บาลีวันละคำ

สุคติภพ (บาลีวันละคำ 4,033)

สุคติภพ

ฤๅจะรอให้เพื่อนเป็นศพแล้วจึงค่อยบอก

อ่านว่า สุ-คะ-ติ-พบ

ประกอบด้วยคำว่า สุคติ + ภพ

(๑) “สุคติ” 

เป็นคำบาลี อ่านว่า สุ-คะ-ติ รากศัพท์มาจาก สุ + คติ

(ก) “สุ” เป็นคำอุปสรรค (คำที่ใช้ประกอบข้างหน้าคำนามหรือกริยาให้มีความหมายยักเยื้องออกไป) นักเรียนบาลีแปลกันว่า ดี, งาม, ง่าย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “สุ-” ไว้ว่า well, happily, thorough (ดี, อย่างมีสุข, ทั่วถึง)

(ข) “คติ” อ่านว่า คะ-ติ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คติ > )

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ในเชิงขยายความไว้น่าสนใจ ขอยกมาเสนอดังนี้ –

(1) going, going away, (opp. āgati coming); direction, course, career (การไป, การจากไป, (ตรงข้าม “อาคติ” การมา); ทิศทาง, แนว, วิถีชีวิต)

(2) going away, passing on; course, esp after death, destiny, as regards another (future) existence (การจากไป, การผ่านไป; ทางไป, โดยเฉพาะหลังจากตายไป, ชะตากรรม, ที่เกี่ยวกับภพ (อนาคต) อื่น)

(3) behaviour, state or condition of life, sphere of existence, element, especially characterized as sugati & duggati, a happy or an unhappy existence (ความประพฤติ, ภาวะหรือฐานะของความเป็นอยู่, ขอบเขตของภพ, ความเป็นอยู่, ธาตุ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยายลักษณะเป็น “สุคติ” และ “ทุคฺคติ”, ความเป็นอยู่อันสุขสบายหรือเป็นทุกข์)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง 

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก 

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน 

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต 

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล 

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คติ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) คติ ๑ : (คำนาม) การไป; ความเป็นไป. (ป.). 

(2) คติ ๒ : (คำนาม) แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง. (ป.).

สุ + คติ = สุคติ (สุ-คะ-ติ) แปลว่า “ทางไปที่ดี” หมายถึง ชีวิตที่มีความสุข; อาณาจักรแห่งความสุขสำราญ; เทวโลก (a happy existence; a realm of bliss; the devaloka) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สุคติ : (คำนาม) ภูมิที่ถือว่าไปเกิดแล้วมีความสุขความสบาย, สวรรค์, เช่น ขอให้วิญญาณไปสู่สุคติ. (ป., ส.).”

ข้อควรระวังในภาษาไทยก็คือ คำนี้สะกดเป็น “สุคติ” คือ สุ + คติ 

ไม่ใช่ สุข + คติ = สุขคติ ดังที่มักเขียนกันผิดๆ

(๒) “ภพ

บาลีเป็น “ภว” อ่านว่า พะ-วะ รากศัพท์มาจาก ภู (ธาตุ = มี, เป็น) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อู ที่ ภู เป็น โอ แล้วแปลง โอ เป็น อว (ภู > โภ > ภว

: ภู + = ภูณ > ภู > โภ > ภว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่เจริญ” (2) “เหตุเป็นเครื่องเจริญแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่เป็นที่เกิดขึ้น” (4) “เหตุที่ทำให้มีการเกิดขึ้น” หมายถึง ความเกิดใหม่, ภพ, รูปกำเนิด, ความมี, ชีวิต (becoming, form of rebirth, state of existence, a life)

บาลี “ภว” ในภาษาไทยแผลง เป็น ตามหลักนิยม ใช้เป็น “ภพ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ภพ : (คำนาม) โลก, แผ่นดิน; วัฏสงสาร. (ป. ภว).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ภพ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ภพ : โลกเป็นที่อยู่ของสัตว์, ภาวะชีวิตของสัตว์ มี ๓ คือ ๑. กามภพ ภพของผู้ยังเสวยกามคุณ ๒. รูปภพ ภพของผู้เข้าถึงรูปฌาน ๓. อรูปภพ ภพของผู้เข้าถึงอรูปฌาน.

…………..

กามภพ รูปภพ อรูปภพ คืออะไร พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(1) กามภพ : ที่เกิดของผู้ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในกาม, โลกเป็นที่อยู่อาศัยของผู้เสพกาม ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษยโลก และสวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดี รวมเป็น ๑๑ ชั้น (ข้อ ๑ ในภพ ๓)

(2) รูปภพ : โลกเป็นที่อยู่ของพวกพรหม.

(3) อรูปภพ : โลกเป็นที่อยู่ของพรหมไม่มีรูป.

…………..

สุคติ + ภว = สุคติภว (สุ-คะ-ติ-พะ-วะ) 

คัมภีร์ปัญจิกา อันเป็นคัมภีร์ประเภท “โยชนา” (คัมภีร์บอกวิธีแปลศัพท์และอธิบายศัพท์) ของคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี แสดงที่มาของศัพท์ “สุคติภว” ไว้ดังนี้ –

สุคติ  เอว  ภโว  สุคติภโว  ฯ

ที่มา: ปัญจิกา ภาค 3 หน้า 572

แปลว่า “ภพคือสุคติ ชื่อว่าสุคติภพ

สุคติภว” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุคติภพ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “สุคติ” และคำว่า “ภพ” ไว้ แต่คำว่า “สุคติภพ” ยังไม่ได้เก็บไว้

ความหมายที่เข้าใจกันในภาษาไทย “สุคติภพ” ก็คือ สวรรค์ ลดลงมาก็คือมนุษย์

แต่ตามหลักวิชา “สุคติภพ” ยังมีรายละเอียดอีกมาก พึงศึกษาหาความรู้ความเข้าใจกันต่อไปอีกเถิด

แถม :

เพื่อความเข้าใจกว้างขวางยิ่งขึ้น โปรดดูเพิ่มเติมที่ “ภูมิ” บาลีวันละคำ (3,507)

…………………………….

อ่านเพิ่มเติม

…………………………….

ดูก่อนภราดา!

: บอกคนที่เรารักให้ไปสู่สุคติภพ

: อย่ารอให้เขาเป็นศพแล้วจึงบอก-นะจ๊ะ

#บาลีวันละคำ (4,033)

28-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *