กาวยประภา (บาลีวันละคำ 2,034)
กาวยประภา
“บทกวีแห่งแสงสว่าง”
อ่านตามที่ตาเห็นว่า กา-วะ-ยะ-ปฺระ-พา
อ่านตามหลักภาษาว่า กาว-ยะ-ปฺระ-พา หรือ กาว-เวียะ-ปฺระ-พา
ประกอบด้วยคำว่า กาวย + ประภา
(๑) “กาวย”
ตรงกับคำบาลีว่า “กาพฺย” (กาบ-เพียะ) รากศัพท์มาจาก กวิ (กวี, ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ (ณฺย > ย), ลบ อิ ที่ กวิ (กวิ > กว) แปลง ว เป็น พ (กว > กพ), ทีฆะต้นศัพท์ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ” (กพ > กาพ)
: กวิ + ณฺย = กวิณฺย > กวิย > กวฺย > กพฺย > กาพฺย (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่มีในกวี” “เรื่องของกวี” “คำอันกวีกล่าวไว้” หมายถึง คำประพันธ์ชนิดร้อยกรอง, เพลง, โคลง, กลอน, กาพย์, เนื้อเพลง (a poem, poetical composition, song, ballad)
“กาวฺย” เป็นรูปคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“กาวฺย, กาพฺย : (คำนาม) นามศุกราจารย์ผู้อาจารย์ของเวตาลทั้งหลาย; มติ, พุทธิ; นางมารผู้ชื่อว่า ปูตนา; ปิตฤพิเศษจำพวกหนึ่ง, ผู้บุตรของกวิหรือศุกร; กาพย์, คำประพันธ์; a name of Śukrā-charya, the preceptor of the demons; understanding, intelligence; a female fiend called Pūtanā; a Pitṛi of a particular order, the son of Kavi or Śukra; a poem, poetical composition.”
“กาวฺย” หรือ “กาพฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “กาพย์” และมีความหมายแคบลง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาพย์ : (คำนาม) คําร้อยกรองประเภทหนึ่ง มีหลายชนิด เช่น กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางคนางค์ กาพย์ยานี กาพย์ขับไม้. (ส. กาวฺย).”
(๒) “ประภา”
บาลีเป็น “ปภา” (ปะ-พา) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ภา (ธาตุ = สว่าง, รุ่งเรือง) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ
: ป + ภา = ปภา + กฺวิ = ปภากฺวิ > ปภา (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่สว่างไปทั่ว” หมายถึง แสงสว่าง, ความแจ่มจ้า, แสง (light, radiance, shine)
“ปภา” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประภา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประภา : (คำนาม) แสง, แสงสว่าง, แสงไฟ. (ส. ปฺรภา; ป. ปภา).”
กาวฺย + ปภา = กาวฺยปภา > กาวยประภา
“กาวยประภา” เป็นชื่อนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงอธิบายความเป็นมาของคำไว้ว่า –
….. ชื่องานนิทรรศการครั้งนี้คิดเป็นภาษาอังกฤษก่อน (Poetry of Light — โพเอ็ททรี ออฟ ไลท์) ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่คิดชื่อเป็นภาษาไทย
คำว่า กาวย เป็นภาษาสันสกฤต หมายถึง กวีผู้นำคำมาเรียงร้อยให้เป็นระเบียบ เกิดความสวยงาม ให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล จะเขียนให้โกรธ หัวเราะ เศร้า ก็ได้
คำว่า ประภา คือ แสงสว่าง แหล่งสำคัญของแสง ในโลกคือแสงอาทิตย์ แสงไฟ มีเทพปกรณัมกรีกเล่าว่า มีการลักไฟของเทพมาให้มนุษย์ได้ใช้
คลื่นแสงทำให้เกิดสีต่างๆ ภาพถ่ายที่สะท้อนให้เห็นสี ประกอบกันเป็นภาพที่มีความหมายเป็นความงามที่เรียงร้อยเป็นระเบียบ เรียกว่า “กาวยประภา” จริงๆ ถ้าให้ถูกไวยกรณ์ ต้องใช้ชื่อว่ า ประภากาวย แต่เมื่อสลับกันจะไพเราะกว่า
………….
ตามชื่อภาษาอังกฤษว่า Poetry of Light แปลเป็นไทยว่า “บทกวีแห่งแสงสว่าง” หมายถึง ถ้อยคำของกวีหรือนักปราชญ์ที่ก่อให้เกิดแสงสว่างแก่ผู้ที่ได้สดับตรับฟัง พูดตามคำสมัยนี้ว่า ถ้อยคำที่จุดประกายความคิด หรืออาจใช้คำว่า “ประกายคำ”
Poetry of Light ควรเป็นคำไทยว่า “ประภากาวยะ” แปลจากหลังมาหน้าตามสูตรทั่วไปของบาลีสันสกฤตว่า “บทกวีแห่งแสงสว่าง”
แต่เมื่อสลับคำเพื่อความสละสลวยแห่งเสียงเป็น “กาวยประภา” และถือว่าเป็นคำไทย (คำไทยที่มาจากบาลีสันสกฤต) ก็สามารถใช้สิทธิตามหลักคำไทย คืออาจแปลจากหน้าไปหลังก็ได้
“กาวยประภา” จึงแปลได้ว่า “บทกวีแห่งแสงสว่าง” ตามเจตนารมณ์ของชื่อภาษาอังกฤษว่า Poetry of Light และมีความหมายโดยประสงค์ว่า ระเบียบ (กาวย) แห่งแสงสี (ประภา) อันงดงาม กล่าวคือภาพถ่ายอันควรดูควรชม
……………
นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “กาวยประภา” เปิดให้ประชาชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2560 จนถึงวันที่ 4 มีนาคม 2561 เวลา 10.00-21.00 น. ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สี่แยกปทุมวัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หนึ่งคำตำหนิ ที่ช่วยให้สติปัญญาแหลมคม
: ดีกว่าร้อยคำชม ที่ไม่มีความจริงใจ
#บาลีวันละคำ (2,034)
6-1-61