อนุโลม-ปฏิโลม (บาลีวันละคำ 695)
อนุโลม-ปฏิโลม
อ่านว่า อะ-นุ-โลม / ปะ-ติ-โลม
บาลีอ่านว่า อะ-นุ-โล-มะ / ปะ-ติ-โล-มะ
ประกอบด้วย อนุ + โลม – ปฏิ + โลม
“อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า น้อย, ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ, บ่อยๆ
“โลม” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาตัดเมื่อยาวขึ้น” “สิ่งที่ควรตัดทิ้ง” หมายถึง ขนที่ขึ้นตามร่างกาย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โลม” แบบให้คำจำกัดความว่า the hair of the body และเพื่อให้เห็นว่าต่างจาก “ผม” จึงขยายความไว้ว่า whereas kesa is the hair of the head only (ส่วน “เกส” คือ ขนของศีรษะเท่านั้น)
อนุ + โลม = อนุโลม แปลตามศัพท์ว่า “ตามเส้นขน” (with the hair) และใช้เป็นสำนวน (ไม่ได้มีความหมายตามตัวอักษร) ว่า ตามลำดับปกติ, เหมาะสม, เหมาะเจาะ, ปรับเข้ากันได้, ตรงไปตรงมา (in natural order, suitable, fit, adapted to, adaptable, straight forward)
ในภาษาไทย พจน.54 บอกความหมายของ “อนุโลม” ไว้ว่า –
(1) ใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสม
(2) คล้อยตาม
(3) (คำที่ใช้ในกฎหมาย) นำมาใช้โดยอาศัยหลักการอย่างเดียวกัน แต่ให้แก้ไขในรายละเอียดได้ตามควรแก่กรณี
(4) (คำวิเศษณ์) ตามลําดับ เช่น ท่องแบบอนุโลม, คู่กับ ปฏิโลม คือ ย้อนลําดับ
“ปฏิ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ
“ปฏิโลม” (< ปฏิ+โลม) แปลตามศัพท์ว่า “ย้อนเส้นขน” (against the hair) หมายถึง ในทางกลับกัน, ตรงกันข้าม, ขัดกัน, ถอยหลัง (in reverse order, opposite, contrary, backward)
อนุโลม กับ ปฏิโลม เมื่อพูดคู่กันเป็น “อนุโลมปฏิโลม” มีความหมายว่า ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายและตั้งแต่ปลายจนถึงต้น, เดินหน้าถอยหลัง, ทบทวนกลับไปกลับมา (in regular order & reversed, forward & backward)
ตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้คำว่า “อนุโลมปฏิโลม” คู่กันก็คือ บทเจริญตจปัญจกกรรมฐาน –
: เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ – อย่างนี้เรียก “อนุโลม” (ว่าตามลำดับ)
: ตะโจ ทันตา นะขา โลมา เกสา – อย่างนี้เรียก “ปฏิโลม” (ว่าย้อนลำดับ)
ในภาษาไทยมีคำพูดว่า “โอ้โลมปฏิโลม” (= พูดเอาอกเอาใจ, พูดเกลี้ยกล่อม) ก็น่าจะกลายมาจาก “อนุโลมปฏิโลม” คำนี้เอง
: ทุจริต คิดทบทวนก่อนจะทำ
: วิบากกรรมไม่อนุโลมให้ใคร
12-4-57