อันติมชาติ (บาลีวันละคำ 3,539)
อันติมชาติ
เกิดชาติสุดท้าย
ประกอบด้วยคำว่า อันติม + ชาติ
(๑) “อันติม”
บาลีเขียน “อนฺติม” อ่านว่า อัน-ติ-มะ รูปคำเดิมมาจาก อนฺต + อิม ปัจจัย
(ก) “อนฺต” (อัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ม ที่สุดธาตุเป็น น (อมฺ > อนฺ)
: อมฺ > อน + ต = อนฺต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง –
(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
(3) ข้าง (side)
(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
(ข) อนฺต + อิม = อนฺติม แปลตามศัพท์ว่า “มีในที่สุด” หมายถึง สุดท้าย, ที่สุด (last, final)
“อนฺติม” เขียนตามแบบไทยเป็น “อันติมะ” หรือ “อันติม-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) รูปคำดูไม่น่าจะมีใช้ในภาษาไทย แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็เก็บคำนี้ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“อันติม-, อันติมะ : (คำวิเศษณ์) สุดท้าย, สูงสุด, เช่น ความจริงอันติมะ คือ ความจริงสุดท้าย ความจริงสูงสุด. (ป.; อ. ultimate).”
(๒) “ชาติ”
บาลีอ่านว่า ชา-ติ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ติ ปัจจัย
กระบวนการทางไวยากรณ์ :
แบบที่ 1 แปลง ชนฺ เป็น ชา : ชน > ชา + ติ = ชาติ
แบบที่ 2 แปลง “น” ที่ (ช-)นฺ เป็น อา : (ช)น > อา (> ช + อา) = ชา + ติ = ชาติ
“ชาติ” (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การเกิด” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังต่อไปนี้ –
(1) การเกิด, การเกิดใหม่, กำเนิด (birth, rebirth, possibility of rebirth)
(2) ชาติกำเนิด, เชื้อชาติ, ชั้น, วงศ์วาน (descent, race, rank, genealogy)
(3) จำพวก, ชนิด (a sort of, kind of)
(4) ตามธรรมชาติ (ตรงข้ามกับของที่ตกแต่งขึ้น); แท้จริง, บริสุทธิ์, วิเศษ (ตรงกันขามกับปนเจือ เลว) (by birth or nature, natural [opp. artificial]; genuine, pure, excellent [opp. adulterated, inferior])
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “ชาติ” ไว้ดังนี้ –
(1) การเกิด, กำเนิด, มักใช้ว่า ชาติเกิด หรือ ชาติกำเนิด เช่น ถ้าทำไม่ดีก็เสียชาติเกิด,
(2) ความมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น สบายทั้งชาติ.
(3) เหล่ากอ, เทือกเถา, เผ่าพันธุ์, เช่น ชาตินักรบ ชาติไพร่.
(4) ประเทศ เช่น รู้คุณชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์.
(5) ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ; ประชาชาติ ก็ว่า.
(6) กลุ่มชนที่มีความรู้สึกในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน หรืออยู่ในปกครองรัฐบาลเดียวกัน.
(7) ชนิด, จําพวก, ชั้น, หมู่.
(8 ) คำเพิ่มข้างหลังของคำเดิม เมื่อเพิ่มแล้วความหมายคงเดิม เช่น รสชาติ หรือหมายถึงพวกหรือหมู่ เช่น คชาชาติ มนุษยชาติ.
ในที่นี้ “ชาติ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)
อนฺติม + ชาติ = อนฺติมชาติ อ่านว่า อัน-ติ-มะ-ชา-ติ แปลว่า “การเกิดครั้งสุดท้าย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อันติมชาติ” อ่านว่า อัน-ติ-มะ-ชาด
ขยายความ :
“อนฺติมชาติ” หรือ “อันติมชาติ” ตามความหมายเดิมในบาลีหมายถึง-เมื่อสิ้นชีพจากชาตินี้ โลกนี้ หรือชีวิตนี้แล้ว ก็ไม่ไปถือกำเนิดอีก นั่นคือ ชาตินี้หรือชีวิตนี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย ไม่เกิดอีกไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิไหนๆ ก็ตาม
ความข้อนี้ คำในบาลีท่านใช้ว่า “อยมนฺติมา ชาติ” (อะ-ยะ-มัน-ติ-มา ชา-ติ) แยกศัพท์เป็น “อยํ อนฺติมา ชาติ” แปลว่า “ชาตินี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย”
ในที่นี้ “อนฺติม” เป็น “วิเสสนะ” ของ “ชาติ” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์ จึงต้องเปลี่ยนรูปเป็นอิตถีลิงค์ไปด้วย คือเป็น “อนฺติมา”
เอาเฉพาะ “อนฺติมา” กับ “ชาติ” สมาสกัน “อนฺติมา” กลับเป็น “อนฺติม” ตามรูปเดิม จึงได้รูปเป็น “อนฺติมชาติ”
“อนฺติมชาติ” หรือ “อยมนฺติมา ชาติ” ในคัมภีร์มักมาเป็นชุดร่วมกับคำอื่น ที่พบเสมอคือ “อกุปฺปา เม วิมุตฺติ อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.”
“อกุปฺปา เม วิมุตฺติ” = การหลุดพ้น (จากสรรพกิเลส) ของเราไม่กำเริบ (คือไม่กลับมาติดมาข้องกลายเป็นยังไม่หลุดพ้นจริง แต่พ้นแล้วพ้นเด็ดขาดไปเลย)
“อยมนฺติมา ชาติ” = ชาตินี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย
“นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว” = บัดนี้ไม่มีการไปเกิดใหม่อีกต่อไป
คำอีกชุดหนึ่งที่มีความหมายเกี่ยวข้องและสอดคล้องกัน คือ “ขีณา ชาติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ กตํ กรณียํ นาปรํ อิตฺถตฺตาย.”
คำชุดนี้มักปรากฏในขั้นตอนสุดท้ายของการปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติจิตภาวนาจนสำเร็จผลแล้วก็จะมีคำบรรยายชุดนี้อันเป็นความรู้เห็นประจักษ์ที่เกิดแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง
“ขีณา ชาติ” = ชาติ (คือการเกิดเป็นอะไรต่อไป) สิ้นสุดแล้ว
“วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ” = การประพฤติพรหมจรรย์สำเร็จลงแล้ว
“กตํ กรณียํ” = กิจที่ต้องทำ ทำเสร็จแล้ว
“นาปรํ อิตฺถตฺตาย” = ไม่ต้องทำกิจอะไรอื่นเพื่อที่จะบรรลุผลเช่นนี้อีก (เพราะบรรลุผลไปเรียบร้อยแล้ว)
อาจจัดเป็นระบบได้ว่า คำในชุด “ขีณา ชาติ …” เป็นการรับรองผลของการปฏิบัติว่า “ผ่าน” แล้ว
ส่วนคำในชุด “อกุปฺปา เม วิมุตฺติ …” เป็นการแสดงผลที่จะได้รับติดตามมา
อนึ่ง พึงพิจารณาโดยแยบคายว่า คำว่า “อยมนฺติมา ชาติ = ชาตินี้เป็นการเกิดครั้งสุดท้าย” เป็นการยืนยันว่า เมื่อบรรลุพระนฤพานแล้วก็ไม่มี “ชาติ” หรือภพภูมิอะไรที่จะให้ผู้บรรลุไปเกิดอีก ทั้งนี้เพราะผู้บรรลุอยู่ในภพภูมิไหนก็คือการเกิดในภพภูมินั้นเป็น “การเกิดครั้งสุดท้าย” ไม่มีการเกิดเป็นอะไรอีกต่อไป เมื่อดับขันธ์แล้วจะมีอะไรของผู้บรรลุพระนฤพานไปสถิตเป็นอมตะอยู่ในภพภูมิไหนๆ อีกได้อย่างไร?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าปรารถนาจะได้ปฏิบัติธรรมจนถึงระดับเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย
: ก็จงช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาให้สถิตอยู่ในแผ่นดินไทยเป็นชาติสุดท้ายก่อนที่จะสูญไปจากโลกนี้เถิด
19-02-65
………………………………………………………….
………………………………………………………….