บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

รอพระโพธิสัตว์มาตัดสิน

เมื่อวาน (๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๙) ผมเขียนเรื่องตำรวจจับผู้ขับรถเร็วเกินกำหนด แต่จับแบบเลือกจับ ไม่ได้จับเพื่อสนองเจตนารมณ์ของกฎหมาย

กฎหมายเห็นว่าการขับรถเร็วเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

เจตนารมณ์ของกฎหมายก็คือป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากขับรถเร็ว เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงให้อำนาจตำรวจมีสิทธิ์เข้าระงับยับยั้งรถทุกคันที่ขับเร็วเกินกำหนด

แต่ในการปฏิบัติจริง รถที่ขับเร็วเกินกำหนดบางคันเท่านั้นที่ถูกจับ ในขณะที่รถที่ขับเร็วเกินกำหนดอีกมากมายไม่ได้ถูกจับ

สรุปว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

แต่กลับเป็นการใช้อำนาจที่กฎหมายมอบให้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์

—————–

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดขึ้นมาได้ควบคู่กับเรื่องนี้ 

อันที่จริงพอเห็นเรื่องตำรวจจับรถขับเร็ว ผมก็คิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาก่อน แต่เอามาพูดทีหลัง

เป็นเรื่องของการใช้อำนาจที่กฎหมายมอบให้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ในทำนองเดียวกัน นั่นคือกฎหมายเกี่ยวกับโบราณสถาน

เข้าประเด็นกันตรงๆ ก็คือ วัดที่มีอาคารสถานที่ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว หากจะซ่อมอาคารสถานที่นั้นจะต้องขออนุญาตต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะดำเนินการซ่อมได้

เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้โบราณสถานถูกทำลายคุณค่าทางศิลปะอันเนื่องมาจากการซ่อมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

พูดกันตรงๆ ถ้าให้วัดมีอำนาจซ่อมได้อย่างเสรี ของดีๆ เช่น โบสถ์เก่าๆ ศาลาการเปรียญหลังงามๆ ก็จะถูกทำลายฉิบหายหมด

เพราะฉะนั้น การซ่อมจึงต้องอยู่ในความควบคุมของหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนเสร็จ

แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ใช้อำนาจที่กฎหมายมอบให้นี้แสวงหาผลประโยชน์ เริ่มตั้งแต่การขออนุญาตเป็นต้นไป โดยจะกำหนดเงื่อนไขในการซ่อมหลายอย่าง เช่น รูปร่างแผนผังของอาคารที่จะซ่อมใหม่ ต้องเป็นไปตามที่หน่วยงานที่รับผิดชอบออกแบบ ผู้รับเหมาซ่อมจะต้องมีมาตรฐานตามที่หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนด และที่สำคัญ งบประมาณในการซ่อมไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเป็นของวัด จะต้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ถือจ่ายแต่เพียงผู้เดียว 

เราท่านคงพอประมาณการได้ว่า ช่องทางแสวงหาผลประโยชน์มีอยู่ตรงจุดไหนบ้าง 

เพราะฉะนั้นก็ละไว้ฐานเข้าใจ ไม่ต้องพูด

ถ้าไม่เป็นไปตามนี้-โดยเฉพาะเรื่องการถืองบประมาณ- ก็จะมีปัญหาขลุกขลักตามมาทันที 

ที่ปรากฏเสมอก็คือ ขออนุญาตไปแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ

ถ้าวัดขืนซ่อมไปเองก็จะเกิดเรื่องใหญ่ ดังกรณีที่เกิดขึ้นที่วัดกัลยาณมิตร หวังว่าเราคงยังไม่ลืม

เมื่อวัดกัลยาณมิตรขออนุญาตซ่อมเสนาสนะ และได้เห็นเงื่อนไขเหล่านั้น ท่านเจ้าอาวาสได้ประกาศดังๆ ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบจะไม่ได้กินเงินของวัดกัลยาณมิตรแม้แต่บาทเดียว

—————–

ที่ยกเรื่องนี้มาคุยสู่กันฟังก็เพราะเรื่องแบบเดียวกันกำลังเกิดขึ้นที่วัดเทพอาวาส จังหวัดราชบุรี

วัดเทพอาวาสมีโบสถ์เก่าอยู่หลังหนึ่ง รูปทรงงามมาก 

งามอย่างไรโปรดดูภาพประกอบ

โบสถ์หลังนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสมัยที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (น่าจะประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ เป็นต้นมา) เนื่องจากตระกูลของนายชินวรณ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างโบสถ์หลังนี้

ใครเห็นโบสถ์หลังนี้เป็นต้องพูดตรงกันว่า สมควรจะต้องซ่อมเป็นการด่วน

ท่านเจ้าอาวาสวัดเทพอาวาสรูปปัจจุบันเป็นศิษย์สำนักวัดมหาธาตุ ราชบุรี สำนักเดียวกับผม จึงคุ้นเคยกันมาก ผมไปที่วัดท่านหรือเจอท่านที่ไหน ก็นมัสการทุกครั้งไปว่า ซ่อมโบสถ์เสียทีเถิดขอรับ 

ท่านก็ตอบว่าคิดอยู่ตลอด ซ่อมแน่ กำลังหาเงิน

ผมเอ่ยปากชักชวนคนที่รู้จักมักคุ้นกันคนหนึ่ง ให้ลองหาทางช่วยหาเงิน ที่กล้าชวนก็เพราะเป็นทหารเรือด้วยกัน 

ท่านผู้นั้นเกิดใจสู้ขึ้นมา ไปบอกบุญเถ้าแก่โรงงานผลิตอาหารสัตว์แถวมหาชัยให้มาเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน 

เถ้าแก่โรงงานเห็นโบสถ์แล้วชอบใจมาก ตกลงรับเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดเทพอาวาสเมื่อปี ๒๕๕๖ ได้เงินประเดิมกองทุนล้านกว่า

และบอกว่าจะเป็นเจ้าภาพทุกปีจนกว่าจะซ่อมโบสถ์เสร็จ

หลังเสร็จงานกฐินปีนั้น ท่านเจ้าอาวาสเอาเงินกฐินฝากเก็บเข้าบัญชีวัด แล้วทำเรื่องขออนุญาตซ่อมโบสถ์ทันที

ความจริงก่อนหน้านั้น ท่านมองหาช่างที่มีความสามารถไว้แล้ว ให้ช่างมาตรวจสภาพเบื้องต้นแล้ว ช่างบอกว่าซ่อมให้เหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่เกิน ๑๐ ล้าน 

ท่านเจ้าอาวาสก็หมายใจไว้ว่า จะหาเงินและลงมือซ่อมไปพร้อมๆ กัน เงินหมดก็รอ ได้เงินก็ทำต่อ เชื่อว่าไม่นานคงเสร็จ

เรื่องการขออนุญาต ทราบความคืบหน้าจากท่านเจ้าอาวาสว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบออกแบบและประมาณการค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว 

ตั้งงบซ่อมไว้เป็นเงิน ๒๓ ล้าน !

เงื่อนไขคือ ขอให้ทางวัดหาเงินให้ได้ ๖ ล้าน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะตั้งงบสมทบ ๑๗ ล้าน ได้รับอนุมัติงบเมื่อไรก็ซ่อมได้เมื่อนั้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเป็นผู้ถืองบเอง

ท่านเจ้าอาวาสวัดเทพอาวาสก็ประกาศดังๆ เหมือนกับที่ท่านเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตรเคยประกาศมาแล้วว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบจะไม่ได้กินเงินของวัดเทพอาวาสแม้แต่บาทเดียว

จากปีนั้นจนปีนี้ เรื่องขออนุญาตเงียบหายไปกับสายลม

ท่านเจ้าอาวาสไปทวงถามเป็นสิบๆ ครั้ง จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ก็ไม่มีคำตอบใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ทางวัดจะซ่อมตามแบบแปลนแผนผังที่หน่วยงานที่รับผิดชอบออกแบบไว้แล้วทุกอย่าง และขอให้จัดเจ้าหน้าที่มาคุมงานด้วย โดยทางวัดยินดีจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ตามอัตราของทางราชการ จะกี่วันกี่เดือนก็ตามจนกว่าจะซ่อมเสร็จ

ทางราชการไม่ช่วยก็ไม่ว่าอะไรเลย ขอเพียงอย่างเดียว วัดจะหาเงินเอง ถือเงินเอง จ่ายเอง เท่านั้น

จะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ก็คงเงียบหายไปกับสายลม!!

—————–

ในระหว่าง ๓ ปีมานี้ ผู้ที่มาเห็นสภาพโบสถ์เก่าของวัดเทพอาวาสก็มักจะเอ่ยตำหนิติเตียนอยู่ไม่ขาดปากว่า เจ้าอาวาสวัดนี้ไปมัวทำอะไรอยู่ปล่อยให้โบสถ์พังอยู่ได้ ไม่รู้จักซ่อม

ที่ตำหนิฝากมากับผมก็หลายราย

และที่สำคัญก็คือ เกิดข้อกังขาพุ่งเป้าไปที่ท่านเจ้าอาวาสจังๆ ว่า ไหนบอกว่าจะซ่อมโบสถ์ ทอดกฐินได้ปีละล้านกว่า เอาเงินไปทำอะไร ฯลฯ

แต่เป็นบุญนักหนาที่เถ้าแก่โรงงานซึ่งรับเป็นเจ้าภาพทอดกฐินเข้าใจเบื้องหลังของปัญหาเป็นอันดี ศรัทธาจึงไม่ถอย

มาเป็นเจ้าภาพทอดกฐินติดต่อกัน ๓ ปีแล้ว และจะเป็นต่อไปอีก

ในขณะที่โบสถ์เก่าวัดเทพอาวาสก็ทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ 

เห็นภาพไหมครับ การยื้อกันระหว่าง –

ผู้มีอำนาจ-ที่คิดแต่จะเอาผลประโยชน์ 

กับวัด-ที่กลัวโบสถ์จะพัง

—————–

นึกถึงเรื่องในชาดก เรื่องคดีแย่งลูกระหว่างนางยักษ์ที่แปลงตัวเหมือนแม่ กับแม่จริงๆ

พระโพธิสัตว์ทำหน้าที่ตัดสินคดีนี้ ใช้วิธีให้คู่กรณีจับเด็กทางหัวคนหนึ่ง ทางเท้าคนหนึ่ง 

แล้วสั่งให้ดึงแย่งกัน

ใครได้เด็กก็เอาเด็กไป

นางยักษ์คิดแต่จะเอาเด็กไปกินให้ได้

แม่จริงคิดแต่จะรักษาชีวิตลูก

พอเด็กร้องด้วยเจ็บเพราะถูกดึงตัว 

แม่จริงทนสงสารลูกไม่ไหว ยอมปล่อยมือ 

ในขณะที่แม่ปลอมยังคงยึดเด็กไว้แน่น

พระโพธิสัตว์รู้ได้ทันทีว่าแม่จริงคือคนไหน 

จึงตัดสินให้คืนเด็กให้กับแม่จริง

—————–

ใครจะเป็นพระโพธิสัตว์ตัดสินคืนโบสถ์ให้วัดเทพอาวาสครับ?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๙

………………………………………

รอพระโพธิสัตว์มาตัดสิน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *