บาลีวันละคำ

-สม มีขีดหน้า (บาลีวันละคำ 3,340)

สม มีขีดหน้า

เรียนบาลีแบบจำเป็นคำๆ

“-สม” = สะ-มะ มีขีดหน้า

สม” อ่านว่า สะ-มะ ในที่นี้แปลว่า “เสมอ” หมายถึง เท่ากัน, พอ ๆ กัน, เหมือนกัน 

“-สม” มีขีดหน้า หมายถึง มีคำอื่นมาสมาสข้างหน้า เขียนติดเป็นคำเดียวกันกับ “-สม” เช่น “อตฺตสม” (อัด-ตะ-สะ-มะ) แปลว่า “เสมอกับตน” หรือ “เสมอด้วยตน” เช่นในคำว่า –

“นตฺถิ อตฺตสมํ เปมํ” 

แปลตามสำนวนเก่าว่า “ความรักเสมอด้วยตน ไม่มี” 

หมายถึง ไม่มีความรักอื่นใดที่จะเสมอกับความรักตัวเอง ไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะ “มากกว่า” เพราะเพียงแค่ “เสมอ” หรือ “เท่ากัน” ก็ไม่มี

อตฺตสม” แปลว่า “เสมอด้วยตน” ในที่นี้เป็นคำขยาย “เปมํ” (ความรัก) จึงต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำที่ไปขยาย “อตฺตสม” จึงต้องเป็น “อตฺตสมํ

หลักที่ต้องจำคือ คำที่อยู่หน้า “-สม” ต้องเขียนติดเป็นคำเดียวกันกับ “-สม

ข้อความที่พบว่าเขียนผิดเสมอ เช่นภาษาไทยว่า “อักขระตัวหนึ่งๆ เท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” 

คำไทยว่า “เท่ากับพระพุทธรูปองค์หนึ่ง” 

คำบาลีว่า “พุทฺธรูปสมํ” (พุด-ทะ-รู-ปะ-สะ-มัง)

เท่าที่พบที่ไหนที่นั้น จะเขียนเป็น “พุทฺธรูปํ สมํ” คือไปแยก “พุทฺธรูปํ” เป็นคำหนึ่ง “สมํ” เป็นอีกคำหนึ่ง นี่คือเขียนผิดเพราะไม่เข้าใจหลักภาษา (และผู้ที่เขียนผิดเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ที่เรียนบาลีมาแล้วนั่นแหละ!)

คำที่เขียนผิดจนคุ้นตาคือสุภาษิตที่ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี” (ไม่มีแสงสว่างใดๆ จะเสมอด้วยปัญญา) 

คำบาลีว่า “นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา” 

ปญฺญาสมา” รูปคำเดิมคือ “ปญฺญาสม” แปลว่า “เสมอด้วยปัญญา” ในที่นี้เป็นคำขยาย “อาภา” (แสงสว่าง) จึงต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำที่ไปขยาย “ปญฺญาสม” จึงต้องเป็น “ปญฺญาสมา” (ไม่ใช่ “ปญฺญาสมํ” เหมือน “อตฺตสมํ” หรือ “พุทฺธรูปสมํ”)

“นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา” จะต้องมีคนเขียนผิดเป็น “นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา” ทุกครั้งไป คือไปแยก “ปญฺญา” เป็นคำหนึ่ง “สมา” เป็นอีกคำหนึ่ง 

เคยเห็นบางแห่งเขียนเป็น “นตฺถิ ปญฺญา สมาอาภา” คือนอกจากแยก “ปญฺญา” เป็นคนละคำกับ “สมา” แล้ว ยังเอา “สมา” ไปรวมเป็นคำเดียวกับ “อาภา” อีกด้วย เป็นการผิดซ้ำซ้อน ซึ่งขออนุญาตเรียกเป็นคำคะนองว่า “ผิดมั่ว” จะถูกต้องที่สุด

ทั้งหมดนี้เพราะไม่เข้าใจหลักภาษา

ความไม่เข้าใจหลักภาษาจะหมดไปถ้ามีอุตสาหะเรียนรู้สักหน่อย ถ้ายังไม่อาจเรียนทั้งหมด ก็ใช้วิธี “เรียนรู้เป็นคำๆ เรียนจำเป็นตัวๆ” ไปก่อนก็ยังได้-ก็ยังดี

ผู้เขียนบาลีวันละคำพยายามจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ให้หลุดไป โดยหวังว่าท่านผู้ที่เขียนผิดจะกรุณาช่วยปรับแก้ความคิดของตัวเองด้วย พูดให้เข้ากับบรรยากาศก็ว่า “เราจะผ่านความไม่เข้าใจไปด้วยกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนที่ท่องจำอะไรได้เก่ง

: ไม่ได้แปลว่าคิดอะไรเองไม่เป็น

#บาลีวันละคำ (3,340)

4-8-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *