บาลีวันละคำ

โลกจินดา (บาลีวันละคำ 2,797)

โลกจินดา

อจินไตยข้อที่สี่

อ่านว่า โลก-กะ-จิน-ดา

ประกอบด้วยคำว่า โลก + จินดา

(๑) “โลก” บาลีอ่านว่า โล-กะ

(ก) ในแง่ภาษา

(1) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุชฺ > ลุก > โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป

(2) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + ปัจจัย แปลง เป็น แผลง อุ เป็น โอ

: ลุจฺ > ลุก > โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป

(3) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ) + ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างอันเขาเห็นอยู่

(4) “โลก” มีรากศัพท์มาจาก โลกฺ (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ปัจจัย

: โลก + = โลก แปลตามศัพท์ว่า “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น

ศัพท์ว่า “โลก” เป็นปุงลิงค์

(ข) ในแง่ความหมาย

(1) โลก หมายถึง ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น

(2) โลก หมายถึง สิ่งมีชีวิต เช่นคน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

(3) โลก หมายถึง สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก

(4) โลก หมายถึง ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”

(5) โลก หมายถึงวิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์

(6) โลก หมายถึง ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม

(๒) “จินดา

บาลีเป็น “จินฺตา” (จิน-ตา, –ตา ต เต่า ภาษาไทย –ดา ด เด็ก) รากศัพท์มาจาก จินฺตฺ (ธาตุ = คิด) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จินฺตฺ + = จินฺต + อา = จินฺตา แปลตามศัพท์ว่า “การคิด” (“the act of thinking”) หมายถึง ความคิด (thought)

โลก + จินฺตา = โลกจินฺตา (โล-กะ-จิน-ตา) แปลว่า “ความคิดเรื่องโลก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โลกจินฺตา” ว่า thinking over the world, philosophy (การคิดถึงเรื่องโลก, ปรัชญา)

โลกจินฺตา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “โลกจินดา” (โลก-กะ-จิน-ดา) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

โลกจินดา” เป็นข้อหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า “อจินไตย

คำว่า “อจินไตย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

อจินไตย : (คำวิเศษณ์) ที่พ้นความคิด, ไม่ควรคิด, (สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน คือ พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑). (ป. อจินฺเตยฺย; ส. อจินฺตฺย).”

ความคิดเรื่องโลก” ในข้อสุดท้ายนั่นแหละคือ “โลกจินดา

เรื่องอจินไตยมาในพระไตรปิฎก คือคัมภีร์อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 77 ขอยกมาโดยประสงค์เพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

จตฺตารีมานิ  ภิกฺขเว  อจินฺเตยฺยานิ  น  จินฺเตตพฺพานิ  ยานิ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย 4 อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

กตมานิ  จตฺตาริ.

อจินไตย 4 คืออะไรบ้าง

พุทฺธานํ  ภิกฺขเว  พุทฺธวิสโย  อจินฺเตยฺโย  น  จินฺเตตพฺโพ  ยํ จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

พุทธวิสัยแห่งพระพุทธทั้งหลายเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

ฌายิสฺส  ภิกฺขเว  ฌานวิสโย  อจินฺเตยฺโย  น  จินฺเตตพฺโพ  ยํ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌานเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำปากเปล่า

กมฺมวิปาโก  ภิกฺขเว  อจินฺเตยฺโย  น  จินฺเตตพฺโพ  ยํ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

ผลของกรรมเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

โลกจินฺตา  ภิกฺขเว  อจินฺเตยฺยา  น  จินฺเตตพฺพา  ยํ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

โลกจินดา (ความคิดเรื่องโลก) เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

…………..

คัมภีร์มโนรถปูรณีอันเป็นอรรถกถาของอังคุตรนิกาย ขยายความคำว่า “โลกจินฺตา” ไว้ดังนี้

…………..

โลกจินฺตาติ  เกน  นุ  โข  จนฺทิมสุริยา  กตา  เกน  มหาปฐวี  เกน  มหาสมุทฺโท  เกน  สตฺตา  อุปฺปาทิตา  เกน  ปพฺพตา  เกน  อมฺพตาลนาฬิเกราทโยติ  เอวรูปา  โลกจินฺตา.

คำว่า โลกจินฺตา หมายถึงความคิดเรื่องโลก เช่นว่า-ใครหนอสร้างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ใครสร้างแผ่นดินใหญ่ ใครสร้างมหาสมุทร ใครสร้างสัตว์ให้เกิด ใครสร้างภูเขา ใครสร้างต้นมะม่วง ต้นตาล และต้นมะพร้าวเป็นต้น

ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 534

…………..

คำว่า “โลกจินฺตา” หรือ “โลกจินดา” นี้ บางท่านเข้าใจว่าหมายถึง-ความคิดจิตใจของชาวโลก รวมตลอดถึงพฤติกรรมพฤติการณ์ต่างๆ ของมนุษย์และสัตว์ เช่น-ทำไมคนเราจึงชอบทำอย่างนั้น ชอบคิดอย่างนี้ ซึ่งชวนให้เห็นว่าเป็นเรื่องซับซ้อนหาเหตุผลไม่ได้ จึงจัดว่าเป็น “อจินไตย” เรื่องที่ไม่ควรคิด

แต่เมื่อดูคำอธิบายของอรรถกถาแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น “โลกจินดา” หมายถึงความคิดสงสัยเรื่องโลก เช่นโลกเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครสร้างโลกเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่หาคำตอบแน่นอนไม่ได้ บางทฤษฎีที่เคยเชื่อกัน แต่มาภายหลังก็ถูกหักล้างว่าไม่ใช่เช่นนั้น แม้ทฤษฎีที่ค้นพบใหม่ๆ ตอนนี้ ในอนาคตก็อาจจะถูกหักล้างอีก เป็นอันหาคำตอบแน่นอนไม่ได้อยู่นั่นเอง

ปัญหา “โลกจินดาใครสร้างโลก” นี้ บางศาสนาตอบคลุมลงไปว่า “พระเจ้าสร้าง” แต่เมื่อมีคนช่างสงสัยย้อนถามว่า แล้วใครสร้างพระเจ้า คำตอบที่ว่า-พระเจ้าเป็นสยัมภู เกิดเองเป็นเองไม่มีใครสร้าง ก็ชวนให้สรุปว่า ก็ถ้าพระเจ้าเกิดเองได้ โลกและสรรพสิ่งจะเกิดเองบ้างไม่ได้หรือ

จะเห็นได้ว่า ในที่สุดก็ไม่มีคำตอบที่สมเหตุสมผล ท่านจึงว่า “โลกจินดา” เป็น “อจินไตย” เรื่องที่ไม่ควรคิดอย่างหนึ่ง

ข้อสังเกตเรื่องถ้อยคำ :

คำในชุด “อจินไตย” มี 4 คำ คือ –

พุทฺธวิสโย” ในภาษาไทยใช้ว่า “พุทธวิสัย

ฌานวิสโย” ในภาษาไทยใช้ว่า “ฌานวิสัย

กมฺมวิปาโก” ในภาษาไทยใช้ว่า “กรรมวิบาก

โลกจินฺตา” ในภาษาไทยใช้ว่า “โลกจินดา

ที่ขอให้สังเกตก็คือ 2 คำแรกท่านใช้คำว่า “วิสย” หรือ “วิสัย” คือ “พุทธวิสัย” “ฌานวิสัย

แต่ข้อ 3 และข้อ 4 ท่านไม่ได้ใช้คำว่า “วิสย

ข้อ 3 ท่านใช้คำว่า “กมฺมวิปาก” ในภาษาไทยใช้ว่า “กรรมวิบาก” ไม่ใช่ “กรรมวิสัย

ข้อ 4 ท่านใช้คำว่า “โลกจินฺตา” ในภาษาไทยใช้ว่า “โลกจินดา” ไม่ใช่ “โลกวิสัย

เคยเห็นบางท่านจัดระเบียบถ้อยคำเสียใหม่ บอกว่า “อจินไตย” มี 4 อย่าง คือ –

พุทธวิสัย

ฌานวิสัย

กรรมวิสัย

โลกวิสัย

จะเห็นว่าเข้าชุดกันดีมาก แต่โปรดทราบว่า ต้นฉบับในพระไตรปิฎกท่านไม่ได้เรียกอย่างนี้

เวลานำไปอ้างอิงหรือเอ่ยถึง สมควรใช้คำให้ตรงกับต้นฉบับของท่าน หาไม่จะกลายเป็น “อจินไตย” ชุดใหม่ ไม่ใช่ “อจินไตย” ของพระพุทธเจ้า

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้จักโลกรู้จักพิภพจบสกล

: ใจของตนไม่รู้จักก็ดักดาน

#บาลีวันละคำ (2,797)

8-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *