บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เสียงสั้น-ยาว: สัมผัสต่างมาตรา

เสียงสั้น-ยาว: สัมผัสต่างมาตรา

กติกาที่คนเขียนกลอนสมัยใหม่มองเมิน

กติกาอย่างหนึ่งของกลอนแปดที่คนเขียนกลอนสมัยใหม่ไม่ยอมเข้าใจ ก็คือ เสียงสั้นกับเสียงยาวสัมผัสกันไม่ได้ ผมขอใช้ภาษาฉันทลักณ์เรียกเองว่า “สัมผัสต่างมาตรา” 

คำว่า “สัมผัส” ในฉันทลักษณ์ไทยมี ๒ อย่าง คือสัมผัสสระและสัมผัสอักษร

สัมผัสสระ คือเสียงสระ เช่น อา อี อู เอ แอ โอ ไอ อำ เอา เป็นต้น รับกันหรือฟัดกัน กล่าวคือใช้คำที่มีเสียงสระเดียวกันในตำแหน่งที่บังคับว่าต้องเป็นคำสระเสียงเดียวกัน

สัมผัสอักษร คือใช้คำที่เป็นอักษรเดียวกันหรืออักษรที่มีเสียงเทียบคู่กัน เช่น ข กับ ค, ฉ กับ ช, ถ กับ ท, ผ กับ พ เป็นต้น ในตำแหน่งที่กำหนดว่าควรเป็นคำที่รับสัมผัสกัน

ตัวอย่างวรรณคดีที่จะพบสัมผัสอักษรได้แพรวพราวไปตลอดทั้งเรื่องก็คือ ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

นอกจากนี้ยังมีสัมผัสอีกคู่หนึ่ง คือสัมผัสนอกและสัมผัสใน

สัมผัสนอก-สัมผัสใน ก็คือสัมผัสสระและสัมผัสอักษรนั่นแหละ เรียกว่าสัมผัสนอก-สัมผัสในก็เพื่อบอกตำแหน่งคำที่ต้องสัมผัสกัน

สัมผัสนอก คือสัมผัสระหว่างวรรคหนึ่งกับอีกวรรคหนึ่งในบทเดียวกัน หรือระหว่างบทหนึ่งกับอีกบทหนึ่ง ในตำแหน่งที่บังคับว่าต้องเป็นคำสระเสียงเดียวกัน 

สัมผัสใน คือสัมผัสในวรรคเดียวกัน ในตำแหน่งที่กำหนดว่าควรเป็นคำที่รับสัมผัสกัน

สัมผัสสระใช้กับสัมผัสนอกและสัมผัสใน

สัมผัสอักษรใช้เฉพาะสัมผัสในเท่านั้น

ที่ตั้งชื่อเรื่องว่า “เสียงสั้น-ยาว: สัมผัสต่างมาตรา” หมายถึงสัมผัสสระหรือสัมผัสนอกเท่านั้น

กลอนแปดมีข้อกำหนดว่า หนึ่งบทมี ๔ วรรค หนึ่งวรรคมี ๘ คำ (อนุโลมให้เป็น ๙ หรือ ๑๐ คำได้-ถ้าจำเป็น)

คำในตำแหน่งไหนต้องสัมผัสกัน ในที่นี้จะไม่อธิบาย ละไว้ฐานเข้าใจ คนเขียนกลอนต้องรู้ ไม่รู้ก็แต่งกลอนไม่ได้

………………

ทีนี้ก็มาถึงตัวปัญหา – เสียงสั้น-ยาวรับสัมผัสกันไม่ได้ หมายถึงอย่างไร

ลองฟังเสียงต่อไปนี้ คำหน้าเสียงสั้น คำหลังเสียงยาว – 

อัง-อาง เช่น ยัง-ยาง

อัน-อาน เช่น กัน-การ

ไอ-อาย เช่น ไกล-กลาย

อำ-อาม เช่น จำ-จาม

เอา-อาว เช่น เขา-ขาว

คำเสียงสั้น-ยาวแบบนี้แหละที่ฉันทลักษณ์กลอนไทยกำหนดว่าใช้รับสัมผัสกันไม่ได้

แต่คนเขียนกลอนสมัยใหม่ไม่เข้าใจ 

แต่จะว่าไม่เข้าใจก็คงไม่ใช่ ผมเคยอธิบายให้พรรคพวกฟังอย่างละเอียด เขาฟังแล้วก็เข้าใจหมดทุกคำ แต่พอไปแต่งกลอนจริงๆ เขาก็ยังคงใช้คำเสียงสั้น-ยาวรับสัมผัสกันอยู่นั่นเอง

ลองฟังตัวอย่าง

………………………….

โรคโควิดติดมนุษย์จนสุดแก้

สู้กันแย่เยียวยาท่าไม่ไหว

บางคนอยู่สู้ทนบางคนตาย

ไม่วอดวายความหวังก็ยังมี

………………………….

“ไหว” กับ “ตาย” อยู่ในตำแหน่งที่ต้องสัมผัสสระกัน 

ไหว-ไอ ตาย-อาย สั้นกับยาวสัมผัสกันไม่ได้

………………………….

ถ้ามีเงินไม่น้อยสักร้อยล้าน

จะปลูกบ้านสวยลิบสักสิบหลัง

ซื้อรถเก๋งมาขับนับสตังค์

พาแม่นางหน้านวลชวนไปนอน

………………………….

“หลัง” กับ “นาง” อยู่ในตำแหน่งที่ต้องสัมผัสสระกัน 

หลัง-อัง นาง-อาง สั้นกับยาวสัมผัสกันไม่ได้

………………………….

ที่อยากไล่ให้ออกตะคอกขู่

ว่าขืนอยู่ชาติยับถึงคับขัน

อยากให้อยู่ชูป้ายก็หลายพัน

รัฐบาลชาติไหนเหมือนไทยแลนด์

………………………….

“ขัน” กับ “บาล” อยู่ในตำแหน่งที่ต้องสัมผัสสระกัน 

ขัน-อัน บาล-อาน สั้นกับยาวสัมผัสกันไม่ได้

คนแต่งกลอนสมัยใหม่อาจบอกว่า ฉันทลักษณ์จะกำหนดอย่างไรก็กำหนดไปเถิด แต่ข้าพเจ้าจะแต่งตามความพอใจของข้าพเจ้า คนเราควรมีอิสรเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ-ในเมื่อสิ่งนั้นไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน การใช้สระสั้นกับสระยาวรับสัมผัสกัน ไม่ได้ผิดกฎหมายและไม่ได้ละเมิดศีลธรรมอันดีของประชาชน มันไปทำให้ใครเดือดร้อนตรงไหน 

………………

ผมลองประมวลดูแล้ว มีข้ออ้างหรือเหตุผล ๓ ข้อที่คนแต่งกลอนสมัยใหม่นิยมยกขึ้นมาอ้าง คือ –

๑ ไม่จำเป็นต้องทำอะไรซ้ำซากจำเจอยู่กับกฎเกณฑ์เก่าๆ 

สมัยหนึ่งมีคำพูดว่า “ปลดแอกฉันทลักษณ์” คือแต่งคำประพันธ์โดยไม่มีสัมผัสและไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น นึกอะไรได้ ก็เขียนออกมา จัดบรรทัดให้เป็นวรรคเป็นตอนเข้าสักหน่อย แล้วก็เรียกกันว่า เขียนกลอนหรือแต่งกลอน

กลุ่มคำที่เขียนออกมาโดยไม่มีสัมผัสอะไรทั้งสิ้นนี้ เคยมีคนเรียกว่า “กลอนเปล่า” นับถือกันว่าเป็นแนวทางใหม่หรือเป็นการสรรค์สร้างอย่างเสรีที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่เวลานี้ก็ไม่มีใครนิยมกันอีกแล้ว

๒ ใครๆ เขาก็ทำกัน-ที่ไหนๆ เขาก็ทำอย่างนี้

คือพอมีคนทำอะไรผิดๆ แผลงๆ เข้าสักคนหนึ่ง-เช่นแต่งกลอนใช้เสียงสั้น-ยาวรับสัมผัสกันดังที่อธิบายมาเป็นต้น-แล้วไม่มีใครทักท้วง หรือมีคนทักท้วง แต่ไม่มีใครฟัง ก็จะมีคนทำตาม แล้วก็มีคนทำตามอีก และทำตามกันต่อๆ มา คราวนี้ก็กลายเป็นข้ออ้างได้ – ใครๆ เขาก็ทำกัน-ที่ไหนๆ เขาก็ทำอย่างนี้

ผิดกลายเป็นถูก หรือผิดจนถูก เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะข้ออ้างแบบนี้ และไม่ใช่เรื่องแต่งกลอนอย่างเดียว หากแต่อ้างได้ทุกเรื่อง

ผมนึกถึงคำกล่าวของใครก็ไม่ทราบที่พูดถึงประชาธิปไตย ที่ว่า “เสียงข้างมากบอกความถูกใจได้ แต่บอกความถูกต้องไม่ได้”

๓ คนเราควรมีอิสรเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ-ในเมื่อสิ่งนั้นไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ข้อนี้เป็นข้อที่น่าจับตามอง เวลานี้แนวคิดที่ว่า “คนเราควรมีอิสรเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ-ในเมื่อสิ่งนั้นไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน” กำลังจะเป็นที่นิยมอ้างกันทั่วไป โดยมีสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นพื้นฐาน

ก็ยังดีที่-เวลานี้ยังอุตส่าห์นึกถึงกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ถ้านิยมอ้างอย่างนี้กันมากเข้า วันข้างหน้าอาจจะไม่นึกถึงอะไรเลย

………………

ข้อที่ผมขออนุญาตชวนคิดก็คือ มนุษย์เราไม่ได้อยู่รวมกันเป็นสังคมโดยอาศัยกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชนเพียง ๒ อย่างเท่านี้ แต่ยังมีมากกว่านี้ นั่นก็คือสิ่งที่เรียกเป็นคำรวมว่า “วัฒนธรรม” คือความดีความงามความเจริญจรุงใจในลักษณาการต่างๆ มากมายหลายหลาก

อันที่จริง คำว่า “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” นั้น แยกเป็น “ศีล” และ “ธรรม” และวัฒนธรรมก็รวมอยู่ในคำว่า “ธรรม” นั้นด้วย 

ภาษาก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และภาษาที่ดีย่อมต้องมีระเบียบ การใช้ภาษาให้ถูกระเบียบจึงเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามเจริญจรุงใจ

ยิ่งเป็นการใช้ภาษาในทางฉันทลักษณ์-คือแต่งกลอน-ระเบียบของภาษาก็ยิ่งสลับซับซ้อนละเอียดอ่อนขึ้นไปอีกหลายเท่า

หลัก-สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล-นั้น อ้างได้แน่นอน แต่ต้องเป็นเฉพาะเรื่องส่วนตัว ไม่พัวพันกับสาธารณะ 

เวลานี้เรากำลังหลงทาง อ้างสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในที่สาธารณะ

แต่งกลอนแล้วเก็บไว้อ่านคนเดียว จะแต่งให้ผิดฉันทลักษณ์ขนาดไหนก็เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล แต่เมื่อใดก็ตามที่นำออกเผยแพร่ให้บุคคลที่สองที่สามได้รับรู้ เมื่อนั้นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลต้องมีกรอบขอบเขตทันที

ถ้าจะว่าไปแล้ว การแต่งกลอนเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในวัฒนธรรมเท่านั้น ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคมสมควรจะต้องคิดคำนึงถึงความดีความงามความเจริญจรุงใจ ซึ่งลำพังสิ่งที่เรียกกันคล่องปากว่า “กฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน” ไม่อาจอำนวยผลให้ได้เลย 

เพราะฉะนั้น แน่ใจหรือว่า แนวคิดที่นิยมอ้างกันว่า “ไม่จำเป็นต้องทำอะไรซ้ำซากจำเจอยู่กับกฎเกณฑ์เก่าๆ” “ใครๆ เขาก็ทำกัน-ที่ไหนๆ เขาก็ทำอย่างนี้” และ “คนเราควรมีอิสรเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ-ในเมื่อสิ่งนั้นไม่ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน” เหล่านี้แค่นี้ เป็นแนวคิดที่ถูกต้องและเพียงพอแล้วสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม-ในฐานะเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์ประเภทอื่นที่มันก็อยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้เหมือนมนุษย์เช่นกัน?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๓:๓๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *