บาลีวันละคำ

มาสก (บาลีวันละคำ 1,008)

มาสก

ภาษาไทยอ่านว่า มา-สก

บาลีอ่านว่า มา-สะ-กะ

มาสก” รากศัพท์มาจาก มสฺ (ธาตุ = จับต้อง) + ณฺวุ ปัจจัย, ยืดเสียง อะ ที่ – เป็น อา, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: มสฺ + ณฺวุ > อก = มสก > มาสก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนจับต้องด้วยคิดว่าสิ่งนี้เป็นของเรา” หมายถึง เงินตรา, มาตรานับเงิน

หลักพระวินัยของสงฆ์ที่รู้กันมีว่า “ภิกษุถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ได้ราคา 5 มาสก ต้องปาราชิก

เหตุที่กำหนดราคาไว้เท่านี้มาจากการเทียบอัตราโทษของแคว้นมคธสมัยพุทธกาล กล่าวคือในแคว้นมคธสมัยนั้น โจรลักทรัพย์มีราคาตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไปต้องระวางโทษประหารชีวิต เมื่อจะทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนี้จึงกำหนดราคาทรัพย์ไว้เท่านั้น

ปัญหาก็คือ 5 มาสก เป็นเงินเท่าไร ?

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มาสก : (คำนาม) ชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก เป็น ๑ บาท. (ป.; ส. มาษก).”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9, ราชบัณฑิต) ที่คำว่า “มาสก” บอกไว้ว่า “1 มาสก = 4 บาทไทย

พระลิขิตสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่นำมาอ้างอิงกันในขณะนี้มีความตอนหนึ่งว่า –

การโกงสมบัติผู้อื่นตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป คือประมาณไม่ถึง 300 บาทในปัจจุบัน

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกว่า “มาสก” รากศัพท์มาจาก “มาส” แปลว่า “a small bean” (ถั่วเม็ดเล็กๆ) และแปล “มาสก” ว่า a small coin (เหรียญเล็กๆ)

ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม 1 หน้า 40 พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส บอกว่า –

“5 มาสกเป็นบาทหนึ่ง 4 บาทเป็นกหาปณะหนึ่ง กหาปณะเป็นหลักมาตราเช่นเงินบาทในกรุงสยาม ณ บัดนี้ รูปิยะที่ใช้อยู่ในต่างแคว้นมีอัตราไม่เหมือนกัน ต้องมีมาตราสำหรับแลกเปลี่ยนอีกส่วนหนึ่ง. มาตรารูปิยะในแคว้นมคธ ณ ครั้งนั้น จะสันนิษฐานเทียบกับมาตรารูปิยะในบัดนี้ ย่อมรู้ได้ยาก จะเทียบบาทในแคว้นมคธ ณ ครั้งนั้นกับบาทของเราในครั้งนี้ด้วยสักว่าชื่อเหมือนกันก็ไม่ได้..”

5 มาสก เป็นเงินเท่าไร พึงศึกษาสอบสวนกันต่อไปเทอญ

คำคนเก่าพูดกันมาว่า “พระมีราคาแค่ห้ามาสก

: พระแท้ รักษาห้ามาสกเพื่อแลกกับมรรคผล

: พระฉ้อฉล เอามรรคผลมาแลกห้ามาสก

20-2-58

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย