บาลีวันละคำ

เทวนิยม – อเทวนิยม (บาลีวันละคำ 2,712)

เทวนิยมอเทวนิยม

อ่านว่า เท-วะ-นิ-ยม, อะ-เท-วะ-นิ-ยม

คำหลักคือ เทว + นิยม

(๑) “เทว

บาลีอ่านว่า เท-วะ รากศัพท์มาจาก ทิวฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง, เล่น, สนุก, เพลิดเพลิน) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ทิ-(วฺ) เป็น เอ (ทิวฺ > เทว)

: ทิวฺ + = ทิว > เทว (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้รุ่งเรืองด้วยฤทธิ์ของตน” (2) “ผู้เพลิดเพลินด้วยเบญจกามคุณ

ความหมายของ “เทว” ที่มักเข้าใจกัน คือหมายถึง เทพเจ้า, เทวดา

แต่ความจริง “เทว” ในบาลียังมีความหมายอีกหลายอย่าง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เทว” ไว้ดังนี้ –

(1) good etc. (สิ่งที่ดี และอื่นๆ)

(2) a god, a deity, a divine being (เทวดา, เทพเจ้า, เทพ)

(3) the sky, rain-cloud, rainy sky, rain-god (ท้องฟ้า, เมฆฝน, ท้องฟ้ามีฝน, เทพแห่งฝน)

ในที่นี้ “เทว” ใช้ในความหมายตามข้อ (2)

ในภาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

“เทว- ๑ (คำแบบ คือคำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป) (คำนาม) เทวดา, มักใช้ประกอบหน้าศัพท์อื่น. (ป., ส.).”

(๒) “นิยม

บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ยมุ (ธาตุ = สงบ, ระงับ) + ปัจจัย

: นิ + ยมฺ = นิยมฺ + = นิยม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ข้อที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (คือ เหตุผลที่จะนำมาใช้เป็นข้อกำหนดมีหลายอย่าง หนึ่งในหลายอย่างนั้นคือกาลเวลา)

นิยม” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self-control)

(2) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (definiteness, certainty, limitation)

(3) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order)

ความหมายของ “นิยม” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

นิยม : (คำแบบ) (คำนาม) การกำหนด. (ป., ส.). (คำกริยา) ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ใช้ประกอบท้ายคำสมาสบางคำใช้เป็นชื่อลัทธิ เช่น ลัทธิชาตินิยม ลัทธิสังคมนิยม.”

เทว + นิยม = เทวนิยม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เทวนิยม : (คำนาม) ลัทธิที่เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่ ทรงมีอำนาจครอบครองโลกและสามารถดลบันดาลความเป็นไปในโลก. (อ. theism).”

ส่วน “อเทวนิยม” ก็เติม (นะ) (คำนิบาต = ไม่, ไม่ใช่) เข้าข้างหน้า แปลง เป็น (อะ) [ตามกฎ: คำที่ต่อท้าย ขึ้นต้นด้วยสระ แปลง เป็น อน (อะ-นะ) ขึ้นต้นพยัญชนะ แปลง เป็น ]

อเทวนิยม” มีความหมายตรงข้ามกับ “เทวนิยม” คือหมายถึง ลัทธิที่ไม่เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจยิ่งใหญ่ ทรงมีอำนาจครอบครองโลกและสามารถดลบันดาลความเป็นไปในโลก

เทวนิยม” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า theism

อเทวนิยม” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำอังกฤษว่า atheism

เทวนิยม” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

แต่ “อเทวนิยม” พจนานุกรมฯ ยังไม่ได้เก็บไว้

(น่าแปลก! ในเมื่อเป็นศัพท์บัญญัติทั้งคู่ และคงจะบัญญัติขึ้นพร้อมๆ กัน เก็บศัพท์หนึ่ง ทำจึงไม่เก็บอีกศัพท์หนึ่ง?)

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล theism เป็นบาลีว่า:

issaranimmānavāda อิสฺสรนิมฺมานวาท (อิด-สะ-ระ-นิม-มา-นะ-วา-ทะ) ลัทธิที่เชื่อว่าสรรพสิ่งมีผู้ยิ่งใหญ่สร้างสรรค์

โปรดสังเกตว่า คำว่า “วาท” (วาทะ) เรามักเข้าใจกันในความหมายว่า คำพูด แต่ในภาษาบาลี “วาท” มีความหมายมากกว่า “คำพูด” ทั่วๆ ไป

ในที่นี้ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วาท” เป็นอังกฤษว่า doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect (คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักการเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย)

อภิปรายขยายความ :

ท่านว่าศาสนาในโลกนี้มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มเทวนิยม และกลุ่มอเทวนิยม ความหมายเป็นดังที่แสดงไว้ข้างต้น

พระพุทธศาสนาของชาวเราอยู่ในกลุ่มอเทวนิยม

ถ้าแสดงท่าที่อย่างเป็นกลาง ไม่ปะทะกับใคร เราก็บอกว่า สรรพสิ่งจะมีผู้ยิ่งใหญ่สร้างสรรค์จริงหรือไม่ เราขอไม่เสียเวลาถกเถียงด้วย หลักของเราก็คือ อยากได้อะไรหรืออยากให้อะไรเป็นอย่างไร เราจะลงมือสร้างสรรค์ด้วยตัวเราเอง ไม่รอให้ผู้ยิ่งใหญ่มาช่วย ถ้าผู้ยิ่งใหญ่จะมีแก่ใจช่วย ก็ขอบคุณ แต่เราหวังว่าเราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

แต่ในกรณีที่ต้องการฟังความเห็นว่า เรามองกลุ่มเทวนิยมอย่างไร เราก็มีคำตอบ แต่ต้องฟังอย่างเปิดใจกว้าง ถ้ายังเปิดใจไม่ได้ เราก็ขอลาไปทำกิจของเราก่อน

มีข้อสังเกตว่า ศาสนากลุ่มเทวนิยมมักมีปัญหาที่จะต้องอธิบายให้ผู้อื่นเชื่อว่า สิ่งที่ตนเชื่อนั้นเป็นความจริง บางกรณีบางพวกถึงกับบังคับให้เขาเชื่อในสิ่งที่ตนเชื่อ กลายเป็นว่ามีภาระที่จะต้องไปยุ่งกับคนอื่นที่เชื่อไม่เหมือนตน

แต่พระพุทธศาสนาไม่มีปัญหาแบบนั้นเลย เพราะหน้าที่ของเรา-ไม่ใช่เสียเวลาอธิบายให้คนอื่นฟังสิ่งที่เราเชื่อ

แต่หน้าที่ของเราคือ ทำความเชื่อของเราให้ตรงกับความเป็นจริง (ยาภูตํ ปชานาติ)

และการที่จะเห็นอะไรให้ตรงกับความเป็นจริงนั้นเราต้องเห็นด้วยตัวของเราเอง (สนฺทิฏฺฐิโก, ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ) ให้ผู้อื่นเห็นแทนไม่ได้

เมื่อเห็นความจริงประจักษ์ถูกต้องแล้ว ต่อจากนั้นเราก็ไม่ต้องเชื่อใครอีกต่อไป ท่านว่า-ไม่ต้องเชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังได้

เราจึงไม่ต้องทะเลาะกับใครเลย นอกจากจัดการกับความเชื่อหรือความเห็นของตัวเองให้ถูกต้อง

และด้วยประการดังนี้ เราจึงเป็นอิสระจากอำนาจของผู้ยิ่งใหญ่ – อย่างแท้จริง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ความจริงอาจไม่ใช่สิ่งที่เราเชื่อ

: ความเชื่อก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริง

#บาลีวันละคำ (2,712)

15-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย