บาลีวันละคำ

อารยวินัย (บาลีวันละคำ 3,379)

อารยวินัย

ควบคู่กันไปกับอารยธรรม

อ่านว่า อา-ระ-ยะ-วิ-ไน

ประกอบด้วย อารย + วินัย

(๑) “อารย” 

บาลีเป็น “อริย” อ่านว่า อะ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อรห = “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส”, แปลง ที่ และ เป็น อิย

: (อร + อห = ) อรห : อห > อิย : อร + อิย = อริย แปลเท่ากับคำว่า “อรห” คือ “ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม

: อรฺ + อิ = อริ + ณฺย > = อริย แปลว่า “ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) อารก = “ผู้ไกลจากกิเลส”, แปลง อารก เป็น อริย แปลเท่ากับคำว่า “อารก” คือ “ผู้ไกลจากกิเลส

(4) อรฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคม [เหมือน (2)] แปลว่า “ผู้อันชาวโลกพึงเข้าถึง

(5) อริย = “ผลอันประเสริฐ” + ปัจจัย, ลบ  

: อริย + = อริยณ > อริย แปลว่า “ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

สรุปว่า “อริย” แปลว่า –

(1) ผู้ฆ่าข้าศึกคือกิเลส

(2) ผู้บรรลุธรรมคือมรรคและผล

(3) ผู้ไกลจากกิเลส

(4) ผู้อันชาวโลกพึงเข้าไปใกล้

(5) ผู้ยังชาวโลกให้ได้รับผลอันประเสริฐ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ประมวลความหมายของ “อริย” ไว้ดังนี้ –

๑ ทางเชื้อชาติ: หมายถึง ชาติอารยัน (racial: Aryan)

๒ ทางสังคม: หมายถึง ผู้ดี, เด่น, อริยชาติ, สกุลสูง (social: noble, distinguished, of high birth)

๓ ทางจริยศาสตร์: หมายถึง ถูกต้อง, ดี, ดีเลิศ (ethical: right, good, ideal)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อริย-, อริยะ : (คำนาม) ในพระพุทธศาสนา เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมวิเศษ มีโสดาปัตติมรรคเป็นต้น ว่า พระอริยะ หรือ พระอริยบุคคล. (คำวิเศษณ์) เป็นของพระอริยะ, เป็นชาติอริยะ; เจริญ, เด่น, ประเสริฐ.”

บาลี “อริย” สันสกฤตเป็น “อารฺย” ในภาษาไทยใช้เป็น “อารย” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อารย-, อารยะ : (คำวิเศษณ์) เจริญ. (ส.; ป. อริย).”

(๒) “วินัย” 

บาลีเป็น “วินย” (วิ-นะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นี (ธาตุ = นำไป) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อี ที่ นี เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย (นี > เน > นย)

: วิ + นี = วินี > วิเน > วินย + = วินย แปลตามศัพท์ว่า “นำไปอย่างวิเศษ” มีความหมายดังนี้ –

(1) การขับออก, การเลิก, การทำลาย, การกำจัดออก (driving out, abolishing, destruction, removal)

(2) วินัย, จรรยา, ศีลธรรม, ความประพฤติที่ดี (norm of conduct, ethics, morality, good behavior)

(3) ประมวลจรรรยา, วินัยสงฆ์, กฎ, จรรยาบรรณหรือพระวินัย (code of ethics, monastic discipline, rule, rules of morality or of canon law)

ความหมายโดยสรุปตามที่เข้าใจกัน “วินยวินัย” ก็คือ กฎ, ระเบียบแบบแผน, ข้อบังคับ, ข้อปฏิบัติ

อริย + วินย = อริยวินย > อริยวินัย > อารยวินัย แปลว่า วินัยของอริยะ, วินัยของอารยชน 

ขยายความ :

อารยวินัย” หรือ “อริยวินัย” เป็นคำที่มีใช้ในคัมภีร์ หมายถึงพระสัทธรรมคำสอนทั้งมวลขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันจำแนกเป็นพระธรรมและพระวินัย กล่าวโดยความหมาย “อริยวินัย” ก็คือแบบแผนของพระอริยะ หรือระบบชีวิตหรือระบบการฝึกฝนอบรมของอารยชนนั่นเอง

หลักการสำคัญอย่างหนึ่งของ “อารยวินัย” ปรากฏในพระไตรปิฎกมีข้อความดังนี้ –

…………..

วุฑฺฒิ  เหสา  ภิกฺขเว  อริยสฺส  วินเย  โย  อจฺจยํ  อจฺจยโต  ทิสฺวา  ยถาธมฺมํ  ปฏิกโรติ  อายตึ  สํวรํ  อาปชฺชติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การที่บุคคลยอมรับความประพฤติผิดพลาดว่าเป็นความผิดพลาดจริง แล้วแก้ไขให้ถูกต้องตามธรรม ตั้งใจสำรวมระวังต่อไป นี่แลเป็นความเจริญในอารยวินัย

ที่มา: จัมเปยยขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรรค ภาค 2 

พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 174

…………..

ลักษณะเด่นของ “อารยวินัย” คือ 

(๑) ควบคุมตนด้วยตนเอง ความชั่วจะมีใครรู้เห็นหรือไม่รู้เห็น ก็ไม่ทำ ความดีจะมีใครรู้เห็นหรือไม่รู้เห็น ก็ทำ บุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนเสริม

(๒) ตัดสินตนด้วยตนเอง คือถูกผิด ดีชั่ว จริงเท็จ ตนรู้อยู่แก่ใจตน ไม่ต้องรอให้ใครฟ้องร้องกล่าวโทษหรือพิพากษา แต่สามารถพิพากษาตัวเองหรือลงโทษตัวเองโดยธรรมโดยวินัย

…………..

รู้ลักษณะของ “อารยวินัย” แล้ว ลองเทียบเคียงกับคำว่า “อารยธรรม” ที่เราใช้กันในภาษาไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อารยธรรม : (คำนาม) ความสงบสุขของสังคมที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งศีลธรรมและกฎหมาย; ความเจริญเนื่องด้วยองค์การของสังคม เช่น การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรม, ความเจริญด้วยขนบธรรมเนียมอันดี.”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: หน้าบาง ไม่เหมาะที่จะอยู่ในหมู่พาล

: หน้าด้าน ไม่เหมาะที่จะอยู่ในอารยวินัย

#บาลีวันละคำ (3,379)

12-9-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *