บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กำแพงสี่ชั้น

กำแพงสี่ชั้น

พระเดชพระคุณพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ท่านแสดงความเห็นไว้ว่า พระภิกษุสามเณรในเมืองไทยต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ตางๆ ถึง ๔ ชั้น 

ผมเรียกตามที่ผมมองเห็นภาพว่า “กำแพงสี่ชั้น” ขออนุญาตนำมาขยายความดังต่อไปนี้ 

กำแพงชั้นที่ ๑ พระธรรมวินัย 

เป็นชั้นที่สำคัญที่สุด พระภิกษุสามเณรต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ชี้ให้เห็นชัดๆ ก็คือ อาทิพรหมจริยกาสิกขา หรือที่รู้จักกันดีว่า ศีล ๒๒๗ ข้อ และอภิสมาจาริกาสิกขา คือกิริยามารยาทและแบบธรรมเนียมทั้งปวงที่เป็นส่วนพระวินัย นอกจากนี้ก็เป็นการฝึกหัดขัดเกลาตนเองตามหลักพระธรรม 

เรื่องเหล่านี้ต้องศึกษาเรียนรู้ จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ จะอ้างว่าไม่มีเวลาเรียนรู้ก็ยิ่งไม่ได้ เพราะการที่บวชเข้ามาในขอบเขตเพศบรรพชิตก็เพื่อจะมาศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัยนี่แหละ งานหลักอยู่ตรงนี้

ถ้าอ้างว่าไม่มีเวลา ก็ต้องถามว่า-แล้วเอาเวลาไปทำอะไร งานที่จะต้องทำก็คือศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แล้วเอาเวลาไปทำอะไรหมด 

เท่าที่ผมสังเกต เวลานี้พระภิกษุสามเณรของเราไม่ได้มุ่งหน้าศึกษาพระธรรมวินัย น่าเป็นห่วงนะครับ

กำแพงชั้นที่ ๒ กฎหมายบ้านเมือง 

พระภิกษุสามเณรก็คือพลเมืองของประเทศ บ้านเมืองออกกฎหมายอะไรมา ก็ต้องปฏิบัติตามด้วย อยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ 

ยกตัวอย่างการเกณฑ์ทหาร ชายไทยทุกคนเมื่อมีอายุถึงกำหนดต้องไปขึ้นทะเบียนทหาร (ภาษาราชการเรียกอะไรผมนึกไม่ออก) และพออายุถึงกำหนดอีกช่วงหนึ่งก็ต้องไปรับการตรวจเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการ ที่เรียกกันว่า “ไล่ทหาร” 

พระภิกษุสามเณรก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ด้วย จะอ้างไม่ได้ว่าอาตมาเป็นพระเป็นเณร ไม่ปฏิบัติตามก็มีความผิด แต่อาจได้รับการผ่อนผัน-ถ้ามีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่นสอบนักธรรมได้ ก็มีสิทธิ์ยื่นเรื่องขอผ่อนผัน ไม่ต้องไล่ทหาร แต่ถ้าสึกและอายุยังไม่เกิน ๓๐ ก็ต้องไปไล่ทหาร 

นี่เป็นตัวอย่าง-เรื่องต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

กำแพงชั้นที่ ๓ ระเบียบคำสั่งของคณะสงฆ์ 

ยกตัวอย่าง – 

พระภิกษุสามเณรต้องสังกัดวัด จะเป็นพระเร่รอนไม่มีสังกัดไม่ได้ จะอ้างว่า ข้าพเจ้าขอไม่สังกัดวัดไหนๆ เพราะในพระไตรปิฎกไม่ได้บอกให้สังกัดวัด อย่างนี้ไม่ได้ พระไตรปิฎกไม่ได้บอกให้สังกัดวัดก็จริง แต่คณะสงฆ์บอก และคำบอกนั้นไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย ก็ต้องปฏิบัติตาม

พระภิกษุมีพรรษา ๑๐ ขึ้นไป ตามพระวินัยสามารถเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ แต่คณะสงฆ์ออกระเบียบว่า พระภิกษุที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ต้องผ่านการอบรมตามหลักเกณฑ์และวิธีการของคณะสงฆ์ก่อน และต้องได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะผู้มีอำนาจจึงจะเป็นได้ มิใช่ว่ารูปไหนพรรษาเกิน ๑๐ ก็เป็นพระอุปัชฌาย์ได้ทันโดยอัตโนมัติ

กำแพงชั้นที่ ๔ จารีตประเพณีสังคม 

ยกตัวอย่างเช่น การโกนคิ้ว แม้ในพระไตรปิฎกจะบอกเพียงว่า ปลงผม โกนหนวด ไม่ได้บอกว่าต้องโกนคิ้ว แต่จารีตของพระไทยต้องโกนคิ้วด้วย และจารีตนี้ไม่ได้ขัดต่อพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้นถ้าบวชในคณะสงฆ์ไทยก็ต้องโกนคิ้ว จะเอาพระไตรปิฎกมาอ้างอย่างเดียวไม่พอ 

ถ้าอ้างว่า ทีพระพม่าไม่เห็นต้องโกนคิ้ว ก็ต้องไปบวชเป็นพระพม่า จะบวชเป็นพระไทยแล้วอ้างพระพม่าไม่ได้ 

การรับสิ่งของจากมือสตรีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง พระไทยมีจารีตไม่รับจากมือโดยตรง แต่ใช้ผ้ารองรับ ถ้าบวชเป็นพระไทยก็ต้องปฏิบัติตามจารีตนี้ ไม่ต้องยกพระไตรปิฎกข้อไหนมาอ้างทั้งนั้น 

เดี๋ยวนี้พระรับ-ส่งของจากมือสตรีตรงๆ ชักจะมีให้เห็นหนาตาขึ้น นั่นคือท่านกำลังเหยียบย่ำจารีตพระไทย 

เดี๋ยวนี้ชักได้ยินบ่อย เช่น-เรื่องนั้นเรื่องโน้นพระมหายานเขายังทำได้ ทำไมเราจะต้องมาเคร่งแบบนี้ 

อยากทำแบบนั้นก็ไม่เห็นจะยากอะไร ไปบวชเป็นมหายานก็ทำได้ทันที แต่จะเป็นพระไทยด้วย แล้วก็ทำแบบมหายานด้วย ย่อมไม่ใช่ความซื่อตรง 

…………………

กำแพงสี่ชั้นนี้ ท่านผู้ใดยังไม่เคยมองเป็นภาพรวม ก็ลองมองดูนะครับ มองแล้วจะเข้าใจวิถีชีวิตของพระสงฆ์ไทยได้ชัดเจนขึ้น 

เราอาจจะรู้สึกว่า พระสงฆ์ไทยถูกบังคับมากเหลือเกิน แต่ถ้าจัดระเบียบความคิดให้ถูกหลัก ก็จะไม่เห็นเช่นนั้นเลย 

เริ่มต้นจาก-คนเราไม่ได้เป็นพระเป็นเณรมาตั้งแต่เกิด โตแล้ว มีคุณสมบัติพื้นฐานครบถ้วนถึงสมัครใจเข้ามา 

ไม่ว่าเบื้องหลังความสมัครใจจะคืออะไร แต่หลักการก็คือ-สมัครใจเข้ามา ซึ่งก็คือสมัครใจที่อยู่ในกรอบแห่งกำแพงเหล่านี้ 

กำแพงเหล่านี้-ไม่ใช่อะไรเลย ก็คืออุปกรณ์สำหรับฝึกหัดขัดเกลาตนเอง เพื่อให้เกิดความสะอาด สงบ และสว่าง

ไม่ว่ากำแพงจะมีสักกี่ร้อยกี่พันชั้น ก็จะไม่เป็นเครื่องบีบคั้นอะไรเลย-ถ้าคนที่อยู่ในกำแพงนั้นไม่ได้คิดจะปีนกำแพงไปไหน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๓:๒๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *