เหลือเชื่อจริงๆ
เหลือเชื่อจริงๆ
—————
ผมมีลูก ๓ คน เรียนจบและทำงานเป็นหลักฐานหมดแล้ว คนเล็กเป็นทหารเรือ แต่งงานแล้ว มีลูกสาว ๑ คน อายุยังไม่ถึง ๒ ขวบ ส่วนลูกคนโตและคนกลางยังสมัครใจเป็นโสด
ลูกทุกคนปักหลักพักอาศัยอยู่เมืองกรุง ผมกับอาจารย์ผู้หญิงอยู่กันสองคนตายายที่ราชบุรี
ว่ากันว่าสภาพเช่นนี้เป็นปกติธรรมดาของครอบครัวสมัยนี้ คือช่วงปลายๆ พ่อแม่จะอยู่กันตามลำพัง “สองคนตายาย” ซึ่งจะต่างกับสภาพครอบครัวไทยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วที่พอปลายๆ พ่อแม่จะอยู่กับลูกคนใดคนหนึ่ง
ผมไม่ค่อยวิตกกังวลหรือคิดอะไรเกี่ยวกับสภาพเช่นว่านี้ เพราะเตรียมวางแผนชีวิตตัวเองไว้นานแล้ว และทุกวันนี้ก็ไม่มีอะไรผิดแผน
นานๆ ครั้ง อาจารย์ที่บ้านท่านก็จะชวนผมไปเยี่ยมลูก-ตอนนี้ก็เพิ่มไปเยี่ยมหลานด้วย
ถ้าเป็นลำพังผม ผมจะเฉยๆ ไม่ค่อยได้ขวนขวายที่จะไปเยี่ยมลูกหลาน เพราะทุกคนก็อยู่สุขสบายเป็นปกติดีอยู่แล้ว ผมก็แค่ดูอยู่ห่างๆ
พูดตามภาษาพระก็ว่า-ได้แต่เจริญอุเบกขาพรหมวิหารเป็นปกติ
เวลาลูกๆ กลับบ้านก็รู้สึกอบอุ่นดี ลูกจะพาพ่อแม่ไปกินข้าวนอกบ้าน ซึ่งต้องถือว่าเป็นกรณีพิเศษ เพราะตามปกติผมกินข้าวบ้าน ร้านอาหารตามห้างที่ผมพอจะได้สัมผัสบรรยากาศ ก็เป็นฝีมือลูกๆ พาไปทั้งสิ้น อยู่กันสองคนตายายไม่รู้สึกว่าจำเป็นจะต้องไปกินข้าวนอกบ้าน
ชีวิตประจำวันผมนั้น อยู่กับบ้าน อ่านเขียนศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในพระคัมภีร์ตามแนวทางที่ผมเรียนมา ตอบคำถาม-แลกเปลี่ยนความรู้กับญาติมิตร ชีวิตก็ลงตัว เป็นสุขสบาย ได้ทั้งประโยชน์ส่วนตนและทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์
พูดตามประสาผมก็ว่า-ตั้งหน้าตั้งตาเก็บบุญใส่ย่ามเป็นเสบียงสำหรับเดินทางไปในสังสารวัฏ
ผมไม่ได้เพิ่งคิดทำอย่างนี้เมื่อเป็นคนแก่อายุ ๖๐-๗๐
แต่ผมทำมานานแล้ว ทำมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม
ถ้าพิจารณาตามโคลงโลกนิติที่ว่า –
ปางน้อยสำเหนียกรู้ เรียนคุณ
ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน ทรัพย์ไว้
เมื่อกลางแก่แสวงบุญ ธรรมชอบ
ยามหง่อมทำใดได้ แต่ล้วนอนิจจัง
(ประชุมโคลงโลกนิติฉบับหอสมุดแห่งชาติ บทที่ ๑๑๕)
ผมก็ “แสวงบุญ” มาตั้งแต่ปางน้อย เพียงแต่ว่าไม่หนักแน่นเข้มข้นเท่ากับเมื่อกลางแก่ เพราะต้องแบ่งชีวิตไปเพื่อ “เรียนคุณ” และ “หาทุนทรัพย์” ไปด้วย
คำสอนในโคลงโลกนิติบทนี้สอดคล้องกับพุทธภาษิตในพระธรรมบทที่ว่า –
อตฺตานญฺเจ ปิยํ ชญฺญา
รกฺเขยฺย นํ สุรกฺขิตํ
ติณฺณมญฺญตรํ ยามํ
ปฏิชคฺเคยฺย ปณฺฑิโต.
(อัตตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๒)
ถ้ารู้ว่าตนเป็นที่รัก
พึงพิทักษ์ตนให้ดี
บัณฑิตพึงตั้งตนให้ได้
ไม่วัยใดก็วัยหนึ่งในสามวัย
ใครที่คิดว่าเกษียณแล้วค่อยทำบุญ พึงสดับ –
ชราชชฺชริตา โหนฺติ
หตฺถปาทา อนสฺสวา
ยสฺส โส วิหตตฺถาโม
กถํ ธมฺมํ จริสฺสติ.
(จักขุปาลเถรวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ หน้า ๖)
ร่างกายแก่หง่อมเพราะชรา
มือเท้าก็ว่าไม่ฟัง
เรี่ยวแรงกำลังก็สิ้นไร้
แล้วจะเอาอะไรประพฤติธรรม?
ข้อสำคัญ แน่ใจหรือว่าพรุ่งนี้จะยังมีชีวิตอยู่ได้ทำบุญ?
——————–
ปกติผมไม่นิยมเล่าเรื่องตัวเอง เพราะเห็นว่าผู้อ่านได้ประโยชน์น้อย แต่ที่ว่ามาข้างต้นนั้นเป็นเพียงอารัมภบท ไม่ใช่ตัวเรื่องที่ผมอยากเล่า
ตัวเรื่องที่ผมอยากเล่าก็คือ เมื่อสองวันก่อน (๒๘ – ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐) ผมไปเยี่ยมลูกหลานตามคำชวนของอาจารย์ผู้หญิงที่บ้าน ไปค้างบ้านลูกชายคนเล็กที่บ้านซอยวัดหลวงพ่อโต บางพลี
ตอนเช้าผมก็ออกไปเดินออกกำลังอย่างที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร
ผมเคยเล่าให้ฟังมาครั้งหรือสองครั้งแล้วว่า พอออกจากบ้านมายืนหันหน้าออกถนน ถ้าไปทางขวา ก็จะเป็นถนนบางนา-ตราด ขึ้นสะพานข้ามถนนแล้วเดินเข้ากรุงเทพฯ ก็จะไปถึงตลาดกิ่งแก้ว มีของกินให้เลือกมากมาย
ถ้าไปทางซ้าย ก็คือไปตามซอยเดิม เดินไปเรื่อยๆ ก็จะไปถึงวัดหลวงพ่อโตซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่าวัดบางพลีใหญ่ใน ก่อนถึงวัดจะมีตลาดย่อมๆ เรียกกันว่า ตลาดลาว ตอนเช้าไม่มีของขาย แต่แถวๆ นั้นก็มีร้านขายโจ๊ก น้ำเต้าหู้ ปาท่องโก๋ ขนมครก ฯลฯ พออาศัยฝากท้องได้
เวลาเดินออกกำลังเช้าๆ ผมตั้งอารมณ์เหมือนสมัยเป็นพระออกบิณฑบาต เวลาไปค้างบ้านลูกชาย ไม่ว่าจะเดินไปทางขวาหรือทางซ้ายก็มี “โคจรคาม” พออาศัยได้ตามสมควร
วันแรกผมไปทางตลาดกิ่งแก้ว วันที่สอง คือเมื่อเช้านี้ (๓๐ กรกฎาคม) ผมไปทางวัดหลวงพ่อโต และเพราะไปตามซอยวัดหลวงพ่อโตนี่เองจึงได้เห็นสภาพทางเท้าดังภาพที่ผมถ่ายมาให้ดูกัน
ทางเท้าหลายช่วงถูกปล่อยให้หญ้ารกปกคลุมจนเดินไม่ได้
ผมอัศจรรย์ใจตรงที่หน่วยงานที่รับผิดชอบปล่อยให้เกิดสภาพเช่นนี้ได้อย่างไร
กว่าหญ้าและไม้เล็กไม้น้อยจะโตจนคลุมทางเท้าได้ขนาดนี้ต้องไม่ใช่แค่วันสองวัน แต่จะต้องใช้เวลาเป็นเดือน
แปลว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้มีวงรอบที่จะดูแลรักษาซอยสายนี้เป็นเดือนๆ เช่นนั้นหรือ?
——————–
จากสภาพถนนซอยตรงนี้ ผมนึกไปถึงอีกหลายๆ เรื่องในสังคมเราที่ไม่ได้มีใครกำกับดูแลแก้ไข หากแต่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ตามบุญตามกรรม
แน่นอน หนึ่งในนั้นก็คือกิจการพระศาสนา
ยกตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเข้าพรรษานี้ก็คือ วัดต่างๆ ไม่ได้เคาะระฆังตอนตีสี่ อันเป็นสัญญาณปลุกให้พระเณรลุกขึ้นทำวัตรสวดมนต์เป็นพิเศษเพิ่มขึ้นจากทำวัตรเช้า-เย็นตามปกติ
ในช่วงเวลาเข้าพรรษา ๓ เดือน มีธรรมเนียมวัดทุกวัดเพิ่มเวลาทำวัตรสวดมนต์ตอนตีสี่ขึ้นอีกเวลาหนึ่ง เพิ่มความเข้มข้นของการปฏิบัติกิจวัตรเพื่อเตือนสติให้สำนึกว่า เวลาเข้าพรรษาคือช่วงเวลาปฏิบัติบำเพ็ญภาวนาให้เข้มข้นขึ้น
เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ช่วงเข้าพรรษาทุกคืนตอนตีสี่เสียงระฆังจะดังระงมจากทุกทิศที่มีวัดตั้งอยู่
เสียงสุนัขเห่าหอนรับเสียงระฆังเซ็งแซ่ไปทุกทิศเช่นกัน
ผมตื่นตามเสียงระฆัง และยกมือท่วมหัว
สงฆ์ท่านตื่นขึ้นทำกิจวัตรเป็นพิเศษถวายเป็นพุทธบูชาในเทศกาลเข้าพรรษาสามเดือน-อนุโมทนาสาธุ
๑๐ ปีมาแล้วที่เสียงระฆังตอนตีสี่ช่วงเข้าพรรษาเงียบสนิท จากค่อยๆ เงียบในทิศนี้ ทิศนั้น แล้วก็ทิศโน้น จนในที่สุดก็เงียบหมดทุกทิศ
มีวัดมหาธาตุ วัดประจำเมืองราชบุรีวัดเดียวที่หลวงพ่อท่านยังรักษาธรรมเนียมนี้ไว้อย่างมั่นคง
๑๐ ปี ไม่ใช่วันสองวัน
เราปล่อยให้กิจวัตรอันดีงามของสงฆ์สูญหายไปได้อย่างไร
เหมือนผู้รับผิดชอบถนนซอยวัดหลวงพ่อโต บางพลี ปล่อยให้ทางเท้าถูกปกคลุมด้วยหญ้าและไม้เล็กไม้น้อยจนคนเดินไม่ได้-ไปได้อย่างไร
เหลือเชื่อจริงๆ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐
๑๙:๔๓
…………………………….
…………………………….