บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คาถาในดวงใจ

คาถาในดวงใจ

—————

มีคนส่งคำที่เรียกกันว่า “คาถา” มาให้ผมช่วยแปล เขาบอกว่าเป็นคาถาของพระคุณท่านที่เป็น “เกจิ” รูปหนึ่ง และบอกว่าเป็นคาถาขับไล่หรือป้องโรคโควิด-อะไรทำนองนั้น

คาถาที่ผมเห็นอ่านได้ดังนี้

………………………

ทะสะขะ สะมังวิสาตุ

………………………

กับอีกฉบับหนึ่งว่าดังนี้ 

………………………

ทะสะขะ สะมัง วิสะตุ

………………………

ไปไล่ดูในกูเกิ้ลก็พบข้อความแบบนี้ เข้าใจว่าคงมีผู้เอาที่ส่งๆ ให้กันไปลงกูเกิ้ล หรือไม่ก็มีคนเอาที่มีในกูเกิ้ลไปส่งให้กัน

นอกจากนั้นยังมีลิงก์ให้ตามไปฟังเสียงสวดมนต์คาถานี้ด้วย ผมตามไปฟังแล้ว เป็นท่วงทำนองสวดแบบมหายาน มีเครื่องทำเสียงประกอบด้วย ดูเวลาที่สวดน่าจะเป็นชั่วโมง แต่ถ้อยคำที่สวดก็มีอยู่เท่านี้ – ทะสะขะ สะมัง วิสะตุ – สวดซ้ำๆ อยู่แค่นั้น

จากอักษรที่เขียนและจากเสียงที่สวด สรุปว่า ไม่รู้ว่าเป็นภาษาอะไรครับ

ดูหน้าตาและสุ้มเสียงเหมือนจะเป็นภาษาบาลี แต่แปลไม่ได้ แปลได้ก็ไม่ได้ความ

อย่าง – ทะสะ – ถ้าเป็นบาลีก็แปลว่า “สิบ” แต่คำนี้จะเป็น “ทส” ในบาลีหรือเปล่าก็ไม่รู้ แล้วยังมี “ขะ” ตามมาอีก เลยไม่รู้ว่าอะไร

“สะมัง” แปลได้ว่า “เสมอ” แต่ถ้าแยกเป็น “มัง” คำเดียว แปลว่า “ข้าพเจ้า” (me) 

“วิสะตุ” หรือ “วิสาตุ” คาถาก็แย้งกันเอง ไม่รู้ว่าจะเป็นคำไหน แต่ไม่ว่าจะเป็นคำไหนก็แปลไม่รู้เรื่องทั้งนั้น ฟังคล้ายๆ กับจะพยายามพูดว่า “วินัสสะตุ” ซึ่งแปลว่า “จงหายไป” แต่สำลักคำพูด ออกมาเป็น “วิสะตุ” 

อันนี้พยายามจะอธิบายช่วยนะครับ แต่ช่วยได้แค่นี้ คือสรุปว่าไม่รู้เรื่อง

มีอีกทางหนึ่ง คืออธิบายว่า ถ้อยคำพวกนี้เป็น “หัวใจ” คือย่อหรือตัดมาจากคำเต็มๆ อีกทีหนึ่ง แบบเดียวกับ “ทุ.ส.นิ.ม.” เป็นหัวใจอริยสัจสี่

ทุ. ย่อมาจาก ทุกข์

ส. ย่อมาจาก สมุทัย

นิ. ย่อมาจาก นิโรธ

ม. ย่อมาจาก มรรค

คาถาข้างต้นก็เหมือนกัน ถ้าเป็น “หัวใจ” ก็ต้องบอกได้ว่าย่อมาจากคำเต็มว่าอะไร 

ทะ ย่อมาจากอะไร

สะ ย่อมาจากอะไร

ขะ ย่อมาจากอะไร

…….

…….

ผู้ที่จะตอบได้ก็คือเจ้าตำรับ ท่านผู้ใดคิดคาถานี้ขึ้นมา ก็ต้องให้ท่านผู้นั้นตอบ 

นี่ก็พยายามอธิบายช่วยอีกทางหนึ่ง

สรุปว่า ท่านผู้ใดเป็นต้นตำรับคาถานี้ หรือแน่ใจว่ารู้ที่ไปที่มาและรู้ว่าเป็นภาษาอะไร แปลว่าอะไร ขอแรงช่วยอธิบายเป็นวิทยาทานเสริมศรัทธาให้พอมีปัญญาเข้าไปประสมบ้างสักหน่อยก็จะขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

…………………..

ทีนี้ สมมุติว่าพยายามสืบหาแล้วก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นภาษาอะไรแปลว่าอะไร จะทำยังไง?

ถ้าเป็นผม ผมก็ไม่เอาด้วย อันนี้เป็นคนละกรณีกับที่เราสวดมนต์เป็นภาษาบาลีแล้วเราไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรนะครับ กรณีนั้นท่านมีคำแปลมีคำอธิบายมีที่ไปที่มา เพียงแต่เราไม่ได้ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ

แต่กรณีนี้-คือไม่มีใครรู้ว่าเป็นภาษาอะไร มีความหมายว่าอย่างไร และถ้าไม่มีอยู่ในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา แล้วชาวพุทธเอามาสวดกันกระหึ่มไป จะหมายความว่าอย่างไร

บางทีอาจจะมีคนอ้าง “คาถาต้องอย่าแปล แปลแล้วไม่ขลัง” 

แต่ผมคิดสวนทางกับคำอ้างนี้ คาถาต้องแปลได้จึงจะขลัง คาถาที่ขลังเพราะไม่แปลย่อมไม่ปลอดภัย เพราะวันใดเกิดมีคนแปลขึ้นมา ความขลังก็จะเสื่อมไป ถ้าไม่อยากให้เสื่อมก็ต้องไม่พยายามแปล เท่ากับบังคับให้อยู่กับความไม่รู้ การที่เราไม่รู้ว่ากำลังศรัทธาอยู่กับอะไรย่อมผิดวิสัยของชาวพุทธ 

เพราะฉะนั้น คาถาต้องแปลจึงจะขลัง รู้คำแปลแล้วถ้าเห็นว่าไม่มีสาระ ก็เป็นโอกาสที่จะสลัดทิ้งไปตั้งแต่ต้นมือ แต่ถ้าเห็นว่ามีสาระ ก็จะเป็นแรงหนุนให้ศรัทธาหนักแน่นยิ่งขึ้น ยิ่งถ้ารู้คำแปลแบบถึงรากถึงโคน ก็ยิ่งเกิดปัญญา ปัญญาก็ไปหนุนศรัทธาให้มั่นคง ศรัทธาที่มั่นคงก็จะหนุนให้ปัญญาก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป 

จุดอ่อนอย่างยิ่งของชาวพุทธในบ้านเราก็คือ มีศรัทธา แต่ไม่มีปัญญาแม้ในเรื่องที่ตนกำลังศรัทธาอยู่นั่นเอง

…………………..

ท่านที่มีศรัทธาจะสวดบท – ทะสะขะ สะมัง วิสะตุ – ต่อไป ก็เชิญตามอัธยาศัยนะครับ ศรัทธาใครก็ศรัทธาใคร ไม่ว่ากัน

สำหรับท่านที่กำลังแสวงหาที่พึ่ง โดยเฉพาะประเภท-ฟางลอยน้ำมาเส้นหนึ่งก็ต้องคว้าไว้ก่อน-ผมขอเสนอคาถาให้ท่านเอาไปท่องสักบทหนึ่งครับ

………………………

นโม พุทฺธสฺส

………………………

ท่องว่า นะโม พุทธัสสะ

………………………

แปลว่า ขอนอบน้อมพระพุทธเจ้า

………………………

คาถานี้มีฝอยประกอบด้วย พึงสดับ:

…………………..

เด็กคนหนึ่งพ่อแม่นับถือพุทธศาสนา เวลาจะเล่นทอยกองหยอดหลุมตามประสาเด็ก ท่องคาถาว่า “นโม พุทฺธสฺส” แล้วทอยไปหยอดไป ชนะทุกตา 

วันหนึ่งพอพาขึ้นเกวียนไปขนฟืนในป่า ขากลับพอพ้นชายป่าก็ปลดเกวียน พักหุงข้าวกินข้างๆ ป่าช้าแห่งหนึ่ง ปล่อยโคให้หากินแถวนั้น ตกเย็นโคทั้งสองก็เดินตามฝูงโคกลับเข้าเมือง พ่อตามไปเอาโคในเมือง แต่กลับออกมาไม่ทัน ประตูเมืองปิดเสียก่อน

อมนุษย์ ๒ ตน (ไม่รู้ว่าเป็นผีเป็นยักษ์หรือเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทไหน ท่านใช้คำเรียกรวมๆ ว่า “อมนุษย์” แต่เป็นพวกมีฤทธิ์มีเดชเหนือมนุษย์ธรรมดา) เห็นเด็กนอนหลับอยู่ใต้เกวียน ตนหนึ่งชวนอีกตนหนึ่งจับเด็กกิน ตนนั้นห้ามว่าอย่าทำเลย อมนุษย์ตนนั้นไม่ฟังเสียง กรากเข้าไปจับขาเด็กลากออกมาจากใต้เกวียน 

เด็กตกใจตื่น ร้องออกมาว่า “นโม พุทฺธสฺส” เพราะท่องติดปากติดใจจนติดเป็นนิสัย 

อมนุษย์ได้ยินคำว่า “นโม พุทฺธสฺส” ก็ปล่อยเด็กทันที กลัวตัวสั่นงันงก เพื่อนอมนุษย์บอกว่า เราทำพลาดแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรแก้ตัวเป็นแย่แน่ เอ็งเข้าไปหาอาหารในเมืองมาให้เด็ก ข้าจะเฝ้าเด็กไว้เอง 

อมนุษย์ที่คิดจะกินเด็กก็เข้าไปในเมือง เอาอาหารในห้องเครื่องของพระเจ้าแผ่นดินใส่ถาดเสวยออกมาให้เด็ก จำแลงตัวเป็นพ่อแม่เด็ก ปลุกเด็กขึ้นมากินข้าว ช่วยกันดูแลรักษาเด็กไว้เป็นอย่างดี ก่อนไปก็เขียนคำให้การบอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นไว้ที่ถาด แต่อธิษฐานไม่ให้คนอื่นอ่านออก ให้อ่านได้แต่พระราชาองค์เดียว

รุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่สืบหาถาดเสวยของพระราชา มาเจอที่เด็กก็กุมตัวเด็กไปเฝ้าพระราชา พระราชาตรัสถามเด็ก เด็กเล่าว่า จำได้แต่ว่าเหมือนกับพ่อแม่เอาอาหารมาให้กิน กินแล้วก็หลับสบาย จำได้แค่นี้ ไม่รู้ว่าถาดมาได้ยังไง กำลังสอบสวนกันอยู่พ่อแม่เด็กก็ถูกนำตัวมาเฝ้าในฐานะผู้ต้องสงสัยอีกคู่หนึ่ง

ประเด็นปัญหาก็คือ 

(๑) ถ้าเด็กขโมยถาดตามข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ เด็กอยู่นอกเมือง เข้ามาขโมยถาดในวังได้อย่างไรในเมื่อประตูเมืองปิดอยู่

(๒) ถ้าพ่อแม่เด็กขโมยถาดใส่อาหารไปให้เด็กตามคำให้การของเด็ก พ่อแม่อยู่ในเมือง ขโมยถาดในวังออกไปได้อย่างไรในเมื่อประตูเมืองปิดอยู่

พระราชาอ่านคำให้การที่อมนุษย์เขียนไว้ที่ถาดว่า เปลี่ยนใจไม่กินเด็ก แต่กลับช่วยดูแลรักษาเด็กเป็นอย่างดีด้วยการเข้ามาเอาอาหารใส่ถาดเสวยไปเลี้ยงเด็ก เพราะเด็กสวดบทว่า “นโม พุทฺธสฺส” ทรงเชื่อว่าเป็นความจริง แต่ทรงสนเท่ห์ในพระทัยว่า ลำพังเจริญพุทธานุสติอย่างเดียวเท่านั้นก็เป็นเครื่องคุ้มครองได้ หรือว่ามีวิธีอื่นอีก จึงทรงพาเด็กและพ่อแม่เด็กไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามข้อสงสัย

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า มิใช่พุทธานุสติอย่างเดียว หากแต่มีวิธีอื่นอีกรวมแล้ว ๖ วิธี ใครอบรมจิตให้เจริญงอกงามดีด้วยวิธีทั้ง ๖ นี้แล้ว แม้จะไม่มีใครคุ้มครองรักษา แม้จะไม่มีหยูกยาหรือเวทมนตร์ใดๆ มาช่วย ก็เหมือนกับมีเครื่องคุ้มครองรักษาอยู่แล้วเป็นอันดี

แล้วตรัสพุทธภาษิตดังนี้ 

………………………

สาวกของพระโคดมพุทธเจ้า 

(๑) ผู้รำลึกถึงพระพุทธคุณ (พุทธานุสติ)

(๒) ผู้รำลึกถึงพระธรรมคุณ (ธัมมานุสติ)

(๓) ผู้ระลึกถึงพระสังฆคุณ (สังฆานุสติ)

(๔) ผู้รำลึกถึงความเป็นจริงของร่างกาย (กายคตาสติ)

(๕) ผู้มีใจยินดีในความไม่เบียดเบียน (อหิงสารติ-กรุณาภาวนา)

(๖) ผู้มีใจยินดีในภาวนา (ภาวนารติ-เมตตาภาวนา)

ตลอดกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันกลางคืน 

แม้หลับก็ชื่อว่าย่อมตื่นดีแล้วเสมอ

………………………

ที่มา: ทารุสากฏิกวัตถุ ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๗

…………………..

คาถา “นโม พุทฺธสฺส” มีที่ไปที่มาดังแสดงมา 

“นโม พุทฺธสฺส” มีความหมายเหมือนกับ “นโม พุทฺธาย” (นะโม พุทธายะ) ที่นักเลงคาถารู้จักกันดี “พุทฺธสฺส” และ “พุทฺธาย” รูปคำเดิมคือ “พุทฺธ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) ปุงลิงค์ เอกวจนะ เปลี่ยนรูปได้ ๓ แบบ คือ “พุทฺธสฺส” “พุทฺธาย” “พุทฺธตฺถํ”

“พุทฺธสฺส” พบบ่อย 

“พุทฺธาย” ก็มีบ้าง 

แต่ “พุทฺธตฺถํ” ไม่ค่อยพบ

ถ้ายังไม่มีคาถาป้องกันโควิดในดวงใจ ขอเสนอ “นโม พุทฺธสฺส” ไว้ในอ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลงสักบทหนึ่งนะครับ 

ภาวนาได้ตลอดเวลา ภาวนาให้ติดปากติดใจ จนติดเป็นนิสัย ถึงขนาดจะพูดอะไรกับใครเป็นต้องมี “นโม พุทฺธสฺส” หลุดปากมาก่อนเสมอๆ ยิ่งดีนักแล

ท่านผู้ใดใครผู้ไหนสำนักไหนจะเอาคาถาใดๆ มาเผยแพร่ ถ้าจะกรุณาบอกที่ไปไขที่มา ให้รู้คำแปล ให้รู้ความหมายไว้ด้วย จะเป็นการดีนักหนา ขอความกรุณาว่าอย่ามุ่งแต่จะให้เกิดศรัทธาเพียงอย่างเดียว หากแต่แถมสติปัญญาเข้าไว้ด้วย ก็จะเป็นมหากุศลควรแก่การอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่ง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๔:๑๒

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *