บาลีวันละคำ

เสมารักษ์ (บาลีวันละคำ 3,335)

เสมารักษ์

ควรจะ “รักษ์” ด้วย “รัก” จริงๆ

อ่านว่า เส-มา-รัก

คำว่า “เสมารักษ์” เป็นชื่อหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อเต็มว่า “ศูนย์เสมารักษ์” ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่พบคำอธิบายความหมายของชื่อนี้ ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีสันนิษฐาน

เสมารักษ์” อาจแยกคำได้เป็น 2 แบบ คือ:

เสมา + รักษ์

เสมา + อารักษ์

(๑) “เสมา” 

อ่านว่า เส-มา บาลีเป็น “สีมา” (สี-มา) รากศัพท์มาจากจาก สี (ธาตุ = ผูก) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: สี + = สีม + อา = สีมา แปลตามศัพท์ว่า “ขอบเขตอันสงฆ์พร้อมเพรียงกันผูกไว้ด้วยการสวดกรรมวาจา” หมายถึง แดน, ขอบเขต, ตำบล (boundary, limit, parish)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สีมา : (คำนาม) เขต, แดน; เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์ มักทําด้วยแผ่นหินหรือหลักหินเป็นต้น เรียกว่า ใบพัทธสีมา, ใบสีมา หรือ ใบเสมา ก็ว่า. (ป., ส.).”

สีมา” นั่นเองแผลงเป็น “เสมา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เสมา ๑ : (คำนาม) สีมา, เครื่องหมายบอกเขตโบสถ์; เรียกสิ่งที่มีลักษณะคล้ายใบสีมาที่เรียงกันอยู่บนกําแพงอย่างกําแพงเมืองว่า ใบเสมา; เครื่องประดับหรือเครื่องรางสําหรับห้อยคอ มีรูปร่างอย่างใบเสมา. (ป., ส. สีมา).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอกว่า “เสมา” คือ “สีมา” แต่ไม่ได้บอกว่า “สีมา” คือ “เสมา” นั่นหมายถึง “สีมา” เป็นคำหลัก “เสมา” เป็นคำรอง คือ “เสมา” แผลงมาจาก “สีมา” แต่ “สีมา” ไม่ได้แผลงมาจาก “เสมา

(๒) “รักษ์

บาลีเป็น “รกฺข” (รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก รกฺขฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + (อะ) ปัจจัย

: รกฺขฺ + = รกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ดูแล” “ผู้รักษา

ในบาลีมีคำว่า “รกฺขก” (รัก-ขะ-กะ) อีกคำหนึ่ง รากศัพท์มาจาก รกฺขฺ + + ปัจจัย หรือบางทีเรียก “ก สกรรถ” (กะ สะ-กัด) คือลง ก ปัจจัยความหมายเท่าเดิม

รกฺข > รกฺขก มีความหมายดังนี้ –

(1) คุ้มครอง, ป้องกัน, ระมัดระวัง, เอาใจใส่ (guarding, protecting, watching, taking care)

(2) ปฏิบัติ, รักษา (observing, keeping)

(3) ผู้เพาะปลูก (สติปัญญา) (a cultivator)

(4) ทหารยาม (a sentry, guard, guardian)

รกฺข รกฺขก สันสกฤตเป็น รกฺษ รกฺษก

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

(1) รกฺษ : (คำนาม) การรักษา, การคุ้มครอง-ป้องกัน; เท่าหรืออังคาร; preserving, protecting; ashes.

(2) รกฺษก : (คำนาม) ผู้คุ้มครอง-ป้องกัน-หรือปกครอง; ผู้รักษาการ, ยาม; a guardian, a protector, a watchman, a guard.

บาลี “รกฺข” สันสกฤต “รกฺษ” ไทยใช้เป็น “รักษ์” และ “รักษา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

รักษ์, รักษา : (คำกริยา) ระวัง เช่น รักษาสุขภาพ, ดูแล เช่น รักษาทรัพย์สมบัติ, ป้องกัน เช่น รักษาบ้านเมือง, สงวนไว้ เช่น รักษาความสะอาด รักษาไมตรี; เยียวยา เช่น รักษาคนไข้. (ส.; ป. รกฺข).”

(๓) “อารักษ์” 

บาลีเป็น “อารกฺข” (อา-รัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค =ทั่วไป, ยิ่งขึ้นไป) + รกฺขฺ (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + (อะ) ปัจจัย 

: อา + รกฺข + = อารกฺข แปลตามศัพท์ว่า “การดูแลทั่วไป” หมายถึง การอารักขา, การดูแล, การป้องกัน, การเอาใจใส่, การระมัดระวัง (watch, guard, protection, care)

เพื่อให้เห็นความหมายที่กว้างออกไปอีก ขอนำคำแปลคำกริยา “รกฺขติ” (รก-ขะ-ติ) ซึ่งเป็นรากเดิมของ “อารกฺข” จากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มาเสนอเพิ่มเติมดังนี้ 

ความหมายของ รกฺขติ :

(1) ป้องกัน, ให้ที่พึ่ง, ช่วยให้รอด, ปกป้องรักษา (to protect, shelter, save, preserve)

(2) รักษา, ดูแล, เอาใจใส่, ควบคุม (เกี่ยวกับจิต และศีล) (to observe, guard, take care of, control [with ref. to the heart, and good character or morals]) 

(3) เก็บความลับ, เอาไปเก็บไว้, ระวังมิให้..(คือเลี่ยงจาก) (to keep (a) secret, to put away, to guard against [to keep away from])

อารกฺข” สันสกฤตเป็น “อารกฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

อารกฺษ : (คำนาม) การคุ้มครองหรือรักษา; protection or preservation;- (คุณศัพท์) อันป้องกันหรือคุ้มครองรักษาแล้ว, มีผู้อภิบาล, อันน่าอภิบาล; defended or preserved, having a protector, worthy to be preserved.”

อารกฺข” ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อารักษ์” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อารักษ์ : (คำนาม) การป้องกัน, ความคุ้มครอง, ความดูแล; เทวดาผู้พิทักษ์รักษา, มักใช้ว่า เทพารักษ์ หรือ อารักษเทวดา. (ส.; ป. อารกฺข).”

การประสมคำ :

(๑) เสมา + รักษ์ = เสมารักษ์ 

(๒) เสมา + อารักษ์ = เสมารักษ์ 

จะประสมมาจากคำไหน ความหมายก็ไม่ต่างกัน นั่นคือหมายถึง การป้องกัน คุ้มครอง ดูแล รักษาบุคคลในสังกัดกระทรวงศึกษา ซึ่งในที่นี้เน้นเฉพาะนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษา

ขยายความ :

เหตุที่คำว่า “เสมา” หมายถึง กระทรวงศึกษา เนื่องมาจากตราเครื่องหมายของกระทรวงศึกษาเป็นรูปเสมาธรรมจักร เหตุที่ใช้ใบเสมาเป็นเครื่องหมายน่าจะเป็นเพราะงานจัดการศึกษาของชาติไทยเริ่มขึ้นในวัด บริหารจัดการโดยพระสงฆ์เป็นครั้งแรก

คำว่า “เสมารักษ์” เป็นชื่อหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ชื่อเต็มว่า “ศูนย์เสมารักษ์” ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2561

วัตถุประสงค์ของการตั้ง “ศูนย์เสมารักษ์” ปรากฏอยู่ในประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง จัดตั้งศูนย์เสมารักษ์สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด มีข้อความตอนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

เพื่อให้มีศูนย์กลางในการประสานงานส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาในจังหวัด รองรับนโยบาย และแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของคณะกรรมการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาทั้งระดับกระทรวงและระดับจังหวัด ตลอดจนภารกิจงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการนักเรียนและนักศึกษาที่จะต้องดำเนินการและบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลยิ่งขึ้น

…………..

ศูนย์เสมารักษ์” มีอำนาจหน้าที่ดังนี้ – 

(1) เป็นศูนย์การประสานงานการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา

(2) เฝ้าระวังสถานการณ์และปัญหาความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา โดยการรับแจ้งเหตุจากสายด่วน 1579 หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการแก้ไข

(3) สนับสนุนการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา

(4) ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษา ในการดำเนินการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา

(5) ปฏิบัติงานส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัด รวมทั้งเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

(6) ประสาน ติดตาม และจัดทำกรณีศึกษาและบริการให้คำปรึกษาแก่นักเรียน และนักศึกษา

(7) ส่งเสริม สนับสนุน งานและกิจกรรมในการแนะแนวให้คำปรึกษาและฝึกอบรมแก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง เพื่อส่งเสริมความประพฤติที่เหมาะสม ความรับผิดชอบต่อสังคม และความปลอดภัยแก่นักเรียนและนักศึกษา

(8 ) ประสาน ตรวจสอบ ดูแล และช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษา สถานศึกษา ที่ประสบเหตุภัยพิบัติภัยธรรมชาติ และสถานการณ์ฉุกเฉิน

(9) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

ที่มา:

https://www.spe.go.th/files/com_news_rule/2020-06_79046b821f7af46.pdf

…………..

ดูก่อนภราดา!

การตั้งศูนย์เสมารักษ์ขึ้นมาช่วยดูแลนักเรียนนักศึกษาเป็นเรื่องที่ดี

สมควรมีและสมควรทำต่อไป

: แต่การช่วยกันสอนให้เขารู้จักรักษาใจ

: จะทำให้เขาปลอดภัยยิ่งกว่าที่มีใครๆ คอยรักษา

#บาลีวันละคำ (3,335)

30-7-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *