สีลมัย (บาลีวันละคำ 3,343)
สีลมัย (บุญกิริยาวัตถุข้อ 2)
“ทำบุญถือศีล”
…………..
วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:
ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –
1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี
3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา
ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ
4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้
10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง
…………..
ทำบุญวิธีที่ 2 “สีลมัย”
อ่านว่า สี-ละ-ไม
ประกอบด้วยคำว่า สีล + มัย
(๑) “สีล”
อ่านว่า สี-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) สีลฺ (ธาตุ = สงบ, ทรงไว้) + อ (อะ) ปัจจัย
: สีลฺ + อ = สีล แปลตามศัพท์ว่า “เหตุสงบแห่งจิต” “เหตุให้ธำรงกุศลธรรมไว้ได้” “ธรรมที่ธำรงผู้ปฏิบัติไว้มิให้เกิดในอบาย”
(2) สิ (ธาตุ = ผูก) + ล ปัจจัย, ยืดเสียง (ทีฆะ) อิ ที่ สิ เป็น อี
: สิ + ล = สิล > สีล แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องผูกจิตไว้”
นัยหนึ่งนิยมแปลกันว่า “เย็น” หรือ “ปกติ” โดยความหมายว่า เมื่อไม่ละเมิดข้อห้ามก็จะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นปกติเรียบร้อย
“สีล” หมายถึง :
(1) ข้อปฏิบัติทางศีลธรรม, นิสัยที่ดี, จริยธรรมในพุทธศาสนา, หลักศีลธรรม (moral practice, good character, Buddhist ethics, code of morality)
(2) ธรรมชาติ, นิสัย, ความเคยชิน, ความประพฤติ (nature, character, habit, behavior)
“สีล” ในบาลี เป็น “ศีล” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
(1) ศีล : (คำคุณศัพท์) มี; มีความชำนาญ; มีมรรยาทหรือจรรยาดี, มีอารมณ์ดี; endowed with, or possessed of; versed in; well-behaved, well-disposed.
(2) ศีล : (คำนาม) ชาติหรือปรกฤติ, คุณหรือลักษณะ; ภาวะหรืออารมณ์; สุศีล, จรรยา– มรรยาท– หรืออารมณ์ดี; การรักษาหรือประติบัทธรรมและจรรยาไว้มั่นและเปนระเบียบ; โศภา, ความงาม; งูใหญ่; nature, quality; disposition or inclination; good conduct or disposition; steady or uniform observance of law and morals; beauty; a large snake.
ในภาษาไทยนิยมใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ศีล”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศีล : (คำนาม) ข้อบัญญัติทางพระพุทธศาสนาที่กำหนดการปฏิบัติกายและวาจา เช่น ศีล ๕ ศีล ๘, การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย, เป็นธรรมข้อ ๑ ในทศพิธราชธรรม (ดู ทศพิธราชธรรม); พิธีกรรมบางอย่างทางศาสนา เช่น ศีลจุ่ม ศีลมหาสนิท. (ส. ศีล ว่า ความประพฤติที่ดี; ป. สีล).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
ศีล : ความประพฤติดีทางกายและวาจา, การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย, ข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม, การรักษาปกติตามระเบียบวินัย, ปกติมารยาทที่ปราศจากโทษ, ข้อปฏิบัติในการฝึกหัดกายวาจาให้ดียิ่งขึ้น, ความสุจริตทางกายวาจาและอาชีพ; มักใช้เป็นคำเรียกอย่างง่ายสำหรับคำว่า อธิศีลสิกขา (ข้อ ๑ ในไตรสิกขา, ข้อ ๒ ในบารมี ๑๐, ข้อ ๒ ในอริยทรัพย์ ๗, ข้อ ๒ ในอริยวัฑฒิ ๕)
…………..
(๒) “มัย”
บาลีเป็น “มย” อ่านว่า มะ-ยะ นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –
(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)
(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)
(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)
(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)
(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)
(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)
กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ
สีล + มย = สีลมย (สี-ละ-มะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล” หรือ “บุญที่สำเร็จด้วยศีล” อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทำบุญถือศีล” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีรักษาศีล
ขยายความ :
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สีลมัย : (คำวิเศษณ์) สำเร็จด้วยศีล, แล้วไปด้วยศีล, เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ. (ป.).”
ข้อสังเกต :
(1) พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “ศีล” (ศีล ศ ศาลา) แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “ศีลมัย”
(1) พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “สีลมัย” (สีล ส เสือ) แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “สีล”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล, ทำบุญด้วยการประพฤติดีงาม (ข้อ ๒ ในบุญกิริยาวัตถุ ๓ และ ๑๐)
…………..
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สีลมย” ว่า consisting in morality (ประกอบด้วยศีล)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ –
…………..
2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี — Sīlamaya: by observing the precepts or moral behaviour)
…………..
ศีลไม่ใช่ข้อห้าม แต่เป็นความสมัครใจที่จะงดเว้นการกระทำบางอย่าง “สีลมัย” เป็นบุญที่ทำได้ด้วยการถือศีล
กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “สีลมัย” คือ โทสะ และความไม่สำรวมอินทรีย์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ห้ามใจตัวเอง
: ดีกว่าถูกนักเลงสั่งห้าม
#บาลีวันละคำ (3,343)
7-8-64