บาลีวันละคำ

มุขปาฐะ (บาลีวันละคำ 232)

มุขปาฐะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เขียนว่า “มุขบาฐ” (มุก-ขะ-บาด)และ “มุขปาฐะ” (มุก-ขะ-ปา-ถะ) และให้ความหมายไว้ว่า :

“การต่อปากกันมา, การบอกเล่าต่อ ๆ กันมาโดยมิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น เรื่องนี้สืบมาโดยมุขบาฐ เรื่องนี้เป็นมุขปาฐะ”

มุขปาฐะ” เขียนแบบบาลีเป็น “มุขปาฐ” อ่านว่า มุ-ขะ-ปา-ถะ ประกอบด้วยคำว่า มุข + ปาฐ = มุขปาฐ

มุข” แปลตามรากศัพท์ว่า (1) “อวัยวะอันเขาเปิดเผย” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องผูก” (3) “อวัยวะเป็นเครื่องเป็นไปแห่งประโยชน์สุข

มุข” หมายถึงอวัยวะ 2 อย่าง คือ “ปาก” และ “หน้า” จะหมายถึงอะไรต้องสังเกตที่บริบท

ปาฐ” แปลว่า การอ่าน, การสวด, บทสวด, ข้อความในตัวบท, ถ้อยคำในคัมภีร์

มุขปาฐ” จึงแปลว่า “ถ้อยคำที่จำมาจากปาก” เป็นคำบาลีที่เราคิดขึ้นตามวัฒนธรรมการเรียนรู้สำหรับคนที่ไม่รู้หนังสือ คือครูบอกข้อความให้ศิษย์ท่องโดยไม่ต้องเห็นลายลักษณ์อักษร

สำหรับเด็กวัด มีคำเรียกการเรียนแบบนี้ว่า “ต่อหนังสือค่ำ” เพราะมักทำกันในเวลาเย็นถึงค่ำ

ระบบ “มุขปาฐ” ทำให้เกิดคำเดียวกัน ออกเสียงเหมือนกัน แต่เอาไปเขียนต่างกัน เช่น

ชินสีห์ หรือ ชินศรี

แก่นจันทน์ หรือ แก่นจันทร์ หรือ แก่นจัน

ที่กลายไปจนจำไม่ได้ก็มี เช่น พระเพชฉลูกรรม (เพ็ด-ฉะ-หฺลู-กํา) ก็คือ พระวิศวกรรม หรือ พระวิษณุกรรม

ชาวบ้านไทยสมัยก่อนจึงมีชื่อเรียกง่ายๆ เขียนง่ายๆ เพราะได้ยินเสียงอย่างไรก็เขียนอย่างนั้น

ระวัง : สตรีสมัยนี้ไม่พึงตั้งชื่อแปลกๆ สะกดยาก เช่นณมญาณ” (ผู้นอบน้อมความรู้) เพราะอาจถูกเปลี่ยนชื่อโดยระบบ “มุขปาฐ” ได้ง่ายๆ

บาลีวันละคำ (232)

27-12-55

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย