ทานมัย (บาลีวันละคำ 3,342)
ทานมัย (บุญกิริยาวัตถุข้อ 1)
“ทำบุญให้ทาน”
…………..
วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:
ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –
1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี
3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา
ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ
4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้
10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง
…………..
ทำบุญวิธีที่ 1 “ทานมัย”
อ่านว่า ทาน-นะ-ไม
ประกอบด้วยคำว่า ทาน + มัย
(๑) “ทาน”
บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้”
“ทาน” มีความหมายว่า –
(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น
(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)
“ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –
“ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป.”
(๒) “มัย”
บาลีเป็น “มย” อ่านว่า มะ-ยะ นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –
(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)
(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)
(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)
(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)
(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)
(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)
กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ
ทาน + มย = ทานมย (ทา-นะ-มะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการให้” หรือ “บุญที่สำเร็จด้วยทาน” อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทำบุญให้ทาน” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีให้ทาน
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทานมัย : (คำวิเศษณ์) สำเร็จด้วยทาน, แล้วไปด้วยทาน, เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ. (ป., ส.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
ทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการบริจาคทาน (ข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ และ ๑๐)
…………..
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทานมย” ว่า consisting in giving alms or being liberal (ประกอบด้วยการให้ทานหรือมีใจคอกว้างขวาง)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ –
…………..
1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ — Dānamaya: meritorious action consisting in generosity; merit acquired by giving)
…………..
กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “ทานมัย” คือ มัจฉริยะ (ความตระหนี่)
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ให้ เบา
: เอา หนัก
#บาลีวันละคำ (3,342)
6-8-64