ปีติสัมโพชฌงค์ – 1 ในโพชฌงค์ 7 (บาลีวันละคำ 3,847)
ปีติสัมโพชฌงค์ – 1 ในโพชฌงค์ 7
อ่านว่า ปี-ติ-สำ-โพด-ชง
ประกอบด้วยคำว่า ปีติ + สัมโพชฌงค์
(๑) “ปีติ”
อ่านว่า ปี-ติ รากศัพท์มาจาก ปี (ธาตุ = ยินดี, ชอบใจ) + ติ ปัจจัย
: ปี + ติ = ปีติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กิริยาที่ยินดี”
โปรดสังเกต: พยางค์ต้น ปี- สระ อี เสียงเดียวกับคำไทยว่า เดือนปี ไม่ใช่ ปิ สระ อิ เหมือนคำไทยว่า กะปิ
ปีติ ปี- สระ อี ถูก
ปิติ ปิ สระ อิ ผิด ✘
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ปีติ” ว่า ความยินดี, ความอิ่มใจ, ความเบิกบานใจ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติ” ว่า emotion of joy, delight, zest, exuberance (ความรู้สึกยินดี, ความอิ่มใจ, ความปราโมทย์, ความซาบซ่านหรือดื่มด่ำ)
บาลี “ปีติ” สันสกฤตเป็น “ปฺรีติ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรีติ : (คำนาม) ‘ปรีติ’ ความยินดี, ความปราโมท, ความสุข; ความรัก, ความเสน่หา, ความนับถือ, วธูของกามเทพ; นักษัตรโยคที่สองในจำนวนยี่สิบเจ็ด; joy, pleasure, happiness; love, affection, regard; the wife of Kāmadeva or Cupid; the second of the twenty-seven astronomical yogas.”
ภาษาไทยใช้ตามรูปบบาลีเป็น “ปีติ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปีติ : (คำนาม) ความปลาบปลื้มใจ, ความอิ่มใจ. (ป.; ส. ปฺรีติ).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “ปีติ” ไว้ว่า –
…………..
ปีติ : ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำในใจ มี ๕ คือ ๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อยพอขนชันน้ำตาไหล ๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะรู้สึกแปลบๆ ดุจฟ้าแลบ ๓. โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นระลอกรู้สึกซู่ลงมาๆ ดุจคลื่นซัดฝั่ง ๔. อุพเพคาปีติ ปีติโลดลอย ให้ใจฟู ตัวเบาหรืออุทานออกมา ๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ เป็นของประกอบกับสมาธิ (ข้อ ๔ ใน โพชฌงค์ ๗)
…………..
(๒) “สัมโพชฌงค์”
อ่านว่า สำ-โพด-ชง เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺโพชฺฌงฺค” อ่านว่า สำ-โพด-ชัง-คะ แยกศัพท์เป็น สมฺโพชฺฌ + องฺค
(ก) “สมฺโพชฺฌ” อ่านว่า สำ-โพด-ชะ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + พุธฺ (ธาตุ = รู้, ตื่น, เบ่งบาน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย), แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง ธ ที่ (พุ)-ธฺ กับ ย เป็น ชฺฌ, แผลง อุ ที่ พุ-(ธฺ) เป็น โอ (พุธฺ > โพธ)
: สํ + พุธฺ = สํพุธฺ + ณฺย = สํพุธณฺย > สํพุธฺย > สมฺพุธฺย > สมฺพุชฺฌ > สมฺโพชฺฌ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การรู้พร้อม” “เครื่องรู้พร้อม” หมายถึง ปัญญาเครื่องตรัสรู้, การตรัสรู้, การบรรลุธรรม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โพชฺฌ” ว่า a matter to be known or understood, subject of knowledge or understanding (เรื่องที่จะต้องรู้หรือต้องเข้าใจ, ธรรมอันเป็นที่รู้หรือเข้าใจ)
(ข) “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” (คือทำให้รู้ต้นกำเนิด) (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นส่วนย่อย”
“องฺค” ในบาลีหมายถึง –
(1) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ (a constituent part of the body, a limb)
(2) ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ (member, part)
(3) องค์ประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือส่วนย่อยที่ประกอบเข้าเป็นส่วนใหญ่ (a constituent part of a whole or system or collection)
สมฺโพชฺฌ + องฺค = สมฺโพชฺฌงฺค > สัมโพชฌงค์ แปลว่า “ธรรมอันเป็นองค์แห่งการรู้พร้อม” (คือเมื่อปฏิบัติตามแล้วสามารถตรัสรู้ได้)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมฺโพชฺฌงฺค” ว่า constituent of Sambodhi (enlightenment), of which there are seven (องค์แห่งสัมโพธิ [การตรัสรู้พร้อม] ซึ่งมี 7 อย่าง)
ปีติ + สมฺโพชฺฌงฺค = ปีติสมฺโพชฺฌงฺค (ปี-ติ-สำ-โพด-ชัง-คะ) > ปีติสัมโพชฌงค์ (ปี-ติ-สำ-โพด-ชง) แปลว่า “ธรรมอันเป็นองค์แห่งการรู้พร้อมคือความอิ่มใจ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปีติสมฺโพชฺฌงฺค” ว่า the joy-constituent of enlightenment (ความปีติอันเป็นส่วนประกอบที่จะบรรลุสัมโพธิญาณ)
ขยายความ :
คำว่า “โพชฌงค์” เมื่อนำเอาชื่อธรรมแต่ละข้อมาเรียกรวมกัน นิยมใช้เป็น “สัมโพชฌงค์” โดยมีชื่อธรรมข้อนั้นๆ นำหน้า เช่นในที่นี้คือ “ปีติ” ชื่อข้อธรรมเต็มๆ ก็จะเป็น “ปีติสัมโพชฌงค์”
“ปีติสัมโพชฌงค์” เป็นโพชฌงค์ข้อที่ 4 ในโพชฌงค์ 7
เมื่ออธิบายความหมายของธรรมหมวดนี้ คำหลักก็คือคำว่า “โพชฌงค์”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“โพชฌงค์ : ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์ของผู้ตรัสรู้ มี ๗ ข้อ คือ ๑. สติ ๒. ธัมมวิจยะ (การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม) ๓. วิริยะ ๔. ปีติ ๕. ปัสสัทธิ ๖. สมาธิ ๗. อุเบกขา.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โพชฌงค์ : (คำนาม) องค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้ มี ๗ ประการ; ชื่อพระปริตรที่พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟัง เรียกว่า สวดโพชฌงค์. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [281] แสดงความหมายของ “โพชฌงค์” ไว้ดังนี้ –
(ภาษาอังกฤษในวงเล็บ [] เป็นคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบ)
…………..
โพชฌงค์ 7 (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ — Bojjhaŋga: enlightenment factors) [a factor or constituent of knowledge or wisdom]
…………..
และแสดงความหมายของ “ปีติ” ในโพชฌงค์ 7 ไว้ดังนี้ –
…………..
4. ปีติ (ความอิ่มใจ — Pīti: zest; rapture)
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [226] แสดงความหมายของ “ปีติ” 5 อย่าง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ดังนี้ –
…………..
ปีติ 5 (ความอิ่มใจ, ความดื่มด่ำ — Pīti: joy; interest; zest; rapture)
1. ขุททกาปีติ (ปีติเล็กน้อย พอขนชูชันน้ำตาไหล — Khuddakā-pīti: minor rapture; lesser thrill)
2. ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะๆ ดุจฟ้าแลบ — Khaṇikā-pīti: momentary or instantaneous joy)
3. โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นระลอกหรือปีติเป็นพักๆ ให้รู้สึกซู่ลงมาๆ ในกาย ดุจคลื่นซัดต้องฝั่ง — Okkantikā-pīti: showering joy; flood of joy)
4. อุพเพคาปีติ หรือ อุพเพงคาปีติ (ปีติโลดลอย เป็นอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการหรือทำการบางอย่างโดยมิได้ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน เป็นต้น หรือให้รู้สึกตัวเบาลอยขึ้นไปในอากาศ — Ubbegā-pīti: uplifting joy)
5. ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์ ปีติที่ประกอบกับสมาธิท่านมุ่งเอาข้อนี้ — Pharaṇā-pīti: suffusing joy; pervading rapture)
…………..
โปรดเปรียบเทียบกับพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ซึ่งเรียกชื่อปีติแต่ละข้อและบอกความหมายไว้ ดังนี้ –
(1) khuddikā pīti: slight sense of interest (ขุทฺทิกา ปีติ: ความรู้สึกตื่นเต้นนิดๆ)
(2) khaṇikā pīti: momentary joy (ขณิกา ปีติ: ความดีใจชั่วครู่)
(3) okkantikā pīti: oscillating interest, flood of joy (โอกฺกนฺติกา ปีติ: ความตื่นเต้นที่แกว่งไปมา หรือขึ้นๆ ลงๆ หรือความดีใจที่ประดังขึ้นมา)
(4) ubbegā pīti: ecstasy, thrilling emotion (อุพฺเพคา ปีติ: ความซาบซ่านหรือความปลาบปลื้มอย่างสุดขีด)
(5) pharaṇā pīti: interest amounting to rapture, suffusing joy (ผรณา ปีติ: ความตื่นเต้นถึงขีดลืมตัวหรือหมดสติ)
…………..
แถม :
การที่นิยมให้พระสงฆ์สวด “โพชฌงค์” ให้คนเจ็บหนักฟังก็เพราะโพชฌังคสูตรในพระไตรปิฎกแสดงเรื่องราวไว้ว่า บางสมัย พระพุทธเจ้าหรือพระสาวกบางองค์อาพาธ เมื่อได้สดับการสวดโพชฌงค์ อาพาธหรือการเจ็บป่วยนั้นก็บรรเทาหายไป จึงเกิดเป็นความนิยมให้พระสงฆ์สวดให้คนเจ็บหนักฟังสืบต่อมา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำด้วยตัวเองเต็มที่ แม้จะล้มเหลว
: อิ่มใจกว่าทำสำเร็จเพราะมีคนช่วย
#บาลีวันละคำ (3,847)
24-12-65
…………………………….
……………………………