บาลีวันละคำ

วันทา (บาลีวันละคำ 2,719)

วันทา

อย่านึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ

อ่านตรงตัวเท่าที่ตาเห็นว่า วัน-ทา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วันทา : (คำกริยา) ไหว้, แสดงอาการเคารพ. (ป. วนฺท).”

โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บว่า “ป. วนฺท” หมายถึงคำนี้ภาษาบาลีเป็น “วนฺท” (วัน-ทะ) ไม่ใช่ “วนฺทา

โปรดทราบว่า คำกริยาสามัญในบาลี (กิริยาอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ปัจจุบันกาล) ที่แปลว่า “ไหว้” รูปศัพท์จะเป็น “วนฺทติ” (วัน-ทะ-ติ) ไม่ใช่ “วนฺท” หรือ “วนฺทา

คำบาลีที่เอามาใช้ภาษาไทยในลักษณะนี้ มักเป็นคำนามในบาลี แต่นิยมใช้เป็นคำกริยาในภาษาไทย

ในภาษาบาลีไม่มีรูปคำ “วนฺทา” ที่เป็นคำนามหรือคำกริยา มีคำกริยาที่ใกล้เคียงคือ “วนฺทามิ” (วัน-ทา-มิ) หรือ “วนฺทาม” (วัน-ทา-มะ) แปลว่า “ข้าพเจ้า/ข้าพเจ้าทั้งหลายขอไหว้

คงต้องอธิบายช่วยว่า “วนฺทามิ” หรือ “วนฺทาม” นี่เองเราตัดเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “วันทา

อีกทางหนึ่ง ในภาษาบาลีมีคำว่า “วนฺทน” (วัน-ทะ-นะ) หรือ “วนฺทนา” (วัน-ทะ-นา) เป็นคำนาม แปลว่า “การไหว้

อธิบายช่วยว่า “วนฺทนา” นั่นเองเราเอามาใช้ในภาษาไทย แต่พูดเพี้ยนเขียนผิดเป็น “วันทา

วนฺทนา” (วัน-ทะ-นา) รากศัพท์มาจาก วนฺทฺ (ธาตุ = ไหว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: วนฺทฺ + ยุ > อน = วนฺทน + อา > วนฺทนา แปลตามศัพท์ว่า “การไหว้” หมายถึง การสดุดี, การเคารพ, การไหว้; การยกย่อง, การบูชา (salutation, respect, paying homage; veneration, adoration)

ศัพท์นี้ในบาลีเป็น “วนฺทน” (วัน-ทะ-นะ) (นปุงสกลิงค์) ก็มี

อภิปราย :

พจนานุกรมฯ บอกความหมายขอ “วันทา” ว่า “ไหว้, แสดงอาการเคารพ

ไหว้” คือทำกิริยาอย่างไร พจนานุกรมฯ บอกว่า –

ไหว้ : (คำกริยา) ทําความเคารพโดยยกมือขึ้นประนม, ถ้าเป็นผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่หรือผู้ทรงศีลต้องก้มศีรษะลงแต่พองาม.”

เป็นอันว่า อวัยวะที่ใช้ทำกิริยา “ไหว้” ก็คือมือ

ถามว่า คนแขนด้วนหรือมือด้วนจะสามารถแสดงกิริยา “ไหว้” ได้หรือไม่?

ก็อาจจะต้องอภิปรายกันยาว

นี่แหละที่ว่า “วันทาอย่านึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ

วันทา” เป็นขั้นตอนหนึ่งของกิริยาแสดงความเคารพที่มีผู้คิดขึ้น เรียกเป็นชุดว่า “อัญชลี วันทา อภิวาท” ในทางปฏิบัติ มีผู้แสดงความแตกต่างไว้ว่า –

(1) “อัญชลี” คือ ประนมมือระหว่างอก (แต่ในบาลีพบว่า ประนมมือไว้บนศีรษะก็มี) (อยู่ในอิริยาบถยืนหรือนั่งก็ได้)

(2) “วันทา” คือ ยกมือที่ประนมอยู่ขึ้นเสมอหน้าผาก ให้หัวแม่มืออยู่ระหว่างคิ้ว (อยู่ในอิริยาบถยืนหรือนั่งก็ได้)

(3) “อภิวาท” ต้องอยู่ในอิริยาบถนั่ง คือ ประนมมือ (อัญชลี) ยกขึ้นเสมอหน้าผาก (วันทา) แล้วก้มตัวลงให้มือถึงพื้น (ตั้งสันมือหรือคว่ำฝ่ามือกับพื้นแล้วแต่กรณี)

การแสดงความเคารพระหว่างชาวบ้านด้วยกันย่อมเป็นไปตามมารยาทไทย เช่น ผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่ก่อน ผู้ใหญ่จึงรับไหว้ ผู้น้อยไหว้ผู้ใหญ่หรือผู้ทรงศีลต้องก้มศีรษะลงแต่พองาม ผู้ใหญ่รับไหว้ด้วยการประนมมือเสมออก ไม่ต้องก้มศีรษะ – อย่างนี้เป็นต้น

มารยาทไทยดังว่านี้ เด็กไทยรุ่นใหม่ศึกษาเรียนรู้กันบ้างหรือเปล่า ใครจะเป็นผู้แนะนำสั่งสอนอบรม

เด็กไทยรุ่นใหม่บอกว่า ทำไมจะต้องให้คนหนึ่งไหว้อีกคนหนึ่ง ในเมื่อทุกคนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน?

เราจะอธิบายกันอย่างไร – อย่านึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ

แม้ในวงการพระสงฆ์ก็มีปัญหา เคยมีภาพพระไหว้แม่ในวันแม่เผยแพร่ทางสื่อ พระท่านอ้างว่า แม่เป็นผู้มีพระคุณ ท่านไหว้แม่ของท่าน เสียหายตรงไหน

ปัญหาเกี่ยวกับพระธรรมวินัยจะเอาความเข้าใจส่วนตัวหรือเหตุผลส่วนตัวมาอ้างไม่ได้ ต้องศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

อย่านึกว่าเป็นเรื่องง่ายๆ – แล้วก็เข้าใจเอาเอง เพราะถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ปฏิบัติผิด

ถ้าถามว่า ภิกษุไหว้แม่ได้หรือไม่ หรือถามเป็นคำกลางๆ ว่า พระไหว้ชาวบ้านได้หรือไม่ ก็ตอบได้โดยอ้างหลักดังนี้

…………..

อปเรปิ  อุปาลิ  ปญฺจ  อวนฺทิยา.

ดูก่อนอุบาลี ยังมีบุคคลที่ภิกษุไม่ควรไหว้อีก 5 จำพวก

กตเม  ปญฺจ.

5 จำพวกคือใครบ้าง?

(1) ปุเร  อุปสมฺปนฺเนน  ปจฺฉา  อุปสมฺปนฺโน  อวนฺทิโย.

ภิกษุผู้อุปสมบททีหลัง อันภิกษุผู้อุปสมบทก่อนไม่ควรไหว้

(2) อนุปสมฺปนฺโน  อวนฺทิโย.

อนุปสัมบัน (คือผู้ที่มิได้บวชเป็นภิกษุ) อันภิกษุไม่ควรไหว้

(3) นานาสํวาสโก  วุฑฺฒตโร  อธมฺมวาที  อวนฺทิโย.

ภิกษุมีสังวาสต่างกัน (คือต่างพวกต่างนิกาย) มีพรรษาแก่กว่า เป็นอธรรมวาที (คือสอนผิดพูดผิดพระธรรมวินัย) อันภิกษุไม่ควรไหว้

(4) มาตุคาโม  อวนฺทิโย.

มาตุคาม (คือสตรี) อันภิกษุไม่ควรไหว้

(5) ปณฺฑโก  อวนฺทิโย. 

บัณเฑาะก์ (คือที่รู้กันว่าเป็นกะเทย) อันภิกษุไม่ควรไหว้

อิเม  โข  อุปาลิ  ปญฺจ  อวนฺทิยา.

ดูก่อนอุบาลี บุคคล 5 จำพวกนี้แลอันภิกษุไม่ควรไหว้

ที่มา: คัมภีร์ปริวาร กฐินัตถารวรรคที่ 14 อุปาลิปัญจก วินัยปิฎก

พระไตรปิฎกเล่ม 8 ข้อ 1225

ยังมี “อวันทิยบุคคล” คือผู้ที่ภิกษุไม่ควรไหว้อีกหลายจำพวก ผู้ปรารถนาจะทราบยิ่งไปกว่านี้พึงศึกษาตรวจสอบดูในหลักพระธรรมวินัยนั้นเถิด

…………..

ดูก่อนภราดา!

มือที่ไหว้เรา

อาจเป็นมือเดียวกับมือที่ฆ่าเรา

: ระวังไว้ทุกมือ ได้ชื่อว่าผู้มีสติ

: ระแวงไปหมดทุกมือ ได้ชื่อว่าผู้เสียสติ

#บาลีวันละคำ (2,719)

22-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย