บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขยะสังคม


ขยะสังคม

………….

การช่วยกันชี้ข้อบกพร่องของสมาชิกในสังคมเพื่อนำไปสู่การแก้ไข คือการช่วยกันเก็บขยะ

การปล่อยปละละเลย โดยอ้างเหตุต่างๆ – โดยเฉพาะ “ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน…” คือการทิ้งขยะไว้ในสังคม

………….

คนมักแยกแยะไม่ออกว่า อย่างไรคือการจับผิด อย่างไรคือการชี้โทษ 

เมื่อมีการยกข้อบกพร่องหรือการกระทำผิดพลาดของใครสักคนขึ้นมาว่ากล่าวกัน ก็มักเหมารวมกันไปหมดว่าเป็นการจับผิด

เมื่อมีการยกข้อบกพร่องหรือการกระทำผิดพลาดของใครสักคนขึ้นมาว่ากล่าวกัน เรามักจะได้ยินเสียงท้วงติงด้วยถ้อยคำทำนองนี้ :

จะมามัวจ้องจับผิดกันอยู่ทำไม

คนไม่ดีมักจะคอยมองหาแต่ความไม่ดีของคนอื่น

พระพุทธศาสนาสอนไม่ให้กล่าวร้ายคนอื่น แต่ให้พิจารณาข้อบกพร่องของตนเอง

ทำหน้าที่ของตนดีกว่าตำหนิผู้อื่น

อย่ามัวแต่มองหาความผิดของคนอื่น

เวลานี้มีต่อท้ายอีกประโยคหนึ่งว่า

ทำให้เกิดความแตกแยก

————-

ผมขออนุญาตอัญเชิญพระพุทธพจน์และคำอธิบายของอรรถกถาเกี่ยวกับเรื่องจับผิด-ชี้โทษนี้มาเสนอไว้ในที่นี้สักบทหนึ่ง เพื่อให้พิจารณากันว่าเรามองเรื่องนี้ถูกมุมหรือยัง

ขอญาติมิตรทั้งปวงโปรดใช้ขันติธรรมในการอ่านสักหน่อยนะครับ เรื่องนี้จะมีคำบาลีแทรกอยู่ด้วย ถ้าไม่ถนัดอ่านคำบาลีก็ข้ามไปอ่านเฉพาะคำไทยได้เลย

พระพุทธพจน์ในพระธรรมบท

นิธีนํว  ปวตฺตารํ

ยํ  ปสฺเส  วชฺชทสฺสินํ

นิคฺคยฺหวาทึ  เมธาวึ

ตาทิสํ  ปณฺฑิตํ  ภเช

ตาทิสํ  ภชมานสฺส

เสยฺโย  โหติ  น  ปาปิโย.

พึงเห็นผู้มักชี้โทษเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ 

พึงคบหาท่านผู้กล่าวข่ม มีปัญญา เป็นบัณฑิตเช่นนั้นเถิด 

เมื่อคบบัณฑิตเช่นนั้น ย่อมมีแต่คุณอันประเสริฐ 

หามีโทษที่เลวทรามไม่

ที่มา: บัณฑิตวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๖

พระอรรถกถาจารย์นำพระพุทธพจน์นี้มาอธิบาย (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๔ หน้า ๓-๕ ราธเถรวัตถุ) โดยเล่าเรื่องพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อราธะ เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาเมื่ออายุมากแล้ว พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ 

พระสารีบุตรจะอบรมสั่งสอนดุด่าว่ากล่าวอะไร ท่านก็น้อมรับด้วยความเต็มใจ ไม่มีทิฐิมานะว่าตนมีวัยสูงกว่า 

ในที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นที่มาแห่งพุทธภาษิตบทนี้

พระอรรถกถาจารย์ยกคำบางคำในพุทธภาษิตข้างต้นมาอธิบายขยายความไว้

ขอยกเฉพาะที่กล่าวถึงการจับผิดกับการชี้โทษมาเสนอไว้ในที่นี้

————-

ผู้คอยตำหนิติติงคนอื่น ท่านเรียกเป็นศัพท์ว่า “วชฺชทสฺสี” (วชฺช + ทสฺสี)

วชฺช” แปลว่า โทษ เช่นในคำว่า วัชพืช คือพืชที่เป็นโทษ

ทสฺสี” แปลว่า ผู้แสดง คือผู้ชี้ให้ดู

วัชชทัสสีมี ๒ ประเภท

ประเภทหนึ่งเรียกว่า “รนฺธคเวสโก” (รนฺธ + คเวสโก

รนฺธ” แปลว่า โพรง, รอยแยก, รอยเปิด; รอยตำหนิ, ข้อบกพ่อง, จุดอ่อน (opening, cleft, open spot; flaw, defect, weak spot)

คเวสโก” แปลว่า “ผู้แสวงหา

รนฺธคเวสโก” จึงแปลว่า ผู้แสวงหาจุดอ่อน, ผู้คอยจ้องจับผิด

หมายความว่า ความผิดหรือความเสียหายนั้นยังไม่เกิด ยังไม่มี ยังไม่ปรากฏ และจะมีหรือเปล่าก็ไม่ทราบ จึงต้องไปเที่ยวแสวงหา 

คนอื่นเขาอยู่ของเขาดีๆ ไม่ได้ทำผิดคิดร้ายอะไร ก็ไปเที่ยวคอยจ้องมองหาข้อบกพร่องของเขา หรือไปเที่ยวขุดคุ้ยดูว่าเขาเคยทำผิดอะไรมาบ้าง ด้วยเจตนาจะใช้เป็นเหตุหาเรื่องทำให้เขาเสียหาย 

ถอดออกมาเป็นความคิดก็ว่า เอ็งพลาดเมื่อไร ข้าฟันไม่เลี้ยง

อย่างนี้คือ “จับผิด”

อีกประเภทหนึ่ง ท่านเรียกว่า “นิคฺคยฺหวาที” (นิก-ไค-หะ-วา-ที) แปลว่า “ผู้มีปกติกล่าวข่ม

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิคฺคยฺหวาที” ว่า one who speaks rebukingly, censuring, reproving, resenting (ผู้กล่าวตำหนิ, ติเตียน, ว่ากล่าว, ไม่เห็นด้วย, ไม่ชอบ) ออกจากคำกริยาว่า “นิคฺคณฺหาติ” ซึ่งแปลว่า รั้งไว้, ห้ามปราม, ดุ, ว่ากล่าว, ตำหนิ

นิคฺคยฺหวาที-กล่าวข่ม นี่แหละคือผู้ชี้โทษ

“ชี้โทษ” หมายถึงข้อบกพร่องหรือความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องแสวงหา เพราะมีผู้ทำให้ปรากฏขึ้นแล้ว แต่ผู้ทำไม่รู้ตระหนักว่าการกระทำนั้นเป็นโทษ เป็นความเสียหาย จึงต้อง “ชี้” ให้ดู

“ชี้โทษ” นั้นบัณฑิตย่อมทำโดยแยบคาย ถ้าไม่เห็นประโยชน์เป็นอย่างอื่นก็มักแอบเตือนกันเงียบๆ เพื่อไม่ให้เสียหน้า มุ่งให้เจ้าตัวรู้และแก้ไขเป็นที่ตั้ง 

แต่ “จับผิด” นั้นมีเจตนาจะให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง เพราะฉะนั้นจะไม่ทำเงียบๆ แต่จะต้องเปิดโปงให้คนทั่วไปรู้ด้วย

เหมือนเห็นคนลืมรูดซิป

“ชี้โทษ” คือหาทางเข้าไปกระซิบบอกไม่ให้เขาอับอายขายหน้า

“จับผิด” คือชี้ชวนกันให้ดูแล้วหัวเราะคิกคักหรือส่งเสียงเรียกบอกให้ใครๆ มารุมกันดู

ท่านประมวลลักษณะและความมุ่งหมายแห่งการชี้โทษไว้ดังนี้ –

๑ ต้องการยกคนที่ตนชี้โทษนั้นให้ก้าวขึ้นมาจากความเสื่อมเสียด้วยความปรารถนาดี แต่มิใช่ด้วยวิธีช่วยปกปิดความผิดหรือคอยออกรับแก้ตัวให้ (อุลฺลุมฺปนวเสน  สภาวสณฺฐิโต ผู้ดำรงอยู่แล้วตามสภาพ ด้วยสามารถแห่งการอุ้มชู)

๒ หาจุดอ่อนที่จะทำให้เสื่อมเสียเพื่อจะได้ช่วยป้องกันแก้ไข (ตํ  ตํ  วชฺชํ  โอโลกเนน ด้วยการแลดูโทษนั้นๆ)

๓ ต้องการให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้ (อญฺญาตญฺญาปนตฺถาย เพื่อต้องการจะให้รู้สิ่งที่ยังไม่รู้)

๔ อะไรที่รู้แล้วก็จะได้ปฏิบัติตามได้ถูกต้อง เช่นควรเว้นก็เว้นถูก ควรประพฤติก็ประพฤติถูก (ญาตํ  อนุคฺคณฺหนตฺถาย เพื่อต้องการจะได้ถือตามเอาสิ่งที่รู้แล้ว)

๕ เพื่อพัฒนาผู้นั้นให้เจริญด้วยคุณความดียิ่งๆ ขึ้น (สีลาทีนมสฺส  วุฑฺฒิกามตาย เพราะความเป็นผู้ปรารถนาความเจริญแห่งคุณมีศีลเป็นต้นแก่ผู้นั้น)

คนที่มีสติ เมื่อมีผู้ตักเตือนชี้โทษ ท่านว่าไม่ควรโกรธขุ่นเคืองขัดใจ (หน็อยแน่ มาว่าเราได้ !) แต่ควรจะดีใจที่มีผู้คอยชี้บอกข้อบกพร่อง แทนที่จะโกรธ ควรจะขอบคุณเขาด้วยซ้ำไป

ตัวอย่างคำพูดของผู้ถูกเตือนที่แสดงถึงการสำนึกถึงบุญคุณของผู้เตือน 

………..

การที่ท่านทักท้วงตักเตือนตำหนิข้าพเจ้านั้นแม้ท่านจะมิได้เป็นครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าโดยตรง แต่ท่านก็ได้ทำหน้าที่เสมือนเป็นครูบาอาจารย์ของข้าพเจ้าด้วย นับว่าเป็นพระคุณอย่างใหญ่หลวง วันข้างหน้าถ้าท่านเห็นข้าพเจ้าทำอะไรที่ไม่ถูกไม่ควรเช่นนี้อีก ขอได้โปรดทักท้วงตักเตือนข้าพเจ้าอีกด้วยเถิด

………..

ขอทำความเข้าใจถึงคำว่า “ผู้กล่าวข่ม” อีกเล็กน้อย

คำว่า “ข่ม” นั้น มิใช่หมายถึงการดูถูก การพูดกดให้เลว หรือการข่มเหงรังแก การข่มขู่เพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ หรือการกดไว้ใต้อำนาจเพื่อสำแดงความยิ่งใหญ่ของผู้ข่ม ตลอดจนคิดทำลายให้ย่อยยับ 

ไม่ใช่ข่มแบบนั้น

แต่หมายถึง-เมื่อเห็นใครกระทำการอันใดที่จะก่อให้เกิดโทษเกิดความเสียหาย หรือกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้อง ก็ทักท้วง ยับยั้งรั้งเหนี่ยวไว้ ปรามไว้ หรือควบคุมไว้มิให้กระทำเช่นนั้นอีกต่อไป พร้อมกันนั้นก็หาทางทำให้รู้สึกสำนึกผิด กลับตัวกลับใจมาดำเนินในทางที่ถูกที่ควร

พระอรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์หรือผู้ทำหน้าที่ปกครองอบรมสั่งสอน เห็นศิษย์หรือผู้อยู่ในปกครองทำผิดก็ไม่กล้า “ข่ม” ทั้งนี้เพราะตนได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากศิษย์ผู้นั้นอยู่เสมอ 

ท่านยกตัวอย่างการอุปถัมภ์ในสมัยโบราณ เช่น“ให้น้ำบ้วนปากเป็นต้นแก่เรา” 

ของจริงสมัยนี้ –

อาจอุปถัมภ์กันด้วยการช่วยออกทุนสร้างโบสถ์วิหารเป็นสิบล้านร้อยล้าน 

ส่งเสบียงส่งส่วยให้เป็นประจำ 

นิมนต์แต่ละทีถวายหนักๆ

ฯลฯ

ถ้าไป “ข่ม” ศิษย์หรือผู้อยู่ในปกครองประเภทนี้เข้า ตัวก็จะเสียผลประโยชน์ 

ความคิดของอาจารย์ผู้ปกครองสมัยโน้นกับสมัยนี้ไม่ค่อยต่างกันเท่าไรเลย

ท่านว่าอาจารย์หรือผู้ปกครองชนิดนี้ไม่ใช่ “นิคฺคยฺหวาที” – ผู้กล่าวข่ม ตามพระพุทธภาษิตนั้น 

หากแต่เป็น “ผู้เรี่ยรายหยากเยื่อลงในศาสนานี้”

คำเปรียบนี้ต้องรู้ระบบในพระศาสนาจึงจะมองเห็นภาพ

ระบบก็คือ ในพระศาสนาจะมีสมาชิก ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ บรรพชิต ๑ คฤหัสถ์ ๑ 

ถ้าแจกลูกออกไปก็คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา อย่างที่เราทราบๆ กัน

สมาชิกประเภทคฤหัสถ์นั้นเป็นพื้นฐานของสังคมอยู่แล้ว การเป็นสมาชิกไม่มีเงื่อนไขมาก เพียงใจศรัทธาเลื่อมใสก็เป็นได้ทันที

หรือส่วนมากเกิดมาก็เป็นได้เลย อย่างที่เราพูดล้อกันว่า “เป็นพุทธตามทะเบียนบ้าน”

ส่วนสมาชิกประเภทบรรพชิตก็มาจากสมาชิกประเภทคฤหัสถ์นั่นเอง แต่การเข้าเป็นสมาชิกมีเงื่อนไขมาก มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่สลับซับซ้อน ทั้งคุณสมบัติก่อนเข้าเป็นสมาชิก การปฏิบัติตนในระหว่างที่เป็นสมาชิกอยู่ ไปจนถึงเงื่อนไขการพ้นจากสมาชิกภาพ

สมาชิกประเภทบรรพชิตท่านนิยมแบ่ง “เกรด” เป็น ๓ ระดับตามระบบอาวุโส คือ –

นวกะ = สมาชิกใหม่ อายุการเป็นสมาชิกไม่เกิน ๕ ปี

มัชฌิมะ = สมาชิกระดับกลาง เป็นสมาชิกเกิน ๕ ปี แต่ยังไม่ถึง ๑๐ ปี

เถระ = สมาชิกชั้นผู้ใหญ่ เป็นสมาชิกเกิน ๑๐ ปีไปแล้ว

สมาชิกแต่ละระดับมีสิทธิและหน้าที่อะไรอย่างไรบ้าง มีกำหนดไว้โดยละเอียดในหลักพระธรรมวินัย

พระเถระ หรือสมาชิกชั้นผู้ใหญ่นั้นเมื่อมีคุณสมบัติอื่นอีกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในพระธรรมวินัยประกอบกับหลักเกณฑ์ที่สังคมสงฆ์กำหนด ก็จะมีสิทธิ์รับสมาชิกใหม่ต่อไปได้อีก

ก็คือที่เรารู้จักกันในนาม “พระอุปัชฌาย์” นั่นแล

พระภิกษุในกลุ่ม “เถระ” นั้น นอกจากทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์แล้ว ยังมีบางรูปทำหน้าที่เป็น “อาจารย์” ด้วย กล่าวคือพระคู่สวดในพิธีอุปสมบท เป็น “พระกรรมวาจาจารย์” รูปหนึ่ง เป็น “พระอนุสาวนาจารย์” รูปหนึ่ง โบราณถือกันว่ามีหน้าที่ช่วยเหลือพระอุปัชฌาย์ในการอบรมสั่งสอนพระนวกะที่ตนมีส่วนร่วมรับเข้าเป็นสมาชิก 

นอกจากนี้พระที่ทำหน้าที่สั่งสอนพระธรรมวินัยเรียกว่า “พระอุเทศาจารย์” ตลอดจนพระที่คอยอบรมแนะนำให้ความรู้ทั่วๆ ไป ก็เรียกรวมๆ กันว่า “พระอาจารย์”

ในภาษาไทยจึงมีคำที่นิยมพูดควบกันไปว่า “อุปัชฌาย์อาจารย์”

หน้าที่หลักของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ก็คือ แนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมสมาชิกใหม่ให้รู้หลักพระธรรมวินัย ให้รู้การอันควรเว้นและการอันควรประพฤติ 

เฉพาะเรื่องที่สำคัญมากระดับคอขาดบาดตาย ๘ เรื่อง ท่านนิยมแนะนำสั่งสอนกันในทันทีที่เสร็จพิธีรับเข้าเป็นสมาชิกนั่นเลย ที่รู้จักกันในคำว่า “บอกอนุศาสน์” ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่แนบอยู่กับพิธีอุปสมบท

เรื่องสำคัญ ๘ เรื่องที่อยู่ในคำบอกอนุศาสน์ ก็คือ เสพเมถุน ลักของเขา ฆ่ามนุษย์ อวดอุตริมนุสธรรม (ซึ่งก็คือปาราชิก ๔ นั่นเอง) 

๔ เรื่องนี้เรียกว่า “อกรณียกิจ” ห้ามทำเด็ดขาด 

ส่วนอีก ๔ เรื่อง คือ เที่ยวบิณฑบาต นุ่งห่มผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เรียกว่า “นิสัย” เป็นการบอกวิธีเปลี่ยนวิถีชีวิตจากคฤหัสถ์มาสู่วิถีแห่งบรรพชิตว่าต้องทำอย่างไรจึงจะดำรงชีพอยู่ได้ นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ทันที

เรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่จะต้องอบรมสั่งสอนกันเรื่อยไป

ตามเกณฑ์นั้น สมาชิกใหม่จะต้องอยู่ในความปกครองดูแล-ซึ่งหมายความว่าจะต้องได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์-ไม่น้อยกว่า ๕ ปี ทั้งภาคทฤษฎีหรือหลักวิชาการ และภาคปฏิบัติคือความประพฤติ การวางตน การปฏิบัติกิจทั้งปวงของบรรพชิต 

มีพระธรรมวินัยเป็นหลักสูตร 

มีการประพฤติปฏิบัติของพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นแบบฉบับ 

พ้นจาก ๕ ปีไปแล้วจึงจะสามารถไปอยู่ไกลหูไกลตาของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ได้ แต่ถึงกระนั้น การแนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมก็ยังจะต้องทำกันเรื่อยไปตามโอกาสและเหตุการณ์ มิใช่ว่าจะจบสิ้นลงไปด้วย

สมาชิกประเภทบรรพชิต หรือสมาชิกแห่งสังฆมณฑลย่อมมีคุณภาพ (หรือด้อยคุณภาพ) เป็น ๓ ลักษณะ คือ –

๑ ทำหมู่คณะให้งดงาม นำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใส จูงใจคนให้มุ่งหน้าไปในทางแห่งความดียิ่งๆ ขึ้น เรียกว่า “คณโสภกะผู้ยังหมู่คณะให้งาม

๒ ปฏิบัติกิจพอเป็นไปตามปกติ ไม่มีเรื่องเสื่อมเสีย แต่ก็ไม่มีสิ่งที่ดีเด่น พูดตามภาษาราชการที่นิยมเรียกกันก็ว่า “ความชั่วไม่มี ความดีไม่ปรากฏ” เรียกว่า “คณปูรกะผู้ทำให้ครบคณะ อยู่พอรักษาวัด หรือพอไม่ให้วัดร้าง

๓ เหยียบย่ำพระธรรมวินัย ทำหมู่คณะให้เสื่อมเสีย เรียกว่า “คณทูสกะผู้ประทุษร้ายหมู่คณะ

ทุกลักษณะ ท่านว่าย่อมมีการแนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมของพระอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นปากทางหรือเป็นต้นทาง 

พระอุปัชฌาย์อาจารย์แนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมดี ก็ส่งเสริมให้เป็นสมาชิกที่ดี 

หรือถ้าเห็นว่าเหลือขอ จะเอาไว้ไม่อยู่ พระอุปัชฌาย์อาจารย์หาทางสกัดกั้นไว้ได้ทันท่วงที ไม่เปิดโอกาสให้อยู่ทำชั่วได้ง่ายๆ ก็เท่ากับตัดทางแห่งความเสื่อมเสียลงเสียได้

แต่ถ้าไปเจอพระอุปัชฌาย์อาจารย์ชนิดที่ไม่กล้าแตะเพราะกลัวจะเสียประโยชน์ส่วนตัวดังที่ท่านแสดงไว้ การรับสมาชิกใหม่ประเภทนั้นเข้ามาก็จะมีผลเท่ากับ “เรี่ยรายหยากเยื่อลงในศาสนานี้” นั่นแล

พอจะมองเห็นภาพชัดขึ้นนะครับ

คำว่า “หยากเยื่อ” ท่านแปลมาจากคำว่า “กจวร” (กะ-จะ-วะ-ระ)

พจนานุกรมบาลีที่ฝรั่งทำ แปล “กจวร” ว่า sweepings, dust, rubbish (ของที่กวาดทิ้ง, ฝุ่น, ขยะ)

พระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นระบบที่ให้เกียรติกัน ให้สมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างสังคมของคนที่เจริญแล้ว คือเคารพกติกาที่ถูกต้องชอบธรรม มีระบบคัดกรองสมาชิก มีระบบฝึกหัดศึกษาเพื่อการพัฒนาขัดเกลา มีระบบส่งเสริมสมาชิกที่ดีและกำราบสมาชิกที่ร้าย 

ขอเพียงแต่ให้ยึดหลักพระธรรมวินัยไว้ให้มั่นคงเท่านั้น

สมาชิกระดับเถระที่ร่วมอยู่ในกระบวนการคัดสรรรับสมาชิกใหม่ ถ้าเอาใจใส่ในการแนะนำ สั่งสอน ฝึกหัด อบรมศิษยานุศิษย์ให้เป็นสมาชิกที่ดีตามหน้าที่ตามพระธรรมวินัย ก็เท่ากับนำเอาดอกไม้มาปลูกหรือมาโปรยปรายไว้ในพระศาสนา 

แต่ถ้าได้รู้เห็นความประพฤติปฏิบัติที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสีย แต่กลับเพิกเฉยเลยละ ก็เท่ากับนำเอาหยากเยื่อหรือขยะมาเทใส่ไว้ในพระศาสนา ดังที่อรรถกถาท่านว่าไว้ข้างต้นนั้นแล

ท่านแสดงลักษณะของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่ดีตามพุทธประสงค์ กล่าวคือ เมื่อเห็นสมาชิกที่อยู่ในการปกครองดูแลของตนกำลังประพฤติการอันควรเว้นหรือเว้นการอันควรประพฤติ ก็มิได้อยู่นิ่งเฉย หรือออกมาปกป้องแบบช่วยคนผิด หากแต่ –

ตชฺเชนฺโต = ทำให้กลัว, ขู่; ดุด่า, ว่ากล่าว (frighten, threaten; curse, rail against)

ปณาเมนฺโต = คัดออก, ขับออก, ไล่ออก (make go away, turn someone away, give leave, dismiss) หมายถึงทำให้หมดสิทธิ์บางอย่างที่สมาชิกปกติจะพึงได้รับ

ทณฺฑกมฺมํ  กโรนฺโต = ทำทัณฑกรรม (penance) คือลงโทษตามวิธีการของอารยชน เช่นให้ทำงานหนัก ให้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

วิหารา  นีหรนฺโต = ไล่ออกจากสำนัก (take out, throw out, drive out) ในกรณีที่เห็นว่าเหลือขอจริงๆ ศิษย์เหลือขอบางคนพอถูกไล่ออกแล้วเกิดสำนึกผิด กลับตัวเป็นคนดีได้ก็มี

การกระทำทั้งปวงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการ “สิกฺขาเปติ” คือให้สำเหนียกสำนึกในการที่จะศึกษาพัฒนาปรับปรุงแก้ไขตนเองให้ดีขึ้นเจริญขึ้น มิใช่เคียดแค้นชิงชังตั้งใจจะทำลายให้ย่อยยับ

เมื่อถูกขนาบเช่นนั้นแล้ว ใครอดทนได้ ตั้งใจพัฒนาตนเองไม่ท้อถอย ก็จะประสบความสำเร็จคือบรรลุมรรคผลหรือคุณธรรมชั้นใดชั้นหนึ่งอันเป็นจุดหมายที่ถูกต้องของผู้ที่เข้ามาอยู่ในพระศาสนานี้

————-

ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องของสังคมสงฆ์ 

แต่ถ้าลองคิดคำนึงถึงสังคมโลก ก็จะเห็นว่ามีลักษณาการไม่ต่างกัน

ทุกวันนี้ สังคมโลกผลิตสมาชิกของสังคมออกมาอยู่ตลอดเวลา แต่ระบบการอบรมสั่งสอนกล่อมเกลานิสัยใจคอให้แก่สมาชิกเพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่พึงปรารถนานั้น กล่าวได้ว่าไม่มี หรือหากจะมีบ้างก็แทบจะไม่เกิดผลอันใด

ใครประพฤติผิดประพฤติชั่ว ก็ไม่มีใครอยากจะเข้าไปแตะต้อง

แม้ไม่ถึงขั้นประพฤติผิดประพฤติชั่ว เป็นแต่เพียงเห็นใครทำไม่ถูกตามที่ควรจะเป็น ถ้าได้ปรับปรุงแก้ไขเสียหน่อยก็จะดีขึ้น งามขึ้น 

แต่ก็ไม่มีใครกล้าบอก

ข้ออ้างที่นิยมยกขึ้นมาพูดใส่หน้ากันก็คือ –

“ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน ไม่ต้องมาเสือก”

เห็นใครทำอะไรไม่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องตักเตือนทักท้วงกันเช่นนี้ ได้กลายเป็น “ค่านิยม” ไปโดยปริยาย

และเมื่อนานเข้า หนักเข้า ก็ส่งผลให้เกิดเป็นบุคลิกของผู้คนในสังคมที่มักจะคิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ผิด

แล้วพัฒนาต่อไป-กลายเป็นยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ชอบฟังความคิดเห็นของคนอื่น 

ถ้าอาการถึงขั้นรุนแรงที่สุดก็คือ-ไม่ยอมให้ใครแตะ

เกิดเป็นค่านิยม-อะไรๆ ของข้า ใครอย่าแตะ-ดังที่เราได้เห็นกันอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ทุกวงการ

เคยเฉลียวใจกันบ้างไหมว่า เรากำลังส่งเสริมให้สังคมเต็มไปด้วย “คนขยะ” โดยไม่รู้ตัว

————-

ในฐานะสมาชิกของสังคม-ชุมชน ทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคม คือไม่ทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร ที่ผิด ที่ชั่ว โดยเฉพาะการกระทำที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชน

ไม่มีสมาชิกคนไหนมีสิทธิ์ทำสิ่งที่ไม่ดี แล้วห้ามไม่ให้คนอื่นเข้ามายุ่ง

คำอ้างที่ว่า “ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน ไม่ต้องมาเสือก” นั้น ต้องถือว่าเป็นคำกล่าวที่วิปริตผิดธรรมอย่างยิ่ง

ถ้าคุณไปอยู่ป่าหิมพานต์ ทำอะไรก็ไม่มีชาวบ้านเขาอยากตามเข้าไปเสือก

แต่เพราะคุณยังอยู่ในสังคม ในชุมชน เมื่อทำไม่ดี ก็หนีไม่พ้นที่ผู้คนต้องมีสิทธิ์เข้ามาเสือกในฐานะเขาก็เป็นสมาชิกของชุมชนนั้นคนหนึ่งเหมือนคุณนั่นแหละ

เราขาดคนกล้าที่จะสวนกลับแบบนี้

เหมือนคนเอาขยะมาทิ้งเรี่ยราด แล้วไม่มีใครเก็บ

การสวนกลับเพื่อให้คนที่ทำไม่ดีเกิดสำนึก แล้วงดเว้นการกระทำที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง นั่นคือการช่วยกันเก็บขยะสังคมออกไป

เราไม่เคยสอน ไม่เคยเน้นท่าที่แบบนี้ให้กันและกัน

แต่กลับปล่อยให้คนไม่ดีทำไม่ดีได้ตามสบาย แล้วพากันยอมรับว่า “ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้าน อย่าเข้าไปเสือก”

ท่าทีแบบนี้ ไม่ใช่อะไรเลย

มันคือการช่วยกันทิ้งให้ขยะเรี่ยราดกลาดเกลื่อนอยู่ในสังคมต่อไปนั่นเอง

ลองถามตัวเองเถิดว่า ใครทิ้งขยะไว้ตรงนี้?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

๑๖:๐๗

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *