สามีจิกรรม – ทำวัตร (บาลีวันละคำ 3,330)
สามีจิกรรม – ทำวัตร
ทำอะไรกัน
อ่านว่า สา-มี-จิ-กำ ทำ-วัด
มีคำบาลีอยู่ 3 คำ คือ “สามีจิ” “กรรม” และ “วัตร”
(๑) “สามีจิ”
อ่านว่า สา-มี-จิ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน, ดี) + อจฺ (ธาตุ = บูชา, เคารพ, นับถือ) + อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น ม แล้วทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ ส เป็น อา (สํ > สม > สาม), ลง อิ อาคมระหว่างอุปสรรคกับธาตุแล้วทีฆะเป็น อี
: สํ > สม > สาม + อิ + อจฺ = สามิจฺ + อิ = สามิจิ > สามีจิ แปลตามศัพท์ว่า “การบูชาอย่างดี”
พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์ (THE PALI TEXT SOCIETY’S PALI-ENGLISH DICTIONARY edited by T. W. RHYS DAVIDS) เสนอความเห็นว่า รากเดิมมาจาก “สมฺมา” ซึ่งแปลว่า โดยทั่วถึง, โดยสมควร, โดยถูกต้อง, โดยชอบ, ตามสมควร, ดีที่สุด, โดยสมบูรณ์ (thoroughly, properly, rightly; in the right way, as it ought to be, best, perfectly)
“สมฺมา” บาลีเก่ายุคพระเวทเป็น “สมฺยจฺ” (samyac) แจกรูปเป็น “สมีจิหฺ” (samīcīḥ) แล้วกลายมาเป็น “สามีจี” และ “สามีจิ”
พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกว่า
“สามีจิ : (คำคุณศัพท์) ชอบ, งาม.”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
“สามีจี : (คำคุณศัพท์) . สดุดี; praise.”
(๒) “กรรม”
บาลีเป็น “กมฺม” (กำ-มะ) รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ร ที่ต้นปัจจัย
: กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
สามีจิ + กมฺม = สามีจิกมฺม > สามีจิกรรม
พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกว่า
“สามีจิกมฺม : การทำชอบ, การเคารพ.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“สามีจิกรรม : การชอบ, กิจชอบ, การกระทำที่สมควร, การแสดงความเคารพ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า
“สามีจิกรรม (Sāmīcikamma) : proper act of respect; opportune gestures of respect.”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สามีจิกมฺม” เป็นอังกฤษว่า proper act, homage (การกระทำที่สมควร, การแสดงความเคารพ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สามีจิกรรม : (คำนาม) การแสดงความเคารพตามธรรมเนียมของพระเณรในระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย เช่น ระหว่างพระอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก ระหว่างอาจารย์กับอันเตวาสิก หรือระหว่างผู้แก่พรรษากับผู้อ่อนพรรษากว่า. (ส.; ป. สามีจิกมฺม).”
(๓) “วัตร”
(ก) บาลีเป็น “วตฺต” (วัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก วตฺตฺ (ธาตุ = ถือเอา, ประพฤติ) + อ (อะ) ปัจจัย
: วตฺต + อ = วตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ควรถือประพฤติ”
(ข) บาลีเป็น “วต” (วะ-ตะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) วตฺ (ธาตุ = เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย
: วตฺ + อ = วต แปลตามศัพท์ว่า “การที่เป็นไปตามปกติ”
(2) วชฺ (ธาตุ = ปรุงแต่ง, กระทำ) + อ (อะ) ปัจจัย, แปลง ช เป็น ต
: วชฺ > วต + อ = วต แปลตามศัพท์ว่า “การอันเขาปรุงแต่ง”
“วตฺต” หรือ “วต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วัตร” หมายถึงกิจที่ควรถือประพฤติ, กิจพึงกระทำ, ข้อปฏิบัติ, ความประพฤติ, ธรรมเนียม, ประเพณี, สิ่งที่ทำ, หน้าที่, การบริการ, ประเพณี, งาน (observance, vow, virtue, that which is done, which goes on or is customary, duty, service, custom, function)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วัตร, วัตร– : (คำนาม) กิจพึงกระทำ เช่น ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น, หน้าที่ เช่น ข้อวัตรปฏิบัติ, ธรรมเนียม เช่น ศีลาจารวัตร; ความประพฤติ เช่น พระราชจริยวัตร, การปฏิบัติ เช่น ธุดงควัตร อุปัชฌายวัตร, การจำศีล. (ป. วตฺต; ส. วฺฤตฺต).”
ทำ + วัตร = ทำวัตร แปลว่า “ทำกิจที่พึงทำ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ทำวัตร : (คำกริยา) กระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์เช้าคํ่าของพุทธบริษัท, ทําวัตรพระ ก็ว่า; ทําสามีจิกรรมตามธรรมเนียมของพระเณร.”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามเป็นดังนี้ –
“ทำวัตร : (คำกริยา) กระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์เช้าคํ่าของพุทธบริษัท, ทําวัตรพระ ก็ว่า; ทําสามีจิกรรมตามธรรมเนียมของพระภิกษุ เช่น ก่อนเข้าพรรษาพระภิกษุต้องไปทำวัตรพระอุปัชฌาย์ที่อยู่ต่างจังหวัด.”
ดูเพิ่มเติม:
“สามีจิกรรม” บาลีวันละคำ (1,068) 21-4-58
“ทำวัตร” บาลีวันละคำ (2,253) 13-8-61
อภิปรายขยายความ :
ความหมายอย่างหนึ่งของ “ทำวัตร” ตามคำนิยามของพจนานุกรมฯ ก็คือ “ทําสามีจิกรรม” เป็นอันว่า “ทำวัตร” กับ “ทําสามีจิกรรม” มีความหมายอย่างเดียวกัน แต่ “ทำวัตร” ยังหมายถึง “กระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์” อีกด้วย แต่การกระทํากิจที่พึงกระทําตามหน้าที่หรือธรรมเนียมเช่นไหว้พระสวดมนต์ไม่เรียกว่า “ทําสามีจิกรรม” “ทำวัตร” จึงมีความหมายกว้างกว่า “ทําสามีจิกรรม”
“ทําสามีจิกรรมตามธรรมเนียมของพระภิกษุ” คือทำอะไร?
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
สามีจิกรรม : การชอบ, กิจชอบ, การกระทำที่เหมาะควร หมายถึง การกระทำหรืออาการปฏิบัติที่แสดงความเคารพ นับถือ เอื้อเฟื้อ ให้เหมาะสม มักมาในชุดคำว่า อภิวาท (กราบไหว้) ปัจจุฐาน (ลุกรับ) อัญชลีกรรม (ประนมมือ) และสามีจิกรรม (การปฏิบัติที่เหมาะควร) โดยที่ว่าสามีจิกรรมเป็นคำรวมๆ
ดังมีคำอธิบายว่า สามีจิกรรม คือการปฏิบัติที่เหมาะควรอย่างอื่นๆ นอกเหนือจากการกราบไหว้ ลุกรับ และอัญชลี เช่น พัดวี จัดน้ำถวาย ปูลาดอาสนะ จัดที่นั่ง จัดที่นอน ล้างเท้าให้ (ตามที่เหมาะควร) โดยนัยนี้ สามีจิกรรมจึงมักเป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับ
…………..
ก่อนเข้าพรรษา 7 วัน หรือหลังเข้าพรรษา 7 วัน พระสงฆ์ตามวัดในชนบทสมัยก่อนมีธรรมเนียมไปสักการะพระเถระที่เป็นพระอุปัชฌาย์และคู่สวด เรียกกันว่า “ไปส่งนิสัย” หรือ “ไปทำวัตร” ไม่ได้ยินเรียกว่า “ไปทําสามีจิกรรม” อาจเป็นเพราะเป็นคำศัพท์สูง พระบ้านนอกไม่ค่อยรู้จักก็เป็นได้
การทำสามีจิกรรมหรือทำวัตรหรือส่งนิสัยนี้ พระสงฆ์ในคณะสงฆ์ไทยยังถือปฏิบัติกันอยู่อย่างเคร่งครัด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ที่ใดไม่มีการเคารพนับถือกัน
: ที่นั้นไม่น่าอยู่
#บาลีวันละคำ (3,330)
25-7-64