บาลีวันละคำ

วิศัลย์ (บาลีวันละคำ 3,357)

วิศัลย์

คำงาม ความหมายเพราะ

อ่านว่า วิ-สัน

ประกอบด้วย วิ + ศัลย์

(๑) “วิ” 

ปกติเป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า วิเศษ, แจ้ง, ต่าง 

แต่ “วิ” ในคำนี้ย่อมาจากคำว่า “วิคต” (วิ-คะ-ตะ) แปลว่า ออกไป, หายไป, ขาดไป, สิ้นสุด, สูญหาย, ปราศจาก (gone away, disappeared, ceased; having lost or foregone; deprived of, being without)

(๒) “ศัลย์

บาลีเป็น “สลฺล” อ่านว่า สัน-ละ รากศัพท์มาจาก –

(1) สลฺลฺ (ธาตุ = ไปเร็ว) + (อะ) ปัจจัย

: สลฺลฺ + = สลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปเร็ว

(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (ส)-รฺ เป็น ลฺ (สรฺ > สลฺ)

: สรฺ + = สรฺล > สลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนสัตว์

สลฺล” หมายถึง ลูกศร, ขวาก, หลาว, ไม้แหลม, ขนเม่น

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สลฺล” ว่า an arrow, dart (ลูกศร, ลูกดอก)

กิเลสที่ท่านจัดว่าเป็นประดุจ “สลฺล” ลูกศรเครื่องเสียดแทง 7 อย่าง คือ 

(1) ราคะ ความกำหนัดยินดี ปรารถนาจะได้มีจะได้

(2) โทสะ ความโกรธ ความขัดแค้นขุ่นเคือง

(3) โมหะ ความหลง ความไม่รู้ตามเป็นจริง

(4) มานะ ความถือตัวด้วยอาการต่างๆ

(5) ทิฏฺฐิ ความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิ

(6) โสกะ ความทุกข์โศก 

(7) กถังกถา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจร ตัดสินใจไม่ได้

บาลี “สลฺล” สันสกฤตเป็น “ศลฺย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศลฺย : (คำนาม) ‘ศัลยะ, ศัลย์,’ หอกซัด; หลาว; ขวากหรือหนามทั่วไป; ศร; บาป; ความลำบาก; อปวาท; เม่น; เขตต์; นฤบดี, ผู้มาตุลของยุธิษเฐียร; a javelin; a bamboo-stake; any stake or thorn; an arrow; sin; difficulty; abuse; porcupine; a boundary; a king; the maternal uncle of Yudhishṭhir.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศัลย– : (คำนาม) ลูกศรหรือของมีปลายแหลมอื่น ๆ. (ส.).”

วิ + สลฺล = วิสลฺล (วิ-สัน-ละ) แปลว่า “ปราศจากลูกศร” ใช้เป็นคุณศัพท์ของบุคคล หมายถึง ผู้ไม่มีความโศกซึ่งเปรียบเหมือนลูกศรมาเสียดแทง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

วิศัลย์ : (คำวิเศษณ์) ปราศจากความเสียดแทง, ไม่ทุกข์ร้อน. (ส.; ป. วิสลฺล).”

ในภาษาไทย เคยพบคำว่า “พิศลย-” เช่นในนามสกุล “พิศลยบุตร” ก็มาจากคำว่า “วิศลฺย” นี้ 

วิศัลย์” แผลง เป็น ตามหลักนิยมในภาษาไทย เป็น “พิศัลย์” อ่านว่า พิ-สัน ก็เพราะดี เป็นอย่าง-คำงาม ความเพราะ ถ้าเป็นคนก็-รูปงาม นามเพราะ หรือจะแผลงต่อไปเป็น “ไพศัลย์” ก็ไม่น่าจะขัดข้องแต่ประการใด

…………..

แถม :

โย นีวรเณ ปหาย ปญฺจ

อนีโฆ ติณฺณกถงฺกโถ วิสลฺโล

โส ภิกฺขุ ชหาติ โอรปารํ

อุรโค ชิณฺณมิว ตจํ ปุราณํ.

ภิกษุใดละนิวรณ์ทั้งห้าได้แล้ว

ไม่มีทุกข์ ข้ามพ้นความสงสัย ไม่มีลูกศรเสียดแทง

ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมละฝั่งในและฝั่งนอกเสียได้ (คือไม่ติดทั้งโลกนี้และโลกหน้า)

เหมือนงูลอกคราบเก่าที่คร่ำคร่าไปแล้วฉะนั้น

ที่มา: อุรคสูตร สุตตนิบาต ขุทกนิกาย

พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 294

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทุกข์เท่ากัน

: คนที่รู้เท่าทันเจ็บน้อยกว่า

#บาลีวันละคำ (3,357)

21-8-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *