดเห็น เช่น ลงความเห็นตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง “เศรษฐี” เป็นต้น
(3) เป็นสถานที่ชุมนุมของราษฎรเพื่อร้องทุกข์ต่อผู้ปกครอง ธรรรมเนียมปฏิบัติเมื่อราษฎรชุมนุมกันร้องทุกข์ ผู้ปกครอง (โดยปกติคือพระราชา) จะสอบสวนถึงสาเหตุของปัญหา และปฏิบัติตามความต้องการของราษฎร ปรากฎบ่อยว่าพระราชาจะทรงตรวจสอบความประพฤติของพระองค์เองเป็นอันดับแรกแล้วแก้ไขให้เป็นที่พอใจของราษฎร
ในกรุงเทพฯ อันเป็นเมืองหลวงของไทย ก็มี “ราชงฺคณ – สนามหลวง” อยู่หน้าพระบรมมหาราชวังเช่นกัน
ร่องรอยที่ยืนยันว่า “สนามหลวง” เป็นที่ทำกิจกรรมอย่างเป็นทางราชการ ยังปราฏอยู่ในความหมายของคำว่า “สนามหลวง” ตาม พจน.54 ที่ว่า –
“สนามหลวง : สถานซึ่งกําหนดให้เป็นที่สอบไล่นักธรรมและบาลี ในคำว่า สอบธรรมสนามหลวง สอบบาลีสนามหลวง”
(“สอบ–สนามหลวง” ไม่ใช่ไปนั่งสอบที่สนามหลวงหน้าพระบรมมหาราชวัง แต่หมายถึงเป็นการสอบอย่างเป็นทางราชการ)
: ถ้าผู้ปกครองทรงธรรม จักรวาลก็แคบเกินไป
: แต่ถ้าผู้ปกครองอาธรรม แค่สนามหลวงก็กว้างเกินไป – ที่จะครอง
20-1-57