บาลีวันละคำ

กุส – กุศ (บาลีวันละคำ 2,713)

กุสกุศ

บาปที่เกิดจากการบวช

กุส” บาลี “กุศ” สันสกฤต เป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่ง ถามว่าคือหญ้าอะไร เชื่อว่าคนไทยส่วนมากจะไม่รู้ แต่ถ้าบอกว่า “หญ้าคา” คนรุ่นเก่าจะรู้จักทันที (คนรุ่นใหม่ชีวิตเริ่มห่างจากธรรมชาติ เท้าเหยียบดินน้อยลง เห็นหญ้าคาก็คงไม่รู้จัก)

นักเรียนบาลีในเมืองไทย แปล “กุส” ว่า “หญ้าคา” แต่นักเรียนบาลีในประเทศอื่นๆ แปลว่าหญ้าอะไร และที่แปล “กุส” ว่า “หญ้าคา” นั้นใช่หรือ เป็นประเด็นที่ควรช่วยกันศึกษา

กุส” อ่านว่า กุ-สะ รากศัพท์มาจาก –

(1) กุสฺ (ธาตุ = บาด, ตัด) + (อะ) ปัจจัย

: กุสฺ + = กุส แปลตามศัพท์ว่า “หญ้าที่บาด

(2) กวฺ (ธาตุ = ส่งเสียง) + (สะ) ปัจจัย, แปลง กวฺ เป็น กุ

: กวฺ + = กวส > กุส แปลตามศัพท์ว่า “หญ้าที่มีเสียงเพราะลมพัด

(3) กุ (ศัสตรา, ของมีคม) + สิ (ธาตุ = ตัด) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อิ ที่ สิ (สิ > ) (ที่เรียกว่า “สระหน้า” เพราะ อิ อยู่หน้า อะ)

: กุ + สิ = กุสิ > กุส + = กุส แปลตามศัพท์ว่า “หญ้าที่บาดมือของคนจับเหมือนศัสตรา

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “กุส” (ปุงลิงค์) ว่า หญ้าคา, หญ้าคมบาง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กุส” ว่า –

(1) the kusa grass [Poa cynosuroides] (หญ้ากุสะ [หญ้าคา])

(2) a blade of grass used as a mark or a lot (ใบหญ้าที่ใช้เป็นเครื่องหมายหรือสลาก)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “กุศ” แปลไว้หลายอย่างที่ไม่เกี่ยวกับหญ้า ที่เกี่ยวกับหญ้าแปลไว้คำเดียวว่า “หญ้ายัญ” ใช้คำอังกฤษว่า a sacrificial grass ซึ่งไม่ใช่คำระบุชนิดพันธุ์ของหญ้า

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

คา ๓ : (คำนาม) ชื่อหญ้าชนิด Imperata cylindrica (L.) P. Beauv. ในวงศ์ Gramineae ใบคาย แข็ง เอามากรองเป็นตับมุงหลังคา เหง้าใช้ทำยาได้.”

ดูตามที่อ้างมา ดูเหมือนจะไม่มีข้อบ่งบอกชี้ชัดว่า “กุส” หมายถึง หญ้าคา

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์บาลีมีคำว่า “กุสจีร” (กุ-สะ-จี-ระ) โบราณท่านแปลกันมาว่า “ผ้าคากรอง” คงจะพอยืนยันไปพลางๆ ได้ว่า “กุส” คือ หญ้าคา

…………..

พระไตรปิฎกแห่งหนึ่งมีภาษิตที่ท่านยกเอาหญ้า “กุส” มาเป็นเครื่องอุปมากับ “ความเป็นสมณะ” ที่บุคคลปฏิบัติไม่ดีจะเกิดโทษอย่างไร

กุส” ในที่นั้นท่านก็แปลกันมาว่า “หญ้าคา

ความในภาษิตเป็นดังนี้ –

…………..

กุโส  ยถา  ทุคฺคหิโต

หตฺถเมวานุกนฺตติ

สามญฺญํ  ทุปฺปรามฏฺฐํ

นิรยายูปกฑฺฒติ.

(กุโส  ยะถา  ทุคคะหิโต

หัตถะเมวานุกันตะติ

สามัญญัง  ทุปปะรามัฏฐัง

นิระยายูปะกัฑฒะติ)

หญ้าคาที่จับไม่ดี

ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด

ความเป็นสมณะที่ปฏิบัติไม่ดี

ย่อมฉุดผู้ปฏิบัติไปลงนรกได้ ฉันนั้น

ที่มา: ตายนสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 239

…………..

ดูก่อนภราดา!

วิถีชีวิตสงฆ —

: มีโอกาสไปสวรรค์มากเท่าใด

: ก็มีโอกาสไปนรกมากเท่านั้น

#บาลีวันละคำ (2,713)

16-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย