พืชพรรณ – พืชพันธุ์ (บาลีวันละคำ 3,358)
พืชพรรณ – พืชพันธุ์
ต่างกันอย่างไร
อ่านว่า พืด-พัน เหมือนกันทั้ง 2 คำ
ประกอบด้วยคำว่า “พืช” “พรรณ” และ “พันธุ์”
(๑) “พืช”
บาลีเป็น “พีช” อ่านว่า พี-ชะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + กฺวิ ปัจจัย, ทีฆะ อิ ที่ วิ เป็น อี (วิ > วี), แปลง ว เป็น พ, ลบที่สุดธาตุ คือ น (ชนฺ > ช) และลบ กฺวิ
: วิ + ชนฺ = วิชนฺ + กฺวิ = วิชนกฺวิ > วีชนกฺวิ > พีชนกฺวิ > พีชน > พีช แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เกิดโดยวิเศษ” (2) “สิ่งที่เป็นเหตุเกิดแห่งสิ่งทั้งหลาย” (3) “อวัยวะที่เกิดโดยปราศจากปัจจัย”
“พีช” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เมล็ดพืช (seed)
(2) เชื้อ (germ)
(3) น้ำกาม (semen)
(4) ไข่ (spawn)
(5) ธาตุ (element)
บาลี “พีช” ในภาษาไทยใช้เป็น “พืช”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พืช : (คำนาม) สิ่งมีชีวิตที่โดยทั่วไปสร้างอาหารเองโดยการสังเคราะห์แสง, เมล็ดพันธุ์ไม้, สิ่งที่จะเป็นพันธุ์ต่อไป, พืชพันธุ์ ก็ใช้. (ป. พีช; ส. วีช); พรรณไม้ที่งอกอยู่ตามที่ต่าง ๆ, พืชพรรณ ก็ใช้.”
(๒) “พรรณ”
บาลีเป็น “วณฺณ” อ่านว่า วัน-นะ รากศัพท์มาจาก วณฺณ (ธาตุ = ประกาศ, แสดง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วณฺณ + อ = วณฺณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประกาศเนื้อความ”
“วณฺณ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :
(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)
(1) สี (colour)
(2) รูปร่าง (appearance)
(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)
(4) ความงาม (beauty)
(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)
(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)
(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)
(8 ) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)
(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)
(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)
(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)
บาลี “วณฺณ” สันสกฤตเป็น “วรฺณ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วรฺณ : (คำนาม) ‘วรรณ,’ ชาติ, วรรค, จำพวก, พวก; สี; เครื่องตกแต่งช้าง; ลักษณะ, คุณสมบัติ; เกียรติ, ประสิทธิ; สดุดี; สุวรรณ; พรต; การจัดเพลงหรือกาพย์; ราคินีหรือคีตวิธา; โศภา, ความงาม; เครื่องแต่งตัวลคร; สุคนธ์; อักษร; รูป, ทรง; เภท, ประเภท; a trible, a class, caste, an order; colour, tint; an elephant’s housings, quality, property; fame, celebrity; praise; gold; religious observance; the arrangement of a song or poem; a musical mode; beauty, luster; theatrical dress or embellishment; perfume; a letter of the alphabet; form; figure; sort, kind.”
ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วรรณ-, วรรณะ : (คำนาม) สี เช่น เบญจวรรณ แปลว่า ๕ สี, มักใช้เข้าคู่กับคำ สีสัน เป็น สีสันวรรณะ; ผิว เช่น ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ, มักใช้เข้าคู่กับคำ ผิวพรรณ เป็น ผิวพรรณวรรณะ; ชั้นชน, ในสังคมฮินดูแบ่งคนออกเป็น ๔ วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร; หนังสือ เช่น วรรณกรรม วรรณคดี. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”
และแผลง ว เป็น พ ตามหลักนิยมในภาษาไทยเป็น “พรรณ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“พรรณ : (คำนาม) สีของผิว; ชนิด เช่น พรรณพืช พรรณไม้ พรรณสัตว์. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).”
(๓) “พันธุ์”
บาลีเป็น “พนฺธุ” อ่านว่า พัน-ทุ รากศัพท์มาจาก พนฺธฺ (ธาตุ = ผูก, มัด, พัน) + อุ ปัจจัย
: พนฺธฺ + อุ = พนฺธุ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกี่ยวข้องกัน” “ผู้อันความรักผูกพัน” “ผู้ผูกพันคนอื่นไว้ในตน”
“พนฺธุ” ในบาลีหมายถึง –
(1) พวกพ้อง, ญาติ, เหล่ากอ (a relation, relative, kinsman)
(2) เกี่ยวข้อง, เกี่ยวพัน, ผูกพัน (connected with, related to, dealing with)
พืช + พรรณ = พืชพรรณ
พืช + พันธุ์ = พืชพันธุ์
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) พืชพรรณ : (คำนาม) พรรณไม้ที่งอกอยู่ตามที่ต่าง ๆ.
(2) พืชพันธุ์ : (คำนาม) เมล็ดพันธุ์ไม้, สิ่งที่จะเป็นพันธุ์ต่อไป; (คำโบราณ; คำที่่ใช้ในบทกลอน) กําพืด เช่น ด้วยพืชพันธุ์มันไม่น่าจะอาลัย. (ขุนช้างขุนแผน).
ข้อสังเกต :
โปรดทบทวนความหมายของคำว่า “พืชพรรณ” และ “พืชพันธุ์” ตามที่พจนานุกรมฯ ให้คำนิยามไว้ แล้วดูคำนิยามคำว่า “เทพี” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“เทพี ๑ : (คำนาม) เทวี, เรียกหญิงที่ทําหน้าที่โปรยพืชพรรณธัญญาหารในพิธีแรกนาว่า นางเทพี, หญิงที่ชนะประกวดความงาม เช่น เทพีสงกรานต์.”
ความหมายที่ควรขบให้แตกก่อนก็คือ สิ่งที่เทพีโปรยในพิธีแรกนานั้นคืออะไร และโปรยเพื่ออะไร
แล้วลองพิจารณาดูว่า คำที่พจนานุกรมฯ สะกดเป็น “พืชพรรณธัญญาหาร” สะกดถูกต้องสอดคล้องกันกับความหมายของคำว่า “พืชพรรณ” และ “พืชพันธุ์” ตามที่พจนานุกรมฯ ให้คำนิยามไว้หรือไม่
ถ้าสอดคล้องกันดีแล้ว ก็ควรแก่การอนุโมทนา
ถ้าไม่สอดคล้อง ก็ควรแก่การพิจารณา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะภาษาเป็นสิ่งสมมุติ
: จึงสมควรที่สุดที่เราจะช่วยกันสมมุติให้งดงาม
#บาลีวันละคำ (3,358)
22-8-64