บาลีวันละคำ

ทีปิมํส (บาลีวันละคำ 3,654)

ทีปิมํส

เนื้อเสีอเหลือง : เนื้อต้องห้ามชนิดที่ 8

เขียนแบบบาลี อ่านว่า ที-ปิ-มัง-สะ

แยกศัพท์เป็น ทีปิ + มํส

(๑) “ทีปิ” 

อ่านว่า ที-ปิ รากศัพท์มาจาก –

(1) ทีป (เกาะ) + อิ ปัจจัย

: ทีป + อิ = ทีปิ แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ประกอบด้วยหนังทีปะ” (คือมีหนังเป็นจุดๆ เหมือนเกาะ) 

(2) ทีปฺ (ธาตุ = ประกาศ) + อิ ปัจจัย

: ทีปฺ + อิ = ทีปิ แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่ประกาศความยิ่งใหญ่ในป่า” 

พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา หรือ พจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ ทรงเรียบเรียง แปล “ทีปิ” (ปุงลิงค์) ว่า เสือเหลือง, เสือดาวก็ว่า

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ทีปิ” ว่า เสือดาว, เสือเหลือง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทีปิ” ว่า a panther, leopard, tiger 

พจนานุกรมบาลี-ไทย-อังกฤษ ฉบับภูมิพโลภิกขุ ซึ่งใช้พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เป็นต้นฉบับ แปล a panther, leopard, tiger เป็นไทยว่า เสือเหลือง, เสือดำ, เสือดาว, เสือ

บาลี “ทีปิ” สันสกฤตเป็น “ทฺวีปินฺ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ทฺวีปินฺ : (คำนาม) ‘ทวีปิน,’ เกาะ; ชาวเกาะ; เสือ; an island; an islander; a tiger.”

บาลี “ทีปิ” สันสกฤต “ทฺวีปินฺ” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ทวีปี” บอกไว้ดังนี้ –

ทวีปี : (คำแบบ) (คำนาม) เสือ, เสือดาว. (ส.).”

เป็นอันว่า บาลี “ทีปิ” คำแปลที่ตรงกันมากที่สุดคือ เสือดาว รองลงมาคือ เสือเหลือง

แต่ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน มี “ตรจฺฉมํส” ท่านแปลกันว่า “เนื้อเสือดาว” อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น “ทีปิ” ในที่นี้จึงยุติว่าแปลว่า เสือเหลือง

(๒) “มํส” 

อ่านว่า มัง-สะ รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็นนิคหิต (มนฺ > มํ)

: มนฺ + = มนส > มํส (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนรู้จัก” หมายถึง เนื้อคน, เนื้อสัตว์ (flesh, meat)

มํส” ในภาษาไทยใช้เป็น “มังส” และอิงสันสกฤตเป็น “มางสะ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

มังส-, มังสะ, มางสะ : (คำนาม) เนื้อของคนและสัตว์. (ป.).”

คำที่เราคุ้นกันดีคือ “มังสวิรัติ” (มัง-สะ-วิ-รัด) ก็มาจาก “มํส” คำนี้

ทีปิ + มํส = ทีปิมํส (ที-ปิ-มัง-สะ) แปลว่า “เนื้อเสีอเหลือง” 

ขยายความ :

ทีปิมํส” เป็น 1 ในเนื้อ 10 ชนิดที่มีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุฉัน คือ –

(1) มนุสฺสมํส เนื้อมนุษย์

(2) หตฺถิมํส เนื้อช้าง

(3) อสฺสมํส เนื้อม้า

(4) สุนขมํส เนื้อสุนัข

(5) อหิมํส เนื้องู

(6) สีหมํส เนื้อสิงโต

(7) พฺยคฺฆมํส เนื้อเสือโคร่ง

(8 ) ทีปิมํส เนื้อเสีอเหลือง

(9) อจฺฉมํส เนื้อหมี

(10) ตรจฺฉมํส เนื้อเสือดาว

…………..

ต้นเรื่องที่ห้ามฉันเนื้อเสือเหลือง ในพระวินัยปิฎกบันทึกไว้ดังนี้ –

…………..

เตน  โข  ปน  สมเยน  ลุทฺธกา  ทีปึ  หนฺตฺวา  ทีปิมํสํ  ปริภุญฺชนฺติ  ภิกฺขูนํ  ปิณฺฑาย  จรนฺตานํ  ทีปิมํสํ  เทนฺติ  ฯ 

ก็สมัยนั้นแล พวกพรานฆ่าเสือเหลืองแล้วบริโภคเนื้อเสีอเหลือง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต

ภิกฺขู  ทีปิมํสํ  ปริภุญฺชิตฺวา  อรญฺเญ  วิหรนฺติ  ฯ

พวกภิกษุฉันเนื้อเสีอเหลืองแล้วอยู่ในป่า

ทีปี  ทีปิมํสคนฺเธน  ภิกฺขู  ปริปาเตนฺติ  ฯ

เหล่าเสีอเหลืองฆ่าพวกภิกษุเพราะได้กลิ่นเนื้อเสีอเหลือง

ภควโต  เอตมตฺถํ  อาโรเจสุํ  ฯ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

(พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า)

น  ภิกฺขเว  ทีปิมํสํ  ปริภุญฺชิตพฺพํ  

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสีอเหลือง

โย  ปริภุญฺเชยฺย  อาปตฺติ  ทุกฺกฏสฺสาติ  ฯ

รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกฏ

ที่มา: เภสัชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 60

…………..

คัมภีร์อรรถกถาขยายความว่า –

…………..

สีหมํสาทีนิ  ปญฺจ  อตฺตโน  อนุปทฺทวตฺถายาติ  ฯ

เนื้อ 5 ชนิดมีเนื้อสิงโตเป็นต้น (รวมทั้งเนื้อเสีอเหลือง) ที่ทรงห้ามก็เพื่อต้องการความไม่มีอันตรายแก่ภิกษุ

ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค 3 หน้า 193

…………..

ดูก่อนภราดา!

สมัยหนึ่ง เคยมีคนคะนอง

เรียกพระสงฆ์ด้วยคำล้อเลียนว่า “เสือเหลือง”

: พระท่านไม่เคือง

: แต่นรกไม่ขำด้วย

#บาลีวันละคำ (3,654)

14-6-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *