บรรจุภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 3,333)
บรรจุภัณฑ์
สมาสข้ามสายพันธุ์
อ่านว่า บัน-จุ-พัน
ประกอบด้วยคำว่า บรรจุ + ภัณฑ์
(๑) “บรรจุ”
เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บรรจุ : (คำกริยา) ประจุ, ใส่ลงในขวด หีบ หรือถุง เป็นต้น, ใส่ลงไว้ในภาชนะหรือสถานที่ที่ใดที่หนึ่งที่มิดชิด เช่น บรรจุอังคาร บรรจุอัฐิ บรรจุศพ; โดยปริยายหมายความว่า ให้เข้าประจําที่, ให้เข้าประจําตําแหน่งครั้งแรก, เช่น บรรจุให้เป็นข้าราชการ, ใส่ลงไว้ตามอัตรา เช่น บรรจุเข้าไว้ในรายการ.”
(๒) “ภัณฑ์”
บาลีเป็น “ภณฺฑ” (พัน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ภฑิ (ธาตุ = ห่อ, เก็บ) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ภฑิ > ภํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ + ก = ภณฺฑิก > ภณฺฑิ > ภณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงห่อเก็บ” เดิมหมายถึงสิ่งซึ่งสามารถห่อแล้วเก็บไว้ได้ ต่อมาความหมายขยายไปถึงสิ่งของทั่วไป
“ภณฺฑ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง (1) ของค้าขาย; สินค้า, สิ่งของ, ทรัพย์สมบัติ (stock in trade; collectively goods, wares, property, possessions) (2) เครื่องใช้, วัตถุ, เครื่องมือ (implement, article, instrument)
บาลี “ภณฺฑ” สันสกฤตเป็น “ภาณฺฑ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ภาณฺฑ : (คำนาม) ‘ภาณฑ์,’ ภาชนะทั่วไป; เครื่องดนตรีทั่วไป; เครื่องมือหรือเครื่องใช้ทั่วไป; ทุน, ต้นเงิน; เครื่องประดับทั่วไป; เครื่องแต่งคอและอกม้า; รยบถของนที; การเล่นของจำอวด; any vessel; any musical instrument; any implement or utensil; capital, principal; an ornament in general; an ornament round a horse’s neck and breast; the bed of a river; buffoonery.”
ภาษาไทยใช้ตามบาลีเป็น “ภัณฑ-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “ภัณฑ์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัณฑ-, ภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งของ, เครื่องใช้. (ป.; ส. ภาณฺฑ).”
บรรจุ + ภัณฑ์ = บรรจุภัณฑ์
อภิปรายขยายความ :
“บรรจุภัณฑ์” เป็นคำที่สมาสกันโดยไม่ถูกหลักภาษา หลักภาษากำหนดว่า คำที่จะสมาสกันได้คือคำที่เป็นบาลีหรือสันสกฤตด้วยกัน
“บรรจุ” เป็นคำไทย “ภัณฑ์” เป็นคำบาลี ดังนั้น “บรรจุภัณฑ์” จึงเป็นคำสมาสที่ไม่ถูกหลักภาษา หรือเรียกเป็นคำคะนองว่าสมาสข้ามสายพันธุ์
ในเวลาที่เขียนคำนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำระลึกถึงคำสมาสข้ามสายพันธุ์ที่เป็นคำเก่าได้คำหนึ่ง นั่นคือคำว่า “ราชวัง”
“ราช” เป็นคำบาลี “วัง” เป็นคำไทย แต่ก็ใช้กันมาจนเป็นคำที่ถูกต้องไปแล้ว
แต่ก็ประหลาด คำว่า “ราชวัง” ไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ครั้งหนึ่งเคยมีผู้คิดคำว่า “ระบาดวิทยา” ขึ้นมาใช้ ใช้อยู่พักหนึ่งก็หายไป อาจเป็นเพราะมีผู้วิจารณ์ว่าเป็นคำสมาสที่ผิดหลักภาษา ผู้วิจารณ์เสนอแนะว่า ถ้ายังประสงค์จะใช้คำนั้นและไม่ผิดหลักภาษา ควรใช้ว่า “วิทยาว่าด้วยโรคระบาด”
แต่ทั้ง “ระบาดวิทยา” และ “วิทยาว่าด้วยโรคระบาด” ก็ “ไม่ติด” คือไม่มีผู้นิยมใช้ จึงหายไปในที่สุด
ยังไม่ได้ยินว่า “บรรจุภัณฑ์” มีผู้เสนอแนะให้ใช้คำที่ถูกหลักภาษาว่าอย่างไร แต่เวลานี้ คำว่า “บรรจุภัณฑ์” มีผู้ใช้กันแพร่หลาย ดูเหมือนยุคสมัยนี้จะไม่มีผู้คิดคำนึงถึงเรื่องถูกหลักหรือผิดหลักภาษากันอีกแล้ว นั่นแปลว่า ความพิถีพิถันละเมียดละไมในเรื่องภาษาไทยของเราเสื่อมทรามลงไปมาก (พูดอย่างนี้อาจมีผู้แย้งได้ว่า ถ้าจะเรียกว่า “ความพิถีพิถันละเมียดละไมในเรื่องภาษาไทยของเราเสื่อมทรามลงไป” มันก็เลื่อมทรามมาตั้งแต่โบราณโน่นแล้ว ก็ดูคำว่า “ราชวัง” นั่นอย่างไรเป็นตัวอย่าง)
นอกจากจะไม่มีใครทักท้วง (หรือไม่มีใครฟังใครทักท้วง) แล้ว ยังมีการบรรยายคล้ายกับเป็นระบบวิชาว่า “บรรจุภัณฑ์” แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ –
1. บรรจุภัณฑ์กระดาษ
2. บรรจุภัณฑ์พลาสติก
3. บรรจุภัณฑ์โลหะ
4. บรรจุภัณฑ์แก้ว
5. บรรจุภัณฑ์ไม้
ยังไม่ทราบว่าการแบ่งประเภทดังนี้เป็นหลักวิชาของสำนักไหน
ที่เป็นปัญหาก็คือ ผู้คิดคำว่า “บรรจุภัณฑ์” มีเจตนาจะให้แปลอย่างไร
แปลว่า “สิ่งที่ทำขึ้นเพื่อใช้บรรจุสินค้า” นั่นคือ –
ภัณฑ์ = สิ่งที่ทำขึ้น
บรรจุ = เพื่อบรรจุสินค้า
แต่มีคำอธิบายในที่แห่งหนึ่งบอกว่า “บรรจุภัณฑ์เป็นสิ่งที่ใช้สำหรับห่อหุ้มหรือใช้บรรจุผลิตภัณฑ์” ซึ่งชวนให้เข้าใจว่า –
บรรจุ = สิ่งที่ใช้สำหรับห่อหุ้มหรือใช้บรรจุ
ภัณฑ์ = ผลิตภัณฑ์
ในที่นี้ยังไม่มีคำตอบ ทิ้งไว้ให้ผู้รักภาษาถกเถียงกันต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะภาษาเป็นสิ่งสมมุติ
: จึงควรคิดให้ถึงที่สุดว่าจะสมมุติให้งามหรือให้ทราม
—————–
ภาพประกอบบรรจุภัณฑ์: จาก google
#บาลีวันละคำ (3,333)
28-7-64