บาลีวันละคำ

ปัตตานุโมทนามัย (บาลีวันละคำ 3,352)

ปัตตานุโมทนามัย (บุญกิริยาวัตถุข้อ 7)

“ทำบุญโมทนา”

…………..

วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:

ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –

1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ

2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี

3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา

ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ 

4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม

5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้

6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น

7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น 

8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ 

9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ 

10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง

…………..

ทำบุญวิธีที่ 7 “ปัตตานุโมทนามัย

อ่านว่า ปัด-ตา-นุ-โม-ทะ-นา-ไม

ประกอบด้วยคำว่า ปัตตานุโมทนา + มัย

(๑) “ปัตตานุโมทนา” 

เขียนแบบบาลีเป็น “ปตฺตานุโมทนา” อ่านว่า ปัด-ตา-นุ-โม-ทะ-นา แยกศัพท์เป็น ปตฺติ + อนุโมทนา 

(ก) “ปตฺติ” อ่านว่า ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก ปทฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ติ ปัจจัย, แปลง ทฺ ที่ (ป)-ทฺ เป็น ตฺ (ปทฺ > ปตฺ)

: ปทฺ + ติ = ปทฺติ > ปตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปถึง

ปตฺติ” (อิตถีลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การได้รับ, การได้มา, การได้, การเข้าร่วม, การเข้าถึง (obtaining, acquiring, getting, entering into, state of) 

(2) การบรรลุ, การถึง (attainment, acquisition) 

(3) การได้, สิ่งที่ได้, กำไร, ผลประโยชน์ (gaining, gain, profit, advantage) 

(4) ส่วนบุญ, กำไร, การมอบ, การแนะนำ, การอุทิศส่วนบุญ, ทักษิณา (merit, profit, accrediting, advising, transference of merit, a gift of merit) 

(5) สิ่งที่ได้รับ, โอกาส, สิ่งที่เกิดขึ้น, สถานะ, สถานที่, (that which obtains, occasion, happening, state, place) 

ในที่นี้ใช้ในความหมายตามข้อ (4) 

(ข) “อนุโมทนา” อ่านว่า อะ-นุ-โม-ทะ-นะ รากศัพท์มาจาก อนุ (คำอุปสรรค = น้อย,ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ) + มุทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อุ ที่ มุ-(ทฺ) เป็น โอ (มุทฺ > โมท

: อนุ + มุทฺ = อนุมุทฺ + ยุ > อน = อนุมุทน > อนุโมทน แปลตามศัพท์ในความหมายหนึ่งว่า “การพลอยยินดี” 

อนุโมทน” เป็นรูปนปุงสกลิงค์ ศัพท์นี้ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ เป็น “อนุโมทนา” ก็มี

อนุโมทน” หรือ “อนุโมทนา” มีคำขยายความดังนี้ –

(1) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น” 

(2) “การชื่นชมยินดีภายหลังจากที่รู้หรือเห็นคนอื่นทำความดี” 

(3) “เรื่องดีๆ เกิดขึ้นก่อน รู้สึกชื่นชมยินดีตามหลังมา” 

(4) “การชื่นชมยินดีอยู่เสมอๆ เมื่อเห็นคนทำดี”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุโมทน” ว่า –

“according to taste”, i.e. satisfaction, thanks, esp. after a meal or after receiving gifts = to say grace or benediction, blessing, thanksgiving (“ตามรสนิยม”, คือ ความชื่นชม, การขอบคุณ, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังภัตตาหาร หรือหลังจากที่ได้รับเครื่องไทยทาน = กล่าวอนุโมทนา หรือให้พร, ประสาทพรให้, แสดงความขอบคุณ) 

บาลี “อนุโมทน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อนุโมทนา

บาลีเป็นคำนาม เอามาใช้ในภาษาไทยเป็นคำกริยา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อนุโมทนา : (คำกริยา) ยินดีตาม, ยินดีด้วย, พลอยยินดี; เรียกคําให้ศีลให้พรของพระว่า คําอนุโมทนา. (ป., ส.).”

ปตฺติ + อนุโมทนา ใช้สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อิ ที่ ปตฺติ (ปตฺติ > ปตฺต) และทีฆะ อะ ที่ -(นุโมทนา) เป็น อา (อนุโมทนา > อานุโมทนา

ปตฺติ > ปตฺต + อนุโมทนา = ปตฺตานุโมทนา แปลว่า “การอนุโมทนาส่วนบุญ” 

ปตฺตานุโมทนา” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปัตตานุโมทนา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปัตตานุโมทนา : (คำนาม) การอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้. (ป.).”

โปรดสังเกต: “อนุโมทนา” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำกริยา แต่ “ปัตตานุโมทนา” พจนานุกรมฯ บอกว่าเป็นคำนาม

(๒) “มัย” 

บาลีเป็น “มย” อ่านว่า มะ-ยะ นักภาษาวิเคราะห์ความหมายของศัพท์ไว้ดังนี้ –

(1) มีความหมายว่า “มยํ” (มะ-ยัง) = ข้าพเจ้าเอง (“myself”)

(2) มีความหมายว่า “ปญฺญตฺติ” (บัญญัติ) = รับรู้กันว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (“regulation”)

(3) มีความหมายว่า “นิพฺพตฺติ” = บังเกิด (“origin”, arising from)

(4) มีความหมายว่า “มโนมย” = ทางใจ (“spiritually”)

(5) มีความหมายว่า “วิการ” = ทำให้แปลกไปจากสภาพเดิมของสิ่งนั้น (“alteration”) เช่น เอาทองมาทำเป็นสร้อยคอ (ทอง = สภาพเดิม, สร้อยคอ = สิ่งที่ถูกทำให้แปลกจากเดิม)

(6) มีความหมายว่า “ปทปูรณ” (บทบูรณ์) = ทำบทให้เต็ม เช่น ทานมัย ก็คือทานนั่นเอง สีลมัย ก็คือศีลนั่นเอง เติม “มัย” เข้ามาก็มีความหมายเท่าเดิม (to make up a foot of the verse)

กฎของการใช้คำว่า “มย” ก็คือ ไม่ใช้เดี่ยวๆ แต่จะเป็นส่วนท้ายของคำอื่นเสมอ

ปตฺตานุโมทนา + มย = ปตฺตานุโมทนามย (ปัด-ตา-นุ-โม-ทะ-นา-มะ-ยะ) แปลตามศัพท์ว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ” หรือ “บุญที่สำเร็จด้วยปัตตานุโมทนา” อาจเรียกสั้นๆ ว่า “ทำบุญโมทนา” หมายถึง บุญที่ทำด้วยวิธีอนุโมทนา คือพลอยชื่นชมยินดีในการที่คนอื่นทำบุญหรือทำความดีต่างๆ 

การอนุโมทนาส่วนบุญนี้ แม้ผู้ที่ทำบุญหรือทำความดีต่างๆ จะไม่ได้เอ่ยปากแบ่งส่วนบุญให้ แต่เมื่อเรารู้เห็นว่าเขาทำบุญหรือทำความดีแล้วพลอยชื่นชมยินดีด้วย ก็นับว่าสำเร็จเป็น “ปตฺตานุโมทนามย” ได้ทันที

ปตฺตานุโมทนามย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปัตตานุโมทนามัย” (ปัด-ตา-นุ-โม-ทะ-นา-ไม)

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปัตตานุโมทนามัย : (คำวิเศษณ์) สำเร็จด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น, เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ, ทำบุญด้วยการยินดีในการทำดีของผู้อื่น (ข้อ ๗ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ – 

…………..

7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น — Pattānumodanāmaya: by rejoicing in others’ merit)

…………..

กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “ปัตตานุโมทนามัย” คือ อิสสา (ริษยา, ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี) สารัมภะ (แข่งดี) มานะ (ถือตัว) อติมานะ (ดูหมิ่นท่าน) เป็นต้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ริษยาเขา เราก็ไม่ได้อะไร

: อนุโมทนาเขา เราก็ไม่เสียอะไร

#บาลีวันละคำ (3,352)

16-8-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *