นิคหะ – ปัคหะ (บาลีวันละคำ 3,380)
นิคหะ – ปัคหะ
การข่ม – การยก
อ่านว่า นิก-คะ-หะ ปัก-คะ-หะ
(๑) “นิคหะ”
บาลีเป็น “นิคฺคห” (นิก-คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก) + คหฺ (ธาตุ = ถือ, จับ, ยึด) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + คฺ + คหฺ)
: นิ + คฺ + คหฺ = นิคฺคหฺ + อ = นิคฺคห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การถือลง” หมายถึง การข่ม, การตำหนิ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิคฺคห” ดังนี้ –
(1) restraint, control, rebuke, censure, blame (การข่มใจ, การควบคุม, การตำหนิ, การติเตียน, การกล่าวโทษ)
(2) refutation (การปฏิเสธไม่ยอมรับ)
บาลี “นิคฺคห” สันสกฤตเป็น “นิคฺรห”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“นิคฺรห : (คำนาม) ‘นิเคราะห์,’ ความชัง, ความเกลียด; การหาเรื่อง; การจับกุม, การกักขังหรือจำขัง; การผูก; การห้ามปรามหรือปราบปราม; เขตต์; การวางยาบำบัดโรค; การฆ่า; นามพระกฤษณะ; aversion, dislike; blaming; capture, confinement; a tie, biding; restraint, subjugation or suppression; a boundary or limit; administering medicine; killing; a name of Krishna.”
ในภาษาไทยสะกดคำนี้เป็น “นิคห-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “นิคหะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิคห-, นิคหะ : (คำแบบ) (คำนาม) การข่ม, การกล่าวโทษ, การปราบปราม. (ป. นิคฺคห).”
(๒) “ปัคหะ”
บาลีเป็น “ปคฺคห” (ปัก-คะ-หะ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + คหฺ (ธาตุ = ถือ, จับ, ยึด) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ป + คฺ + คหฺ)
: ป + คฺ + คหฺ = ปคฺคห + อ = ปคฺคห (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การถือไว้ข้างหน้า” หมายถึง การยก, การยกย่อง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปคฺคห” ดังนี้ –
(1) exertion, energy (ความเพียร, ความพยายาม)
(2) favour, kindness, patronage (ความเอื้อเฟื้อ, ความกรุณา, การให้ความอุปถัมภ์)
บาลี “ปคฺคห” สันสกฤตเป็น “ปฺรคฺรห”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรคฺรห : (คำนาม) ‘ประเคราะห์,’ การจับ, การกุม; การจำขัง; พันทิ, พันที, การาคุปต์, ชเลย, ผู้ต้องกักขัง; สัตว์ซึ่งต้องขัง; บังเหียน, สายบังคับม้า; เชือกห้อยจานตราชู; ความอนุเคราะห์หรืออานุกูลย์, กรุณรส; แขน; รัศมี; อบเชยชนิดหนึ่ง; taking seizing; confinement or captivity; a prisoner, a captive, either name or beast in confinement; a rein, a rope or halter for horses; the string suspending a balance; favour, kindness; an arm; a ray of light; a sort of cassia.”
ในภาษาไทยสะกดคำนี้เป็น “ปัคหะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปัคหะ : (คำแบบ) (คำนาม) ประเคราะห์, การยกย่อง. (ป. ปคฺคห).”
หมายเหตุ: “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
อภิปราย :
“นิคหะ” = การข่ม และ “ปัคหะ” = การยก เป็น “คำแบบ” ตามที่พจนานุกรมฯ บอกไว้ คือเป็นคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป เราจึงไม่ค่อยได้ยินใครยกเอาคำคู่นี้มาพูด และเมื่อพูดขึ้นก็คงไม่มีใครเข้าใจกันสักกี่คน
“นิคหะ – ปัคหะ” ท่านถือกันมาแต่กาลก่อนว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของนักปกครอง กล่าวเป็นหลักสั้นๆ ว่า “ข่มคนควรข่ม ยกคนควรยก”
อาจจะมีปัญหาว่า “คนควรข่ม – คนควรยก” ดูอย่างไร ดูกันตรงไหน หรือเอาอะไรตัดสิน คำตอบคือ ต้องใช้หลักหรือต้องมีหลัก คือใช้หลักที่ตกลงกันไว้ เช่น ทางบ้านเมืองใช้หลักกฎหมาย ทางพระศาสนาใช้หลักพระธรรมวินัย เป็นต้น ทั้งนี้โดยไม่เอาความชอบความชังส่วนตัวเข้ามาตัดสิน กล่าวคือปลอดจากอคติ
แถม :
ในภาษาช่างจักสานมีคำว่า “ข่ม” และ “ยก” เป็นสูตรการสานภาชนะเช่นกระบุง กระด้งให้เป็นลายต่างๆ เช่น “ยกสองข่มสอง” หมายความว่าใช้ตอกเส้นขวางทับไปบนตอกเส้นตั้ง (คือ “ข่ม”) 2 เส้น และสอดใต้ตอกเส้นตั้ง (คือ “ยก”) 2 เส้น ดังนี้เป็นต้น คำว่า “ข่ม” และ “ยก” ดังกล่าวนี้ดูสอดคล้องกับคำว่า นิคฺคห = ข่ม ปคฺคห = ยก ชอบกลอยู่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ที่ใดคนชั่วกับคนดีได้รับการนับถือเท่าเทียมกัน
: ที่นั้นไม่ควรอยู่
#บาลีวันละคำ (3,380)
13-9-64