โปราณ (บาลีวันละคำ 230)
โปราณ
อ่านว่า โป-รา-นะ
ใช้ในภาษาไทยว่า “โบราณ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า –
1. มีมาแล้วช้านาน, เก่าก่อน เช่น อักษรโบราณ หนังสือโบราณ
2. เก่า, เก่าแก่ เช่น แพทย์แผนโบราณ ของโบราณ
3. ไม่ทันสมัย (ภาษาปาก) เช่น คนหัวโบราณ
“โปราณ” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีอยู่แต่เก่าก่อนหรือในกาลก่อน” ใช้ในความหมายดังนี้
1. บุคคล, สิ่งของ, เรื่องราว, กาลเวลา ที่เกิดขึ้น-มีมาแล้วในอดีต (ตรงกับความหมายที่เข้าใจกันในภาษาไทย)
2. สิ่งที่ถูกใช้งานมาแล้ว (ไม่ว่าจะยังใช้ได้อยู่หรือใช้ไม่ได้อีกแล้วก็ตาม)
3. ผู้ที่เคยเป็น หรืออยู่ในตำแหน่งฐานะใดๆ มาก่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว
4. มรดก, ผลที่เกิดจากการประกอบการในอดีต (เช่น บุญเก่า)
5. ฝรั่งแปลคำว่า “โปราณ” ไว้อีกความหมายหนึ่ง คือ authority
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล authority ว่า อำนาจ, อำนาจบังคับบัญชา, ผู้มีอำนาจ, เจ้าหน้าที่, เจ้าพนักงาน, ผู้เป็นต้นตำรับ, หลักฐาน
ดูความหมายให้ครบ แล้วจะพบว่า
คนเก่าคนแก่ ก็ยังไม่แน่ว่าจะโบราณ
ยังหนุ่มสาวสคราญ เป็น “โบราณ” ไปแล้วก็ถมไป
บาลีวันละคำ (230)
25-12-55