บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรากำลังป่วยด้วยโรค “สนใจตามเทศกาล”

เรากำลังป่วยด้วยโรค “สนใจตามเทศกาล” 

—————————————–

ชื่อพระสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลังจากตรัสรู้ที่เราเรียกกันว่า ปฐมเทศนา สะกดเป็นคำบาลีว่า “ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตสุตฺต” อ่านว่า ทำ-มะ-จัก-กับ-ปะ-วัด-ตะ-นะ-สุด-ตะ แปลว่า “พระสูตรอันเปรียบเสมือนการหมุนกงล้อธรรม”

มีปัญหาว่า ชื่อพระสูตรนี้ในภาษาไทยสะกดอย่างไร?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ไม่ได้เก็บคำที่เป็นชื่อพระสูตรนี้ไว้ จึงทำให้ไม่มีเครื่องมือตัดสิน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูที่คำว่า “ธรรมจักร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า 

……………………………………

ธรรมจักร : (คำนาม) ชื่อปฐมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระเบญจวัคคีย์ เรียกเต็มว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

……………………………………

เป็นอันได้คำตอบว่า ชื่อพระสูตรนี้ควรเขียนในภาษาไทยว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” ตามพจนานุกรมฯ 

แม้คำว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” จะไม่ได้เก็บไว้เป็นแม่คำหรือคำตั้งในพจนานุกรมฯ แต่เมื่อในคำนิยาม พจนานุกรมฯ สะกดอย่างนี้ ก็ควรถือเป็นข้อยุติได้

เราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพจนานุกรมฯ ก็ตาม เมื่อพจนานุกรมฯ เป็นมาตรฐานของการสะกดคำในภาษาไทย เราก็ควรใช้ตามนั้นเพื่อให้เป็นเอกภาพ 

อะไร ส่วนไหน ที่เราไม่เห็นด้วย เราก็สามารถเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขได้ 

เหมือนกฎหมาย มีกฎหมายหลายฉบับหลายเรื่องที่เราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเป็นกฎหมาย เราในฐานะประชาชนผู้อยู่ภายใต้กฎหมายก็ต้องยอมรับปฏิบัติตาม 

พจนานุกรมฯ ไม่ใช่กฎหมายหรอก แต่ใช้หลักการเดียวกัน

มีบางท่านประกาศเลยว่า พจนานุกรมฯ ไม่ใช่กฎหาย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นคำไหนท่านพอใจจะสะกดแบบไหน ท่านก็สะกดไปตามใจชอบของท่าน เป็นอิสระดี

ถ้าทุกคนทำแบบเดียวกัน ภาษาไทยของเราคงเละเทะไม่มีชิ้นดี

………………

อ่านมาถึงตรงนี้ ญาติมิตรคงคิดเงียบๆ ว่า เรื่องนี้ควรโพสต์ตั้งแต่เมื่อวานหรือก่อนหน้านั้น คือก่อนที่จะถึงวันอาสาฬบูชา เอามาพูดทำไมกันวันนี้

วันอาสาฬหบูชามีคนพูดและเขียนคำว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” กันมาก แล้วก็สะกดคำนี้กันไปตามที่แต่ละคนจะเข้าใจหรือพอใจ ตรงกันบ้าง ต่างกันบ้าง ถ้าบอกกล่าวกันไว้ก่อน คนก็จะได้รู้ตัวว่าคำนี้ควรสะกดอย่างไร 

แต่นั่นก็เป็นเพียงความคาดหวัง ถ้าคนจะไม่สนใจ บอกก่อนบอกหลังหรือบอกตอนไหน ก็คงไม่สนใจอยู่นั่นเอง

อีกอย่างหนึ่ง เวลานี้ดูเหมือนว่าเรากำลังสร้างวัฒนธรรมใหม่ นั่นคือสนใจอะไรก็เฉพาะเมื่อถึงวันเกี่ยวกับเรื่องนั้นเท่านั้น 

ที่เห็นกันชัดๆ ก็เช่น-เราพูดเรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องเด็ก เรื่องครู เรื่องภาษาไทย ฯลฯ กันเฉพาะวันพ่อ วันแม่ วันเด็ก วันครู วันภาษาไทย ฯลฯ วันเดียว พ้นวันนั้นๆ แล้วเราก็ไม่สนใจเรื่องนั้นอีก จนกว่าจะถึงปีต่อไป

จะด้วยเหตุอะไรก็ไม่รู้แหละ แต่ผมว่าเรากำลังทำพลาด 

ควรจะถอยมาตั้งหลักกันใหม่ เรื่องอะไรที่สำคัญควรยกขึ้นมาพูดกันได้ทันทีและพูดได้ทุกวัน ไม่ต้องรอให้ถึงวันไหนโอกาสไหนทั้งสิ้น 

ความสำคัญของภาษาไทย พูดได้ทุกวัน ไม่ต้องรอให้ถึงวันภาษาไทย ความสำคัญของ “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” ก็พูดได้ทุกวัน ไม่ใช่ว่าพูดได้เฉพาะในวันอาสาฬบูชา เลยวันอาสาฬบูชาไปแล้วเลิกพูด-อย่างนี้เป็นต้น

เรื่องที่ต้องดูกาลเทศะก็มี แต่ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องต้องอ้างกาลเทศะไปหมด 

ลองคิดดูเถิด เรายกเอาเรื่องนั้นๆ มาพูดกันวันเดียว – จะทำอย่างนั้นๆ จะพัฒนาอย่างนี้ๆ ถ้ามีปัญหาจะต้องแก้อย่างนั้นๆ – สนใจกันอยู่แค่วันเดียว แล้วก็ปล่อยให้ปัญหาพอกพูนเรื่องนั้นๆ ไปอีก ๓๖๔ วัน ครบปีจึงยกเอามาพูดกันใหม่วันเดียวอีก ทำกันอยู่อย่างนี้

ถ้าเรื่องนั้นมีปัญหา ปัญหาก็ท่วมหัวจนไม่รู้จะท่วมอย่างไรไปแล้ว

เคยรู้สึกกันไหมครับ ยังไม่ถึงเทศกาลนั้นเราก็จะไม่คิดถึงเรื่องนั้น ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องควรคิดควรทำได้ตลอดเวลา 

ผมว่าเรากำลังถูกครอบงำด้วยอิทธิพล- “สนใจตามเทศกาล” ทำให้ทิ้งโอกาสที่จะแก้ปัญหาที่ควรแก้ไปอย่างน่าเสียดาย 

ตั้งหลักกันใหม่ดีไหมครับ อะไรที่ควรทำควรสนใจ หยิบยกขึ้นมาพูดกันและชวนกันทำทันที เรื่องที่ต้องรอจนถึงเทศกาลมีไม่กี่เรื่องหรอกครับ แต่ที่สามารถคิดอ่านทำได้ทุกวันทันทีมีเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง ทำไมจะต้องรอเทศกาล

เหมือนเป็นโรค คิดอ่านรักษากันแค่วันเดียว แต่นอนป่วยอยู่เฉยๆ ทั้งปี!

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๘:๒๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *