บาลีวันละคำ

จิตวิทยา (บาลีวันละคำ 3,328)

จิตวิทยา

รู้เรื่องจิตมีมาก แต่รู้ทันจิตมีน้อย

อ่านว่า จิด-ตะ-วิด-ทะ-ยา

ประกอบด้วยคำว่า จิต + วิทยา

(๑) “จิต

บาลีเป็น “จิตฺต” (จิด-ตะ) รากศัพท์มาจาก จินฺต (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย, ลบ นฺ ที่ จินฺตฺ (จินฺต > จิต

: จินฺต + = จินฺตต > จิตฺต แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ทำหน้าที่คิด” (2) “สิ่งที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์” หมายถึง จิต, ใจ, ความคิด (the heart, mind, thought)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จิตฺต” ไว้ดังนี้ –

The heart (psychologically), i. e. the centre & focus of man’s emotional nature as well as that intellectual element which inheres in & accompanies its manifestations; i. e. thought. (หัวใจ [ทางจิตวิทยา] คือศูนย์และจุดรวมของธรรมชาติที่เกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ กับส่วนของสติปัญญาซึ่งอยู่ในการแสดงออกเหล่านั้น; กล่าวคือ ความคิด)

จิตฺต” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “จิต” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จิต, จิต– : (คำนาม) ใจ, สิ่งที่มีหน้าที่รู้ คิดและนึก, (โบราณ เขียนว่า จิตร), ลักษณนามว่า ดวง. (ป. จิตฺต).”

(๒) “วิทยา

บาลีเป็น “วิชฺชา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง ทฺย (คือ (วิ)-ทฺ + (ณฺ)-) เป็น ชฺช + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วิทฺ + ณฺย = วิทฺณย > วิทฺย > วิชฺช + อา = วิชฺชา แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” หรือ “ตัวรู้” หมายถึง ความรู้, ปัญญาหยั่งรู้ (knowledge; transcendental wisdom) 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิชฺชา” ว่า science, study, higher knowledge (วิทยาศาสตร์, การศึกษา, ความรู้ชั้นสูง)

บาลี “วิชฺชา” สันสกฤตเป็น “วิทฺยา” 

โปรดสังเกตว่า ในขั้นตอนการกลายรูปของบาลี เป็น “วิทฺย” ก่อนแล้วจึงเป็น “วิชฺช

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

วิทฺยา : (คำนาม) วิทยา, พุทธิ; ศึกษา; ศาสตร์; พระทุรคาเทวี; ต้นไม้; มายาคุฏิกา; ยาเม็ดวิเศษหรือลูกอมอันสำเร็จด้วยเวทมนตร์ ใส่ปากบุทคลเข้าไปอาจจะบันดาลให้บุทคลขึ้นสวรรค์หรือเหาะได้; knowledge; learning; science; the goddess Durgā; a tree; a magical pill, by putting which in to the mouth a person has the power of ascending to heaven or traversing the air.”

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์บาลี คำว่า “วิชฺชา” มักใช้ในความหมายเฉพาะ คือหมายถึงญาณปัญญาที่บรรลุได้ด้วยการฝึกจิต 

วิชฺชา” ถ้าคงรูปบาลี ในภาษาไทยใช้ว่า “วิชา” (ตัด ออกตัวหนึ่ง)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิชา : (คำนาม) ความรู้, ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน, เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ. (ป. วิชฺชา; ส. วิทฺยา).”

วิชา” ตามความหมายในภาษาไทย ตรงกับคำว่า “สิปฺป” (สิบ-ปะ) ที่เราเอามาใช้ว่า “ศิลปะ” 

สิปฺป” ในบาลีหมายถึง ความสามารถที่จะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เป็นผลสำเร็จได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ทำได้ทำเป็นไม่ว่าจะในเรื่องอะไร นั่นแหละคือ “สิปฺปศิลปะ” หรือ “วิชา” ตามที่เข้าใจกันในภาษาไทย

วิทยา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิทยา : (คำนาม) ความรู้, มักใช้ประกอบกับคําอื่น เช่น วิทยากร วิทยาคาร จิตวิทยา สังคมวิทยา. (ส.).”

จิต + วิทยา = จิตวิทยา 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

จิตวิทยา : (คำนาม) วิชาว่าด้วยจิต, วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งว่าด้วยปรากฏการณ์ พฤติกรรม และกระบวนการของจิต.”

จิตวิทยา” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า psychology

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล psychology เป็นบาลีว่า:

(1) cetasikavijjā เจตสิกวิชฺชา (เจ-ตะ-สิ-กะ-วิด-ชา) = วิชาว่าด้วยสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิต

(2) ajjhattavijjā อชฺฌตฺตวิชฺชา (อัด-ชัด-ตะ-วิด-ชา) = วิชาว่าด้วยสิ่งที่มีอยู่ในภายใน (ซึ่งหมายถึง “จิต”)

คำว่า “เจตสิกวิชฺชา” ถ้าเรียกเป็นคำไทยก็คือ “เจตสิกวิทยา” โปรดสังเกตว่าพจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้ใช้คำว่า “จิตฺตวิชฺชา” ซึ่งจะตรงกับที่เราใช้ว่า “จิตวิทยา” 

หลักวิชาพระอภิธรรมแบ่งเนื้อหาเป็น จิต เจตสิก รูป นิพพาน (ดังที่มีคำย่อว่า จิ. เจ. รุ. นิ.) นั่นคือ “จิต” กับ “เจตสิก” เป็นคนละอย่างกัน “จิต” ว่าด้วยสภาพของจิตล้วนๆ ส่วน “เจตสิก” ว่าด้วยอาการของจิต หรือกระบวนการทำงานของจิต หรืออารมณ์ต่างๆ ที่จิตแสดงออกมา

พูดเทียบให้เห็นความแตกต่าง “จิตวิทยา” เรียนเพื่อรู้ว่าจิตคืออะไร แต่ “เจตสิกวิทยา” เรียนเพื่อรู้ว่าควรทำอย่างไรกับจิต

อภิปราย :

เมื่อพูดว่า “จิตวิทยา” มักมีผู้นำคำนี้ไปใช้ในความหมายว่า เสแสร้งแกล้งกระทำหรือพูดกับใครบางคนเพื่อให้เขาสบายใจหรือเกิดความรู้สึกในทางที่ดี ตัวอย่างเช่นพูดชมเด็กว่าเก่ง เพื่อให้เด็กมีกำลังใจในการเล่าเรียนเป็นต้น ทั้งๆ ที่เด็กไม่ได้เก่งจริง เรียกกันว่า “ใช้จิตวิทยา” หรือพูดทับศัพท์คำอังกฤษว่า “ไซโค” (ตัดมาจาก psychology) การกระทำหรือพูดเช่นนั้นดูคล้ายกับการหลอกลวง แต่มิใช่เพื่อประโยชน์ของผู้กระทำ หากแต่เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกกระทำ

น่าพิจารณาว่า การใช้ “จิตวิทยา” เพื่อวัตถุประสงค์เช่นว่านี้เป็นความมุ่งหมายหรือขอบเขตของวิชา “จิตวิทยา” ด้วยหรือเปล่า หรือเป็นเพียงคนบางคนเอา “จิตวิทยา” มาประยุกต์ใช้

…………..

อนึ่ง มีข้อสังเกตว่า คำว่า “จิตวิทยา” นี้ มีคนส่วนหนึ่งนิยมอ่านว่า จิด-วิด-ทะ-ยา (ไม่มี -ตะ-) และบางทีก็ “รักง่าย” จนถึงกับพูดเป็น จิด-วิด-ยา (ไม่มีทั้ง -ตะ- ไม่มีทั้ง -ทะ-) ก็มี 

ที่ว่ามีข้อสังเกต ก็คือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำอ่าน “จิตวิทยา” ไว้อย่างเดียวว่า จิด-ตะ-วิด-ทะ-ยา (จิด-ตะ-) แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกคำอ่านไว้ 2 อย่าง คืออ่านว่า จิด-ตะ-วิด-ทะ-ยา (มี -ตะ-) ก็ได้ อ่านว่า จิด-วิด-ทะ-ยา (ไม่มี -ตะ-) ก็ได้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของความ “รักง่าย” ว่ามีมากขึ้นทุกวัน 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่จะพิมพ์ในอนาคต อาจบอกคำอ่านเพิ่มขึ้นอีกแบบหนึ่ง คือ “จิตวิทยา” อ่านว่า จิด-วิด-ยา ก็ได้ 

ถึงตอนนั้นภาษาไทยของเราก็เจริญจนไม่รู้เรื่องแล้ว!

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ไม่ว่าจะฉลาดเรื่องจิตสักเพียงใด

: ถ้าขาดความจริงใจก็หมดดี

#บาลีวันละคำ (3,328)

23-7-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *