แฟนานุแฟน (บาลีวันละคำ 1,556)
แฟนานุแฟน
คำตลกเลียนบาลี
ในภาษาบาลีมีคำสมาส/สนธิแบบหนึ่ง ประกอบด้วยคำนามที่เหมือนกัน 2 คำ คำหลังเติมคำอุปสรรค “อนุ” (แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม) เข้าข้างหน้า เช่น –
(1) “ปทานุปท”
คำแรก “ปท” = เท้า
คำหลัง “อนุปท” = เท้าตาม
: ปท + อนุปท = ปทานุปท แปลว่า “เท้า (ข้างหนึ่ง) ตามหลังเท้า (อีกข้างหนึ่ง)” คือ ตามรอย, ตามไปข้างหลังอย่างกระชั้นชิด (foot after foot, i. e. in the footsteps, immediately behind)
(2) “วาทานุวาท”
คำแรก “วาท” = คำพูด
คำหลัง “อนุวาท” = คำพูดตาม
วาท + อนุวาท = วาทานุวาท แปลว่า “การกล่าวและการกล่าวตาม หรือการกล่าวเสริม” คือ “การกล่าวแต่เพียงเล็กน้อย” (talk and lesser or additional talk, i. e. “small talk”)
ในภาษาไทย เรานำลักษณะเช่นนี้มาใช้ และกำหนดว่า –
คำแรก มีความหมายว่า “น้อย” หรือ “เล็กน้อย”
คำหลัง มีความหมายว่า “มาก” หรือ “ใหญ่”
เช่น –
(1) กิจจานุกิจ = การงานน้อยใหญ่ หมายเอาการงานทั่วไป
(2) โทษานุโทษ = ความผิดมากและน้อย
(3) เถรานุเถระ = พระเถระผู้ใหญ่ผู้น้อย
(4) เวรานุเวร = เวรกรรมที่เคยทำไว้ทั้งมากทั้งน้อย
มีผู้นำเอารูปแบบของภาษาบาลีเช่นนี้มาใช้ แต่ใช้คำไทยๆ เป็นการเลียนแบบบาลีเพื่อให้เกิดความครึกครื้นหรืออารมณ์ขันทางภาษาอย่างหนึ่ง เช่น –
(1) ปากานุปาก (ปาก + อนุปาก) = ปากใหญ่ปากน้อย หมายถึงเรื่องที่มีผู้คนพูดวิจารณ์กันมาก
(2) ตีนานุตีน (ตีน + อนุตีน) = ตีนใหญ่ตีนน้อย, หลายๆ ตีน เช่นในข้อความว่า “ถ้ายังขืนปากเสียอยู่เรื่อยๆ คงจะโดนตีนานุตีนเข้าสักวัน”
(3) แฟนานุแฟน (แฟน + อนุแฟน) = คนที่รักใคร่ชอบพอกันทั้งหลายทั้งปวง
การใช้คำทำนองนี้อาจเรียกว่า “คำตลกเลียนบาลี” เป็นคำที่พูดเพื่อให้เกิดอารมณ์ขัน พูดแบบสนุกๆ เป็นคำคะนองชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาษาที่เป็นทางการ
…………..
: บางคำ เหมาะในบางหน
: บางคน เหมาะในบางแห่ง
7-9-59