บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความเคารพนับถือ

ความเคารพนับถือ

——————-

เมื่อวันก่อน (๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔) ผมมีกิจจะต้องไปทำแถวๆ ตลาดราชบุรี เสร็จกิจแล้วก็เดินกลับบ้าน เดินลัดเข้าทางวัดช่องลม ถือโอกาสไหว้พระ พระที่มีชื่อของวัดช่องลมคือหลวงพ่อแก่นจันทน์ ไหว้พระแล้วก็เดินเลียบพระอุโบสถไปออกด้านหลัง ซ้ายมือเป็นพระอุโบสถ ขวามือเป็นเมรุ เลี้ยวขวาหลังเมรุก็จะเป็นคลอง ข้ามคลองก็ลัดเลาะทะลุไปถึงบ้านผม

ที่หลังเมรุก่อนจะข้ามคลอง ผมเจอเด็กผู้ชาย ๒ คน อายุคงราวๆ ๖-๗ ขวบ คงมีบ้านอยู่ริมคลอง กำลังเล่นฟันดาบพลาสติกกันตามประสาเด็ก ผมเดินไปถึง เด็กคนที่ตัวใหญ่กว่าก็ยกมือไหว้ คนตัวเล็กก็ยกมือไหว้ตาม เด็กไม่รู้จักผม ผมก็ไม่รู้จักเด็ก

ผมบอกเด็กว่า “อย่าเจ็บอย่าไข้ ขอให้เจริญๆ เถอะลูก” แล้วก็เดินผ่านไป เด็กก็เล่นกันต่อ-ตามประสาเด็ก

……………..

ผมรู้สึกเหมือนได้กินยาอายุวัฒนะ วัฒนธรรมยกมือไหว้คนแก่นี่ผมได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เป็นเด็ก สมัยเป็นเด็กอายุเท่านี้เจอคนแก่ที่ไหนเราจะยกมือไหว้เหมือนไหว้พระ ผู้ใหญ่สั่งสอนไว้อย่างนั้น

๗๐ กว่าปีผ่านไป ต้นไม้วัฒนธรรมต้นนี้ยังมีพืชพันธุ์หลงเหลืออยู่ ผู้ใหญ่ยังสั่งสอนเด็ก พ่อแม่ยังสั่งสอนลูกหลาน แม้จะน้อยลงแล้ว แต่ก็ยังไม่สูญพันธุ์ นี่แหละที่ผมว่า-รู้สึกเหมือนได้กินยาอายุวัฒนะ

เด็กยกมือไหว้ผม ผมได้อะไรมาบ้าง เด็กเสียอะไรไปบ้าง ในแง่วัตถุไม่ได้ไม่เสียอะไร แต่คุณค่าทางจิตใจมีมหาศาล

ความอ่อนโยนในดวงใจ ความละมุนละไมในดวงจิต ภาษาบาลีท่านเรียกว่า “มุทุ อุชุํ อลํกมฺมนิยํ จิตใจอ่อนโยนนุ่มนวลควรแก่การงาน” จากคุณสมบัติในจิตใจตรงนี้ คนเราก็พร้อมที่จะทำความดีงามอื่นๆ ต่อไปได้อีกเป็นอเนกอนันต์

การเคารพนับถือคนแก่ หรือเคารพนับถือผู้ใหญ่ หรือพูดเป็นคำกลางๆ-การเคารพนับถือกัน เด็กสมัยนี้คงเห็นเป็นเรื่องไร้สาระ จะต้องเคารพนับถือกันทำไม ไม่ใช่พ่อแม่สักหน่อย (แม้แต่พ่อแม่กูเอง กูยังไม่เคารพนับถือเล้ย ฮ่า ฮ่า ฮ่า) 

เราจึงอยู่กันอย่างกระด้าง แข็งทื่อเข้าใส่กัน แล้วก็พากันเรียกเสียสวยหรูว่า ความเสมอภาค อิสรภาพ

แท้จริงแล้วเรากำลังอยู่กันอย่างสัตว์โดยไม่รู้ตัว

สัตว์มันอยู่รวมกันเป็นฝูง มันอยู่ได้โดยไม่ต้องเคารพนับถือคุณความดีของกัน มันเกรงกลัวกันที่ความใหญ่โตของร่างกายและเขี้ยวเล็บที่จะทำร้ายกันได้เจ็บปวดรุนแรงกว่าเท่านั้น

แต่แม้กระนั้น สัตว์บางชนิดมันยังคิดได้-แม้จะเป็นแค่เรื่องในนิทานชาดก แต่ก็สอนคุณค่าทางจิตใจให้มนุษย์เราได้-อย่างเช่นในติตติรชาดกเป็นต้น

ขออนุญาตยกมาให้อ่านกันตรงนี้เลย

ชาดกที่ชื่อ “ติตติรชาดก” (แปลว่า ชาดกว่าด้วยนกกระทา) ในพระไตรปิฎกมี ๔ เรื่อง เรื่องราวแตกต่างกัน ติตติรชาดกที่ประสงค์คือเรื่องนี้ 

……………..

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งอยู่แถบหิมพานต์ สัตว์ ๓ สหาย คือ นกกระทา ๑ ลิง ๑ ช้าง ๑ อาศัยต้นไทรใหญ่นั้นอยู่ 

ทั้งสามสัตว์นั้นมิได้เคารพ มิได้ยำเกรงกัน มีความประพฤติไม่กลมเกลียวกันอยู่

จึงสัตว์ ๓ สหายนั้นปรึกษากันว่า โอ พวกเรา ทำอย่างไรจึงจะรู้ได้แน่ว่าบรรดาพวกเราผู้ใดเป็นใหญ่โดยกำเนิด พวกเราจะได้สักการะ เคารพ นับถือ บูชาผู้นั้น แลจะได้ตั้งอยู่ในโอวาทของผู้นั้น

จึงนกกระทาและลิงถามช้างว่า สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง

ช้างตอบว่า สหายทั้งหลาย เมื่อฉันยังเล็ก ฉันเดินคร่อมต้นไทรนี้ไว้ในหว่างขาหนีบได้ ยอดไทรพอระท้องฉัน ฉันจำเรื่องเก่าได้ดังนี้

นกกระทากับช้างถามลิงว่า สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง

ลิงตอบว่า สหายทั้งหลาย เมื่อฉันยังเล็ก ฉันนั่งบนพื้นดินเคี้ยวกินยอดไทรนี้ ฉันจำเรื่องเก่าได้ดังนี้

ลิงและช้างถามนกกระทาว่า สหาย ท่านจำเรื่องเก่าแก่อะไรได้บ้าง

นกกระทาตอบว่า สหายทั้งหลาย ในสถานที่โน้นมีต้นไทรใหญ่ ฉันกินผลจากต้นไทรใหญ่นั้นแล้วได้ถ่ายมูลไว้ ณ สถานที่นี้ ต้นไทรต้นนี้เกิดจากต้นไทรใหญ่นั้น เพราะฉะนั้น ฉันจึงเป็นใหญ่กว่าโดยกำเนิด

ลิงกับช้างได้กล่าวกับนกกระทาว่า บรรดาพวกเรา ท่านเป็นผู้ใหญ่กว่าโดยกำเนิด พวกเราจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชาท่าน และจะตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นกกระทาได้ให้ลิงกับช้างสมาทานศีลห้าและตนเองก็ประพฤติสมาทานในศีลห้า 

สัตว์ทั้งสามมีความเคารพยำเกรงกัน มีความประพฤติกลมเกลียวกันอยู่ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตกได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วัตรจริยานี้แลได้ชื่อว่า ติตติริยพรหมจรรย์

เย  วุฑฺฒมปจายนฺติ

นรา  ธมฺมสฺส  โกวิทา

ทิฏฺเฐ  ธมฺเม  จ  ปาสํสา

สมฺปราโย  จ  สุคฺคติ. 

คนเหล่าใดฉลาดในธรรม

ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่

ย่อมเป็นผู้อันมหาชนสรรเสริญในปัจจุบันนี้

และมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ที่มา: เสนาสนขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๒๖๒-๒๖๓

ติตติรชาดก: เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๗

ท่านผู้ใดปรารถนาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ผมปักป้ายบอกทางไว้ให้แล้ว หรือถ้าจะว่าไปก็อุปมาเหมือนคดข้าวใส่จานยกมาวางไว้ตรงหน้าพร้อมแล้ว ตักใส่ปากกันเองนะครับ ไม่ต้องให้ป้อน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๓:๒๑

………………………….

ภาพประกอบ: จาก google

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *