คำบาลีที่เอามาพูดเป็นไทย (บาลีวันละคำ 2,720)
คำบาลีที่เอามาพูดเป็นไทย
มีคำบาลีบางคำที่คนไทยจับเอาเสียงมาพูดเป็นคำไทย มีความหมายธรรมดาๆ ก็มี เป็นคำล้อเลียนหรือตลกคะนองก็มี ขอนำมาเสนอพอเป็นภาษานุสติ เช่น –
(๑) “ญาติโกโหติกา”
คนไทยเอาคำว่า “ญาติ” ตั้งเป็นคำหลัก แล้วขยายพยางค์ให้ยาวออกไป (ลักษณะเดียวกับคำสร้อยสี่พยางค์) เอาคำบาลีที่คุ้นปาก คือ “โหติ” มาเสริม เอาเสียง “โก” และ “กา” เป็นคำประกอบ เป็น “ญาติ” (โก) “โหติ” (กา)
คำนี้มักใช้ในคำปฏิเสธ เช่น “เขาไม่ได้เป็นญาติโกโหติกาอะไรกับเราสักหน่อย”
(๒) “พุทฺโธ” > พุทโธ่
เป็นคำติดปากคนไทย บางทีพูดเป็นชุด “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” ไทยเราเอามาพูดเป็น “พุทโธ่” พจนานุกรมฯ บอกความหมายว่า “คําที่เปล่งออกมาด้วยความสงสารหรือรําคาญใจเป็นต้น”
(๓) “อยมฺภทนฺตา” (อะ-ยำ-พะ-ทัน-ตา)
ตามศัพท์แปลว่า “ดูก่อนท่านผู้เจริญ กาลบัดนี้ (เป็นเวลาฟังธรรม)”
คนไทยจับเอาเสียง “ทัน-ตา” มาให้ความหมายแบบไทย เช่น “ความระยำน่ะทำเข้าไปเถอะ เดี๋ยวก็อะยำมะทันตา” หมายความว่า ทำชั่วก็จะได้ชั่วเห็นผลทันตา
(๔) “สุนกฺขตฺตํ” (สุ-นัก-ขัด-ตัง)
ตามศัพท์แปลว่า “ฤกษ์ดี” เป็นคำหนึ่งในชัยมงคลคาถา (ชะยันโต) มีคนจับเอาเสียง “สุ-นัก” มาแปลตามความเข้าใจเอาเองว่า – ให้ทานแก่สุนัขเวลาไหน ก็เป็นฤกษ์ดีเวลานั้น!
(๕) “พาหุง” > หุงไม่สุก
“พาหุง” เขียนแบบบาลีเป็น “พาหุํ” (ห หีบ มีสระ อุ อยู่ล่าง นิคหิตอยู่บน) ตามศัพท์แปลว่า “แขน” เป็นคำขึ้นต้นในบทพุทธชัยมงคลคาถา หรือที่มีชื่อโดยเฉพาะว่า “ชยมังคลัฏฐกคาถา” ซึ่งมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “คาถาพาหุง” และเรียกสั้นๆ ว่า “พาหุง”
วัดต่างๆ มีการทำบุญวันพระ พระลงศาลาสวดถวายพรพระ คือพาหุง-มหาการุณิโก พระรูปไหนบวชมานานพอสมควรแล้วยังท่องบทพาหุงไม่ได้ ได้แต่นั่งทำปากขมุบขมิบ จะถูกเพื่อนพระด้วยกันล้อด้วยคำว่า “คุณนี่ยังหุงไม่สุก” แปลว่า สวดบทพาหุงไม่ได้
(๖) “ตณฺหา” (ตัน-หา)
แปลว่า “ความอยาก” เป็นกิเลสตัวสำคัญ มีคนไทยช่างคิด เอาเสียง ตัน-หา ไปแปลว่า “หาแล้วตัน” หมายถึงหาไม่เจอ คือหาไปหามาไปเจอทางตันเข้า เลยหาไม่เจอ แล้วลากเข้าธรรมะว่า สิ่งที่เราอยากได้ใคร่ดีนั้นหาไม่ได้หรอก หาได้เท่านี้ก็อยากได้เท่าโน้นต่อไปอีก หาได้เท่าไรก็ไม่พอ
(๗) “สุราเมรย” > ดื่มเป็นระยะๆ
“สุราเมรย” (สุ-รา-เม-ระ-ยะ) แปลว่า “สุราและเมรัย” (สุรา = เครื่องดื่มที่กลั่นแล้ว เมรย = เครื่องดื่มที่ยังไม่ได้กลั่น) “เมรย” บาลีอ่านว่า เม-ระ-ยะ คนไทยจับเอาเสียง “ระ-ยะ” มาล้อเป็น “ระยะ” คำไทย (ระยะๆ = เป็นช่วง ๆ, เป็นตอน ๆ)
“สุราเมรย” เป็นคำขึ้นต้นศีลข้อ 5 งดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย ถูกเอาไปล้อเลียนว่า “ดื่มเป็นระยะๆ”
(๘) “ปาณาติปาตา”
แปลว่า “(งดเว้น) จากการยังชีวิตให้ตกล่วง” รู้กันในความหมายว่า “ไม่ฆ่าสัตว์” คนไทยเอาเสียง “ปา-นา” มาล้อเป็น “ปลานา” จับปลานาบาป จับปลานอกนาไม่บาป บางทีก็ล้อว่า “ปาณาห้ามฆ่าสัตว์ ปลาตัวโตถนัดไม่เป็นไร”
(๙) “กุสลา ธมฺมา” (กุ-สะ-ลา ทำ-มา)
เป็นคำขึ้นต้นบทแรกในพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์และบทมาติกา แปลว่า “ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล” คนไทยเอามาล้อว่า “กุสะลา ธัมมา ยายกะตาทำนา” เอาคำว่า “ธมฺมา” มาล้อเป็น “ทำนา” เป็นการล้อเลียนอย่างคะนองปาก ไม่มีสาระใดๆ
(๑๐) “สีเลน สุคตึ ยนฺติ” (สี เล-นะ สุ-คะ-ติง ยัน-ติ)
เป็นคำสรุปอานิสงส์ศีล แปลว่า “บุคคลย่อมถึงสุคติได้ด้วยศีล” คือไปเกิดในภพภูมิที่ดีก็เพราะรักษาศีล
สมัยที่ผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นสามเณร หลวงลุงที่เป็นผู้ปกครองเล่าให้ฟังว่า มีพระรูปหนึ่งนิสัยชอบสนุก ชอบเอาคำบาลีมาพูดล้อเล่น พระรูปนี้เอาคำสรุปศีลวรรคที่ว่า “สีเลนะ สุคะติง ยันติ” มาพูดล้อเป็น “สีเลนะ สุคะติง เท่งติง” (เท่งติง – ล้อเสียงตะโพน) และชอบพูดติดปาก
ถึงวันพระวันหนึ่ง เป็นเวรที่พระรูปนี้ต้องเทศน์บนศาลาทำบุญ พอให้ศีลจบข้อสุราเมระยะ… ก็ว่าบทสรุปศีล เพราะความที่ชอบพูดติดปาก จึงว่าคำสรุปศีลเป็น “สีเลนะ สุคะติง เท่งติง” พลั้งปากออกไปแล้วก็สะดุ้ง รู้ตัวว่าทำผิด แต่สติหายไปหมด นิ่งอั้นอยู่แค่นั้น ว่าต่อไปไม่ได้ จนโยมอุบาสกคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า “สีเลนะ สุคะติง ยันติ” นั่นแหละจึงได้สติ ว่า สีเลนะ โภคะสัมปะทา …. ต่อไปได้
ตั้งแต่นั้นมา พระรูปนั้นก็เลิกเอาคำบาลีมาพูดล้อเลียนเด็ดขาด ได้ยินใครเอามาล้อก็จะห้ามปรามไม่ให้ทำ แล้วเล่าถึงความผิดพลาดของตัวเองเป็นอุทาหรณ์เตือนสติ
…………..
ดูก่อนภราดา!
ความเลว ความทุกข์ —
: รู้ทันมัน
: แต่อย่าเป็นกับมัน
#บาลีวันละคำ (2,720)
23-11-62