สิทธิการิยะ (บาลีวันละคำ 231)
สิทธิการิยะ
เขียนแบบไทย อ่านว่า สิด-ทิ-กา-ริ-ยะ
“สิทธิการิยะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้คำนิยามว่า –
“คำขึ้นต้นในตำราโบราณ เช่น ตำรายา ตำราหมอดู หรือคาถาเมตตามหานิยม เป็นการอธิษฐานขอให้การกระทำนั้น ๆ ประสบความสำเร็จ”
“สิทธิการิยะ” เขียนแบบบาลีเป็น “สิทฺธิการิย” ประกอบด้วยคำว่า สิทฺธิ + การิย = สิทฺธิการิย
“สิทฺธิ” แปลว่า การกระทำสำเร็จ, ความสำเร็จ, ความรุ่งเรือง
ฝรั่งแปลว่า accomplishment, success, prosperity
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 นิยามคำ “สิทธิ” ในภาษาไทยว่า
“อำนาจอันชอบธรรม เช่น บุคคลมีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เขามีสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) อํานาจที่จะกระทําการใด ๆ ได้อย่างอิสระ โดยได้รับการรับรองจากกฎหมาย (อ. right)”
โปรดสังเกตว่า ฝรั่งไม่ได้แปล “สิทฺธิ” ในภาษาบาลีว่า right
“การิย” แปลว่า ธุระ, หน้าที่, สิ่งที่ควรกระทำ
“สิทฺธิการิย” แปลรวมว่า “สิ่งที่ควรกระทำให้สำเร็จ” หรือ “ขอให้มีความสำเร็จในสิ่งที่ควรกระทำ”
“สิทฺธิ” มีใช้ในคัมภีร์ “การิย” ก็มีใช้ในคัมภีร์
แต่รวมเป็นศัพท์ “สิทฺธิการิย” ในบาลีไม่มีใช้ จึงนับว่าเป็นภูมิปัญญาไทยโดยแท้
: สิทธิการิยะ ท่านว่าภูมิปัญญาไทย ถ้าไม่เรียนรู้จากไทยด้วยกัน
คงมีสักวันที่ต้องฟังฝรั่งแปลเสียก่อนจึงจะรู้นั่นแล
บาลีวันละคำ (231)
26-12-55